วัคซีนเป็นเรื่อง ‘วิทยาศาสตร์’ หลายท่านที่ฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ของคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แล้วเห็นว่าไม่ควรนำเรื่องวัคซีนโควิด-19 มาเป็นประเด็นทาง ‘การเมือง’ (แต่ขอประท้วงครับท่านประธาน! ก็ไม่วายถูก ส.ส.อีกฝ่ายกระทบกระเทียบว่า เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าวัคซีนผลิตโดยอีกบริษัทหนึ่ง)
หรือเห็นว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควรเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะนำเข้าวัคซีนชนิดใด และยังควรให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าการกล่าวหากันทางการเมือง แต่สุดท้ายแล้วประชาชนไทยจะได้ฉีดวัคซีนอะไรและเมื่อไร ฝ่ายรัฐบาลคงปัดความรับผิดชอบไม่พ้น เพราะเป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข และจัดสรรงบประมาณของประเทศ
ประเด็นของฝ่ายค้าน
‘ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน’ เป็นประเด็นแรกที่คุณวิโรจน์หยิบยกขึ้นมาอภิปรายว่า การฉีดวัคซีนให้เร็วจะทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วตามไปด้วย โดยอ้างถึงเอกสารของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อสิงหาคม 2563 ว่า “การมีวัคซีนเร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประมาณ 2.5 แสนล้านบาท”
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีนกันไปแล้ว รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ ‘รัฐบาลหวานเย็น’ มีความตื่นตัวในการจัดหาวัคซีนอื่นมาฉีดเร็วขึ้น จากกำหนดเดิมคือกลางปี 2564 ซึ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca (AZN) ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มาเป็นกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่ทัน
‘การแทงม้าตัวเดียว’ เป็นอีกประเด็นที่ฝ่ายค้านให้ความสำคัญ เพราะรัฐบาลกระจุกความเสี่ยงไว้กับวัคซีนบริษัทเดียว ซึ่งถ้าหากไม่มีประสิทธิภาพต่อไวรัสกลายพันธุ์ หรือได้รับวัคซีนล่าช้าก็จะไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ต่างก็จองวัคซีนมากกว่า 1 ชนิด และเข้าร่วมโครงการ COVAX ทั้งสิ้น
ส่วนประเด็นที่สามคือ ‘การเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน’ ในประเทศไทยในการผลิตวัคซีน AZN เรื่องนี้ผมขอไม่ลงรายละเอียด เพราะในสภาประท้วงกันวุ่นวาย จับใจความไม่ได้เลย (ฮา) แต่คุณวิโรจน์ได้ลำดับไทม์ไลน์ของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในการผลิตวัคซีนให้กับ AZN และเชื่อมโยงกับการอนุมัติงบประมาณและการลงนามสัญญาของรัฐบาล
สามารถชมคลิปสรุปการอภิปรายของคุณวิโรจน์ได้ที่
คำตอบของรัฐบาล
ถ้าไม่นับการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ก็ดูเหมือนว่าคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมั่นใจในการทำหน้าที่ของตัวเองและสิ่งที่ สธ.กำลังดำเนินการอยู่ ยิ่งเมื่อบรรดาแพทย์ระดับปลัดกระทรวง อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติตั้งโต๊ะแถลงสื่อมวลชนต่อจากการอธิปรายเลย ก็ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจนี้
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงหลังจากการอธิปรายของคุณวิโรจน์ ด้วยการยกผลสำรวจ ‘ความต้องการฉีดวัคซีน’ ของประชาชนไทยขึ้นมาตอบว่า ส่วนใหญ่ 80% พร้อมฉีดวัคซีน ที่เหลือไม่พร้อมและยังลังเลอยู่อีกอย่างละครึ่ง ส่วนเรื่องวัคซีนที่ไม่ได้จัดสรรให้ทั้งหมด ท่านกล่าวว่าต้องพึ่งพาหลายอย่างไปพร้อมกัน โดยยืนยันถึงประสิทธิภาพของ ‘หน้ากากอนามัย’ ว่าสามารถป้องกันได้มากกว่า 90% เพราะฉะนั้นทุกคนต้องใส่ให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ ท่านยังขอให้ทุกคนร่วมยินดีกับท่านด้วย เพราะ ‘วัคซีนที่วิจัยในไทย’ กำลังจะเริ่มทดลองในมนุษย์ในระยะที่ 1 ขณะเดียวกัน องค์การเภสัชกรรมกำลังทดลองวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน จึงมีความปลอดภัยสูง โดยน่าจะจดทะเบียนได้ภายใน 1 ปีข้างหน้า (อ่านแล้ว คุณวิโรจน์น่าจะถามไม่ตรงคำตอบมากกว่าใช่ไหมครับ)
หลังจากนั้นคุณอนุทินได้ลุกขึ้นชี้แจงต่อ โดยเริ่มต้นด้วยการตอบโต้ว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านเป็น ‘โกหกคำโต’ แทนที่จะให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมยืนยันว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนล็อตแรก 2 แสนโดส และอีก 8 แสน และ 1 ล้านโดสภายในเดือนมีนาคมและเมษายนตามลำดับ (เท่ากับว่าย้อนกลับไปแผนวัคซีนเมื่อตอนต้นปี 2564 โดยเป็นวัคซีน Sinovac ทั้งหมดในช่วงแรก)
คุณอนุทินอธิบายเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไม่ได้มี ‘ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน’ แต่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณสถาบันวัคซีนแห่งชาติถึง 3 พันล้านบาท ไม่ว่าจะร่วมวิจัยพัฒนา (ในประเทศ เช่น บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม และกับต่างประเทศ เช่น บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์) หรือจัดซื้อถ้ามีความจำเป็น (เช่น วัคซีน AZN ที่ผลิตในยุโรป แต่ถูกสหภาพยุโรประงับการส่งออก แผนวัคซีนเข็มแรกในวันวาเลนไทน์จึงถูกเลื่อนออกไป)
ส่วนกรณี ‘การร่วมผลิตวัคซีน AZN’ คุณอนุทินกล่าวว่าได้รับการประสานจาก ‘เอสซีจีกรุ๊ป’ มายัง สธ. ว่ามีเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่น่าจะเหมาะสมกับไทย และคาดว่าจะสามารถกระจายวัคซีนให้กับอาเซียนด้วย โดย AZN ได้ไปสำรวจบริษัทผลิตยาหลายแห่ง แต่เลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตชีววัตถุที่มีความคงที่ ต่อมาจึงเริ่มมีการเจรจาจำหน่ายวัคซีนให้ไทยในราคาที่ No Profit No Loss
อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงของคุณอนุทินตอนหนึ่งที่ว่า “ประเทศไทยในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะฉะนั้นการที่วัคซีนจะมาในเดือนมิถุนายนไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องตกใจ” สะท้อนความมั่นใจมากเกินไปว่าจะไม่มีการระบาดระลอกใหม่ จนทำให้กว่าจะกลับลำจองวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้เร็วกว่ากำหนดเดิมไม่ทันแล้ว
คำชี้แจงของแพทย์ สธ.
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ วันเดียวกันที่รัฐสภา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ตั้งโต๊ะแถลงสื่อมวลชน ตอบโต้กรณีที่รัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ (สังเกตว่าคุณศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ที่ยกมือประท้วงคุณวิโรจน์หลายครั้งนั่งแถลงด้วย)
ผมขอเรียบเรียงตามประเด็นของฝ่ายค้านที่ผมสรุปไว้ 3 ข้อ คือ
1. ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน กรณีนี้ นพ.นคร ชี้แจงว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนฯ ติดตามและวางแผนการจัดหาวัคซีนมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แล้ว ซึ่งดำเนินการผ่าน 3 ช่องทาง (ตามที่คุณอนุทินได้ชี้แจงในสภา แต่ไม่ได้อธิบายว่าทำไมตอนแรกแผนถึงต้องรอวัคซีนจนถึงกลางปี 2564)
ส่วนเรื่องบริษัทวัคซีนของอินเดียเสนอขายวัคซีนให้ไทย แล้วไทยปฏิเสธ นพ.นครชี้แจงว่า “เป็นข่าวเท็จ” โดยความจริงคือสถาบันวัคซีนแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยวัคซีนกับอีกบริษัทหนึ่ง (แต่เหมือนจะพูดถึงกันคนละเรื่อง เพราะคุณวิโรจน์อ้างถึงโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทวีตชี้แจงว่า กต.ไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอวัคซีนจากสถานทูตอินเดีย แต่ได้ส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นหน่วยงานใด)
2. การแทงม้าตัวเดียว ไม่มีการอธิบายประเด็นนี้ว่าทำไม แต่ นพ.นคร ได้พูดถึงการร่วมโครงการ COVAX ว่าเงิน Up-front Payment ที่ต้องจ่ายเป็นค่าบริหารจัดการ ส่วนราคาวัคซีนจะถูกกำหนดภายหลังจากทราบว่าเป็นวัคซีนของบริษัทอะไร และบริษัทที่ผลิตวัคซีนส่งให้ COVAX ก็คือ AZN ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อซ้ำซ้อนกับวัคซีนที่จะผลิตได้ภายในประเทศ
ความจริงเรื่องการแทงม้าตัวเดียว คุณอนุทินได้ตอบอ้อมๆ ในสภาแล้วว่า “เมื่อมีของ (วัคซีน AZN) ที่เพียงพอแล้ว ท่านอยากให้มีวัคซีน 20 ยี่ห้อในประเทศไทยเหรอครับ แล้วต้องมานั่งดูว่าใครแพ้อย่างไร ใครมีผลข้างเคียงอย่างไร บุคลากรทางสาธารณสุขควรจะไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้” นั่นก็คือมีความกังวลถึงเรื่องการบริหารจัดการหลังได้รับวัคซีนมาแล้วว่าจะเกิดความยุ่งยากตามมา
3. การเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน นพ.นครได้แย้งว่า AZN เป็นฝ่ายเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เอง โดยยกจดหมายของ AZN ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งกล่าวว่ากระบวนการประเมินความพร้อมได้เริ่มต้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 และมีความเชื่อมั่นในบริษัทเอกชนรายนี้ว่าจะสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตั้งแต่ก่อนจะบรรลุข้อตกลงกับสถาบันวัคซีนฯ และ สธ.
ดังนั้น จึงไม่มีเงื่อนไขว่าไทยจะต้องจองวัคซีนก่อน หรือกำหนดจำนวนในการจองวัคซีนก่อนถึงจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ และที่สำคัญคือ AZN ได้คัดเลือกโรงงานเพียง 25 แห่งสำหรับผลิตวัคซีนโควิด-19 จากทั้งหมด 60 แห่งทั่วโลก และทุกบริษัทได้ผ่านมาตรฐาน CGMP (Current Good Manufacturing Practice) และระบบคุณภาพที่เหมาะสม ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจในวัคซีนที่ผลิตในประเทศได้
ประเด็นทิ้งท้าย
วัคซีนเป็นเรื่อง ‘วิทยาศาสตร์’ ก่อนจะนำมาฉีดให้กับคนจำนวนมากได้ผ่านการวิจัยมาหลายขั้นตอนในห้องทดลอง ในสัตว์ทดลอง และในคนจำนวนหนึ่งมาแล้ว การขึ้นทะเบียนต้องผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดหาวัคซีนเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ เพราะเป็นการจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้เหมาะสมว่าใครควรได้ ได้วัคซีนอะไร และเมื่อไร
ตอนนี้เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในปี 2564 ของ สธ. อยู่ที่ 63 ล้านโดส หรือ 50% ของประชากร หลายคนก็จะมีคำถามตามมาว่าเป็นเพราะงบประมาณไม่เพียงพอหรือไม่ หรือถ้าได้รับวัคซีนมาแล้วก็อาจมีคนสงสัยว่าทำไมจังหวัดนี้ได้ก่อน ทำไมจังหวัดนี้ถึงยังได้อยู่ทั้งๆ ที่ควบคุมการระบาดได้แล้ว หรือแม้แต่การตัดสินใจเรื่อง COVAX ก็ไม่ได้อยู่บนหลักทางการแพทย์อย่างเดียว
แต่การตอบโต้กันทางการเมืองจะต้องระมัดระวังว่าข้อกล่าวหานั้นกำลังลดความน่าเชื่อถือของ ‘วัคซีน’ ไปด้วยหรือเปล่า เช่น การแพ้วัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก (ส่วนผลข้างเคียง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีดหรือไข้อาจเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว) คุณภาพของวัคซีนที่ผลิตในประเทศ เพราะประเด็นเหล่านี้อาจส่งผลต่อความลังเลในการเข้ารับวัคซีนของประชาชนได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล