×

Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ ‘ป้อม’ ที่ตีแตกยากที่สุด คือป้อมแห่งอคติที่ไม่ต้องการทำความเข้าใจ

11.09.2020
  • LOADING...

“นี่ไง เกมมันทำให้โอมก้าวร้าว”

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกม ถือเป็นหนึ่งในสื่อที่กลายเป็น ‘แพะรับบาป’ เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ทั้งการถูกกล่าวหาว่าเป็นสื่อที่ชี้นำพฤติกรรมที่ก้าวร้าวให้กลุ่มวัยรุ่น, ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ, สร้างความหมกมุ่น เสียเวลา เพราะไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงๆ และข้อกล่าวหาต่างๆ นานาที่พบเจออยู่บ่อยๆ 

 

แต่ในอีกฝากหนึ่ง เราก็มักจะได้ยินข่าวคราวของทีมพัฒนาเกมชาวไทยมากฝีมือที่ผลิตผลงานจนโด่งดังในระดับโลก และเหล่านักกีฬาอีสปอร์ตทีมชาติไทยก็ออกเดินทางไปกวาดแชมป์สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของเราไม่ขาดสาย รวมถึงเหล่าสตรีมเมอร์และยูทูเบอร์ที่ผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับเกมก็สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

 

ทั้งสองแนวคิดเหมือนยืนอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำ ที่ Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับไอเดียสุดล้ำอย่าง เสือ-ยรรยง คุรุอังกูร (2538 อัลเทอร์มาจีบ, App War แอปชนแอป) กำลังทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้คนทั้งสองฝั่งได้ร่วม ‘ทำความเข้าใจ’ สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการ ‘เกม’ ให้มากยิ่งขึ้น 

 

Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ ว่าด้วยเรื่องราวของ โอม (ตน-ต้นหน ตันติเวชกุล) นักกีฬาอีสปอร์ตฝีมือฉกาจจากทีมอันดับหนึ่งอย่าง Higher แต่มีอุปสรรคใหญ่ขวางกั้นอยู่ เพราะ เบญจมาศ (อ้อม-พิยดา จุฑารัตนกุล) แม่ของเขาไม่เห็นด้วยกับเส้นทางนี้อย่างเด็ดขาด

 

แต่แทนที่จะดุด่าว่ากล่าวหรือใช้กำลังบังคับให้โอมกลับมาสู่เส้นทางที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสม เบญจมาศตัดสินใจชวน กอบศักดิ์ (เติร์ด-ลภัส งามเชวง) เด็กหลังห้องสุดห้าวผู้เป็นอดีตสมาชิกทีม Higher มาร่วมตั้งทีมอีสปอร์ตเพื่อเข้าแข่งขันเกม RoV (Arena of Valor) เพื่อเอาชนะโอมลูกชายของตัวเองให้จงได้

 

 

สิ่งแรกที่ทำได้ดีคือการนำเสนอโลกของเกม RoV และวงการอีสปอร์ตด้วยการผสมผสานงานวิชวลเอฟเฟกต์และศิลปะการทำเรื่อง ทำให้ทั้งคนเล่นเกมและคนที่ชอบดูภาพยนตร์สามารถสนุกไปกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ทั้งหมด

 

เริ่มตั้งแต่การอธิบายองค์ประกอบและกฎเกณฑ์ของเกม RoV ผ่านการเล่าเรื่องที่กระชับฉับไว เสริมด้วยงานวิชวลที่อาจจะยังไม่สวยงามสมบูรณ์แบบมาก แต่ก็เข้ามาเสริมให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในมุมของคนที่เคยเล่นเกม RoV มาก่อน เราคิดว่าตัวภาพยนตร์สามารถอธิบายองค์ประกอบของเกม RoV ออกมาได้อย่างเข้าใจง่ายพอสมควร 

 

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เราชื่นชอบเป็นการส่วนตัว คือการเลือกใช้ดนตรีประกอบและซาวด์เอฟเฟกต์ที่ถูกออกแบบมาให้คล้ายคลึงกับดนตรีประกอบจากเกมยุค 8 บิตและ 16 บิต รวมถึงการเลือกฟอนต์ตัวหนังสือแบบเดียวกับเกมในยุคเดียวกัน ซึ่งทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่เอาใจแฟนเกม RoV เพียงอย่างเดียว แต่มันยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายที่ทำให้เราคิดถึงเกมคลาสสิกอีกด้วย

 

รวมถึงฉากแอ็กชันระหว่างตัวละครอย่าง กอบศักดิ์และโอม ก็ถูกออกแบบมาได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงศึกสุดท้ายของแม่และลูก ก็ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของเรื่องที่สองนักแสดงอย่างตนและอ้อมถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

 

 

เรื่องที่ทำได้ดีอีกอย่างคือการพาคนดูลงไปสำรวจเบื้องลึกในจิตใจของ ‘เกมเมอร์’ คาแรกเตอร์จัด โอม เป็นตัวแทนนักกีฬาอีสปอร์ตที่ต้องเจอความกดดัน กอบศักดิ์ คือตัวแทนของเหล่าเกมเมอร์ที่ถูกผู้ใหญ่ตีตราว่าเป็นเด็กเหลือขอ

 

คุณแม่จอมจู้จี้อย่างเบญจมาศคือตัวสำคัญที่สุดของเรื่อง เพราะเบญจมาศคือตัวแทนของกลุ่มคนที่มองว่าการเล่นเกมกำลังสร้างพฤติกรรมก้าวร้าวให้กับเด็กๆ และมองว่านักกีฬาอีสปอร์ตไม่สามารถเป็นอาชีพได้จริงๆ และกลายเป็นตัวละครที่พาผู้ชมไปร่วม ‘ทำความเข้าใจ’ ตัวตนและความคิดของ โอม, กอบศักดิ์ และเด็กๆ ทุกคนที่กำลังมุ่งมั่นในเส้นทางนี้ไปพร้อมๆ กัน

 

ในขณะที่ 3 ตัวละครรองจากทีมตัวแม่เองก็ถือเป็นตัวละครที่เข้ามาเติมเต็มความสนุกสนานของเรื่องได้อย่างลงตัว ทั้ง มะปราง (วี-วีรยา จาง) เกมเมอร์สาวเปี่ยมเสน่ห์ที่เข้ามาเสริมความน่ารักโรแมนติกให้กับเรื่อง รวมถึง แม็ก (เตชินท์-ณัฐชนน มณีน้อย) เด็กหัวร้อนที่มีสกิลปากอันจัดจ้าน และ แบงค์ (นนท์-ศุภวัจน์ ชวนรุ่งโรจน์) เรียกว่าทีมงานทำการบ้านดึงลักษณะเด่นของเกมเมอร์ประเภทต่างๆ มาเรียกเสียงหัวเราะได้เป็นอย่างดี

 

รวมทั้งทีม ‘มืออาชีพ’ ในวงการ RoV ตัวจริง ทั้งโปรเพลย์เยอร์ สตรีมเมอร์ที่เป็นไอดอลของหลายคน ทั้ง แนน Frozenkiss, กิต งาย, ไม้ 007x, ลีโอ Romeo และ หมอทอม ENICTUZ ทีม 3 นักพากย์อย่าง Winzy, HeaGow และ SunWaltz ที่มาเสริมอารมณ์ผู้ชมให้เหมือนนั่งดูการแข่งขันโปรลีกจริงๆ 

 

จนกลายอีกกลุ่มตัวละครสำคัญช่วยสร้างสีสันที่ขาดไม่ได้ และช่วยแสดงให้เห็นว่าวงการเกม วงการอีสปอร์ต และวงการภาพยนตร์ที่ดูเหมือนห่างไกล ได้ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้นแล้ว

 

แต่ภายใต้องค์ประกอบที่ถูกสร้างสรรค์มาเป็นอย่างดีและเหล่าตัวละครที่โดดเด่น  Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้างในการพยายามบิลด์อารมณ์ผู้ชมด้วยการสโลว์ภาพนานๆ และใส่ดนตรีประกอบเข้ามามากเกินไป จนทำให้เราหลุดโฟกัสจากตัวเนื้อเรื่องไปพอสมควร รวมถึงวิธีการคลายปมของเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างเรียบง่าย เดาทางได้ไม่ยาก จนทำให้เราไม่รู้สึกอยากเอาใจช่วยตัวละครในเรื่องเท่าที่ควรจะเป็น 

 

 

ในภาพรวม Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ คือภาพยนตร์ไทยอีกหนึ่งเรื่องที่ควรได้ดูในโรงภาพยนตร์ จากองค์ประกอบที่พูดมาทั้งหมด รวมถึงเรื่องเนื้อหาที่ทำให้ Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ ไม่ได้เป็นแค่ภาพยนตร์ที่เหมาะกับแฟนเกม RoV 

 

แต่เป็นสะพานเชื่อมที่เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนที่ยังมองว่า เกม เป็นเพียงสื่อบันเทิงที่ไร้สาระและสร้างพฤติกรรมความรุนแรงให้กับวัยรุ่น ได้ลองเดินข้ามมาสัมผัสกับอีกด้านหนึ่งของวงการเกมที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ลอง ‘ทำความเข้าใจ’ เพื่อเปิดรับ ‘มุมมองใหม่ๆ’ ของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน

 

เพราะวิธีที่จะช่วยให้คนรุ่นก่อนเข้าใจคนรุ่นใหม่ได้มากที่สุด คือการลองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะตราบใดที่ผู้ใหญ่ยังคงปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และตัดสินทุกสิ่งอย่างบนโลกโดยยึดมั่นในความเชื่อของตัวเอง ผลกระทบที่ตามมาย่อมตกสู่เหล่าคนรุ่นใหม่ที่ถูกขนบความคิดแบบเก่ากดทับไม่ให้พวกเขาได้เฉิดฉายในเส้นทางที่พวกเขาเลือกเดิน

 

อย่างน้อยที่สุด อาจมีผู้ใหญ่บางคนขอเข้าไป ‘ตีป้อม’ ร่วมกับเด็กๆ และเมื่อไรที่ป้อมปราการแห่งอคติและช่องว่างระหว่างวัยถูกทำลาย เราจะสามารถพูดคุยและทำความเข้าใจกันได้จริงๆ ว่า ‘เกม’ ไม่ได้ทำให้คนก้าวร้าว และเราสามารถทุ่มเทให้กับมันได้จริงๆ 

 

สามารถรับชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ผ่านทาง

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising