×

กรณี ‘หมอแสง ปราจีนบุรี’ ความเหลื่อมล้ำจากปากคำผู้ป่วยมะเร็ง

06.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ความเหลื่อมล้ำในโรงพยาบาลเริ่มตั้งแต่รอรับบัตรคิว ช่องข้าราชการจะว่าง ส่วนช่องบัตร 30 บาทแถวยาวไปถึงหน้าประตูทางเข้า
  • ยารักษามะเร็งโดยหลักการทุกกองทุนจะใช้ยาตัวเดียวกันตามบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ข้าราชการจะมีโอกาสใช้ยานอกบัญชี
  • ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องเคยได้ยินวิธีการรักษาแบบทางเลือก แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทิ้งแบบปัจจุบันไปรักษาแบบทางเลือก

     โรงพยาบาลรัฐน่าจะเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่ง

     คนทั่วไปคงจะได้เห็นข่าวของ ‘หมอแสง’ หรือนายแสงชัย แหเลิศตระกูล ซึ่งแจกยารักษามะเร็งฟรีที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จ.ปราจีนบุรี หมอแสงแจกยามากว่า 10 ปีแล้ว จากปากต่อปากสู่การปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชน

     แต่สำหรับชุมชนคนป่วยมะเร็งด้วยกัน ‘หมอแสง’ เป็นหนึ่งในหลายร้อยแห่งของแนวทางรักษามะเร็งทางเลือก ซึ่งสถานที่รักษามะเร็งทางเลือกมักสอดแทรกอยู่ในวงสนทนาของผู้ป่วยมะเร็งบ่อยครั้ง มีทั้งแบบรักษาฟรี หากมีค่าใช้จ่ายก็จะออกแนวทำบุญตามศรัทธา หรือบางแห่งก็มีค่าใช้จ่ายหลักพันจนถึงหลายพันบาท

     THE STANDARD พูดคุยกับผู้ป่วยโรคมะเร็งท่านหนึ่ง ซึ่งใช้สิทธิประกันสังคม (โดยสมัครใจมาตรา 39) เมื่อ 4 ปีที่แล้วเธอเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 3 จากทั้งหมด 4 ระยะ ต้องรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือคีโม เพื่อทำให้เซลล์มะเร็งเล็กลงก่อนจะทำการผ่าตัด จากนั้นหมอจะนัดตรวจอาการทุก 3 เดือน

     ตลอดช่วงเวลาการรักษามะเร็งทำให้แผนกผู้ป่วยมะเร็งเป็นเป็นเสมือนบ้านอีกหลังของเธอ ที่นี่เราจะเจอเพื่อนที่เป็นโรคมะเร็งเหมือนกัน คอยให้กำลังใจกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลการดูแลตัวเอง รวมไปถึงการรักษามะเร็งทางเลือก

 

 

คนไม่เท่ากัน เมื่อเข้าโรงพยาบาล

     ผู้ป่วยมะเร็งท่านนี้ เล่าให้ฟังว่าคงบอกไม่ได้ว่าวิธีการรักษาและตัวยาที่ใช้ระหว่างสิทธิบัตรประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมไปถึงสิทธิข้าราชการเหมือนหรือต่างกัน แต่ที่ได้ยินมาคือสิทธิข้าราชการจะได้คีโมอีกตัวหนึ่งซึ่งหากคนไข้ทั่วไปอยากได้ยาตัวนั้นบ้างต้องจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่ม

     แต่ความต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างสิทธิรักษาพยาบาลที่ต่างกันเริ่มตั้งแต่การรับบัตรคิว ที่เคาน์เตอร์ชั้น 1 ของโรงพยาบาล ช่องสำหรับสิทธิข้าราชการมี 1 ช่อง แต่โล่งมากไม่มีคนต่อคิวเลย ส่วนช่องของบัตรประกันสังคม จะมีคนต่อแถวยาวประมาณหนึ่ง ขณะที่ช่องของบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า แถวยาวคดแล้วคดอีกเลยไปถึงหน้าประตูทางเข้า

     แม้แต่ตอนที่นอนโรงพยาบาลเพื่อรอผ่าตัด เธอบอกว่าอาหารของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ 30 บาทจะได้อาหารถาดหลุม ขณะที่ของเธอจะได้เป็นกล่องแยกกับข้าวมาต่างหากดูน่ารับประทานกว่า เธอบอกว่าผู้ป่วยมะเร็งนั้นต้องการกำลังใจ ดังนั้นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ก็มีผล ส่วนข้าราชการจะไม่มานอนในห้องผู้ป่วยรวม เพราะส่วนใหญ่จะได้ห้องพิเศษ

 

 

ข้าราชการมีโอกาสใช้ยานอกบัญชียาแห่งชาติ

     สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ตอบคำถามที่ว่าตกลงแล้วยาที่ใช้รักษามะเร็งของสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนหรือต่างกัน?

     คำตอบคือ เท่าที่เห็นในทางปฏิบัติทุกระบบยืนยันว่าใช้วิธีรักษาแบบเดียวกันซึ่งเป็นมาตรฐานของวิชาชีพแพทย์ และก็ต้องใช้ยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติเหมือนกันในเบื้องต้นก่อน

     ‘บัญชียาหลักแห่งชาติ’ เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพไทยที่แบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม และให้งบประมาณรายหัวของ 3 กลุ่มไม่เท่ากัน

     เท่าที่เฝ้าติดตามการทำงาน เห็นว่าปัจจุบันระบบบัญชียาหลักแห่งชาติยังทำงานได้เป็นปกติ สามารถไว้ใจได้ โดยทุกกลุ่มโรคจะมีผู้เชี่ยวชาญ และงานวิจัยประกอบรองรับว่าคุ้มค่าหรือไม่ การเอายาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาตินั้นไม่ว่าใครจะอยู่บัตรไหนระบบไหนก็จะได้ใช้ยาตัวนั้นเหมือนกัน

     แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่ ระบบของข้าราชการซึ่งมีเงินอุดหนุนต่อหัวสูงที่สุดมีโอกาสมากกว่าที่จะขอใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ข้าราชการมีศักยภาพในการเจรจากับหมอได้ ในขณะที่กองทุนอื่น การทำอะไรที่นอกเหนือหรือเพิ่มเข้าไปไม่สามารถทำได้ เพราะจะกระทบกับเงินในกองทุนซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว

     ความเหลื่อมล้ำมีที่มาจากระบบใหญ่ เมื่อรัฐจ่ายเงินรายหัวไม่เท่าเทียมกันแต่ต้น ย่อมส่งผลไปถึงการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน การแก้ไขคือการรวม 3 กองทุนประกันสุขภาพเป็นกองทุนเดียว ทุกคนในสังคมควรมีงบค่าใช้จ่ายรายหัวในการรักษาพยาบาลที่เท่ากัน ไม่ใช่แบ่งแยกกันชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่

 

 

มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย

     จากสถิติตั้งแต่ปี 2542 โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดของคนไทย โดยเฉลี่ย 100 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าการตายด้วยอุบัติเหตุถึง 2 เท่า ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 50 คนต่อประชากร 100,000 คน

     คนไทยเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก

     แต่มะเร็งตับและท่อน้ำดีกับมะเร็งปอด เป็นสาเหตุเสียชีวิตเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ เนื่องจาก 2 โรคนี้มีการพยากรณ์โรคได้ยังไม่ดี ทำให้รู้ตัวช้าและรักษาได้ยาก

     ขณะที่การเป็นมะเร็งซ้ำ เป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยมะเร็ง มักเกิดในเนื้อเยื่อและอวัยวะใหม่ การเป็นซ้ำอาจจะเกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือนเป็นอย่างเร็ว และอย่างนานที่สุดมากถึง 10 ปี

     ผู้ป่วยมะเร็งท่านเดิม เล่าให้เราฟังว่า หลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมไป 4 ปี เธอพบมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองซ้ำอีก คราวนี้เธอตัดสินใจหันหลังให้กับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน หันไปเลือกวิธีทางเลือกเต็มตัว

     เธอบอกว่า ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อมั่นในแพทย์ปัจจุบัน แต่เพราะไม่เชื่อว่าร่างกายเธอจะรับการรักษาแบบเคมีบำบัดหรือคีโมซ้ำได้อีก คีโมเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายของผู้ป่วยมะเร็ง เธอตัดสินใจรักษาแบบทางเลือก โดยทานยาสมุนไพร พร้อมกับข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการรับประทานอาหาร เธอบอกว่าเธอยอมทานอาหารแบบนี้ไปจนตายดีกว่าทรมานกับการให้คีโม

 

 

ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสมุนไพรตัวใดใช้รักษามะเร็งได้

     นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ บอกกับ THE STANDARD ว่า ปัจจุบันการรักษาแบบทางเลือกยังไม่มีข้อมูลชัดเจนยืนยันว่ารักษาโรคมะเร็งได้จริง ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นและเลือกวิธีการรักษาแบบปัจจุบัน โดยคนไข้ที่ให้การรักษาแบบปัจจุบันแบบครบถ้วนแล้วหายขาดมีจำนวนมาก

     อย่างไรก็ตาม การรักษาแบบทางเลือกเป็นสิทธิของผู้ป่วยซึ่งห้ามไม่ได้ ผู้ป่วยก็มีหลายแบบมีทั้งไม่เชื่อเรื่องนี้เลย มีทั้งแบบรักษาคู่ขนาน และแบบทิ้งแพทย์แผนปัจจุบันเลยก็มี

     ขณะเดียวกันขออย่ามอง ‘คีโม’ เป็นสิ่งเลวร้าย มีผู้ป่วยมะเร็งมากมายที่ใช้วิธีการรักษาแบบนี้แล้วหายขาดจากมะเร็ง ส่วนการเป็นมะเร็งซ้ำถือเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยมะเร็ง หากเป็นซ้ำก็ควรรักษาด้วยวิธีการเดิม เพราะการหายไปแล้วรอบหนึ่งมันสะท้อนว่าการรักษาด้วยการให้คีโมนั้นได้ผล

     ด้านนายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยผลการตรวจสอบยาของ ‘หมอแสง’ ว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ครั้งแรกไม่พบส่วนผสมของสเตียรอยด์ สำหรับส่วนผสมของสมุนไพรดังกล่าวมีข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ และน้ำมันรำข้าว ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ามีสรรพคุณแอนตี้ออกซิแดนต์มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง และมีงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ แต่ยังไม่มีการวิจัยในคนจึงไม่สามารถระบุได้ว่าสามารถรักษาโรคได้ แต่อาจช่วยบำรุงสุขภาพให้ดีขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising