×
SCB Omnibus Fund 2024

Morning Brief | 20 พฤศจิกายน 2563

20.11.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • BNP Paribas ฟันธง ‘หยวน’ ยังไม่ใช่เงินสกุลหลักของโลก
  • SoftBank ขายหุ้น ‘ตุนเงินสด’ เผื่อกรณีเลวร้าย
  • ยอดขายสินค้าหรูใน ‘จีน’ พุ่งสวนทางตลาดโลก
  • ‘เงินเยน’ แข็งค่า ฉุด ‘หุ้นญี่ปุ่น’ ติดลบเป็นวันที่สอง
  • ‘เกาหลีใต้’ เกาะติดค่าเงิน หลังแข็งค่าสุดรอบ 29 เดือน

ต้อนรับเช้าวันใหม่กับความเคลื่อนไหวสำคัญในโลกเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน ใน THE STANDARD WEALTH Morning Brief 

 

BNP Paribas ฟันธง ‘หยวน’ ยังไม่ใช่เงินสกุลหลักของโลก

BNP Paribas บอกว่าจะต้องมี 2 อย่างเกิดขึ้น ถ้าหยวนต้องการจะเป็นสกุลเงินหลักของโลก โดยทางธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสได้บอกว่า หยวนจะยังคงไม่ใช่เงินสกุลหลักแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ในช่วงระยะสั้นหรือระยะกลางอย่างแน่นอน แต่ก็มีการใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ถ้าจะให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักสกุลหนึ่งของโลกจะต้องถูกขับดันด้วยปัจจัย 2 ประการคือ 1. การปล่อยให้เงินจากต่างชาติไหลเข้าจีนได้มากขึ้น 2. การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้เงินหยวนไหลออกไปลงทุนในต่างแดนได้มากขึ้น สรุปง่ายๆ เลยคือ ทางภาครัฐจะต้องมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เพื่อให้เงินนอกไหลเข้าจีน และเงินในไหลออกจากจีนได้มากขึ้นนั่นเอง

 

SoftBank ขายหุ้น ‘ตุนเงินสด’ เผื่อกรณีเลวร้าย 

มาซาโยชิ ซัน ซีอีโอของบริษัท SoftBank ได้ออกมาเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ออกไปมาก เพื่อเตรียมเงินสดไว้สำหรับ ‘กรณีเลวร้ายที่สุด’ หรือ Worst Case Scenario ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมมาก ตัวอย่างการขายที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาคือ ขาย ARM ให้กับ NVIDIA มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ 


ยอดขายสินค้าหรูใน ‘จีน’ พุ่งสวนทางตลาดโลก

ดัชนีรวมหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันแรกหลังจากที่ปรับตัวลดลงมา 2 วันติดต่อกัน ตลาดหุ้นจีนได้รับปัจจัยบวก จาก 1. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ 2. การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนมีความน่าดึงดูด เนื่องจากเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี 

 

ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

  1. หุ้นในกลุ่มผู้ผลิตจักรยานปรับตัวเพิ่มขึ้นกันอย่างโดดเด่น จากข้อมูลของ Alibaba พบว่า ยอดสั่งซื้อจักรยานจากนอกประเทศจีนในเดือนตุลาคม เติบโตขึ้นถึง 220% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และยอดขายก็เติบโตขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันแล้ว
    2. ยอดขายสินค้าหรูหราทั่วโลกหดตัวลง 23%YoY มาที่ระดับ 2.58 แสนล้านดอลลาร์ เป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด แต่ยอดขายในจีนยังเติบโตได้ดีถึง +44% ในปีนี้ และยังคงเป็นตลาดสินค้าหรูหราที่แบรนด์ต่างๆ ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด

 

‘เงินเยน’ แข็งค่า ฉุด ‘หุ้นญี่ปุ่น’ ติดลบเป็นวันที่สอง

ดัชนีของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลง 93.80 จุด หรือ 0.36% ซึ่งลดลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น คือ 1. ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกรุงโตเกียว พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ในวันพุธที่ผ่านมา และได้ปรับระดับเตือนภัยสู่ระดับสูงสุด 2. ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องถึงแม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นบ้างแล้วก็ตาม โดยล่าสุดค่าเงินเยนอยู่ที่ 103.80 เยน ปัจจัยทั้งสองเข้ามากดดันให้นักลงทุนขายทำกำไรตลาดหุ้นญี่ปุ่นออกมา จากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีตั้งแต่เข้าสู่เดือนพฤศจิกายน หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวผสมผสาน นอกนั้นปรับตัวลดลงกันแทบทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินและท่องเที่ยว

 

‘เกาหลีใต้’ เกาะติดค่าเงิน หลังแข็งค่าสุดรอบ 29 เดือน

ดัชนีของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแบบแทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ แต่สามารถฟื้นตัวได้ดีในช่วงท้ายตลาดจนมาปิดในแดนบวกได้ ดัชนีถูกกดดันจากการที่ทางการเกาหลีใต้จะเข้ามาดูแลเรื่องค่าเงินใกล้ชิดขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงบ้างหลังจากที่แข็งค่าขึ้นมาต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการส่งออกของประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 1,115 วอน อ่อนค่าลงถึง 0.85% 

 

ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ รมว.คลังของเกาหลีใต้ได้ออกมาแถลงในวันพฤหัสที่ผ่านมาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จับตาตลาดแลกเปลี่ยนเงินอย่างใกล้ชิด และได้เตือนว่าทางการพร้อมที่จะเข้าไปหยุดการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินวอน ค่าเงินวอนที่ปิดตลาดในวันพุธอยู่ที่ 1,103.80 วอนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 29 เดือน

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising