ต้อนรับเช้าวันใหม่กับความเคลื่อนไหวสำคัญในโลกเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ประจำวันที่ 18 มกราคม ใน THE STANDARD WEALTH Morning Brief
‘ตลาดเงิน’ เริ่มคาดการณ์ Fed อาจลดปริมาณ QE เร็วขึ้น
ตลาดการเงินทั่วโลกปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก
- ตลาดหุ้นปรับฐานจากแรงขายทำกำไรระยะสั้นและเริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศผลการดำเนินงาน
- ความกังวลต่อความเคลื่อนไหวของการเมืองสหรัฐฯ ในช่วง 10 วันสุดท้ายของการบริหารภายใต้ ปธน.ทรัมป์ ว่าจะเกิดความวุ่นวายและรุนแรงขึ้นหรือไม่
- รอดูพัฒนาการของการกระจายวัคซีนและประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาด
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เริ่มปรับตัวลดลงมาบ้างหลังจากที่ขึ้นไปที่ระดับ 1.18% แต่ยังคงเคลื่อนไหวบริเวณ 1.10% ทั้งนี้ตลาดการเงินเริ่มพูดถึงเรื่องการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed หรือ Tapering ที่อาจจะมาเร็วขึ้นกว่าที่คาด ในช่วงปลายสัปดาห์ โจ ไบเดน ว่าที่ ปธน.สหรัฐฯ คนใหม่ได้ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับเดียวกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้
‘โจ ไบเดน’ เล็งจ่ายเยียวยาคนอเมริกันยาวถึงเดือน ก.ย. 2021
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ดัชนีหลักทั้ง 3 ปรับตัวลดลงกันทั้งหมด นักลงทุนยังคงขายทำกำไรระยะสั้นออกมาต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่มีชื่อแผนว่า ‘American Rescue Plan’ จากไบเดน ว่าที่ ปธน.คนใหม่ของสหรัฐฯ แต่แผนกระตุ้นดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาด จึงไม่ได้ส่งผลบวกเพิ่มเติมต่อตลาด จากการปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์แรกหลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
- ไบเดน ว่าที่ ปธน.สหรัฐฯ คนใหม่ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยจะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือคนอเมริกันเพิ่มเติม 1,400 ดอลลาร์ รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับคนว่างงาน 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2021
2. ประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกประจำเดือนธันวาคม หดตัว -0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -0.2%
3. ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตหรือ US PPI ประจำเดือนธันวาคม ขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.4%
4. ประกาศตัวเลขการผลิตอุตสาหกรรมหรือ Industrial Production ประจำเดือนธันวาคม ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ค่อนข้างมากที่ 0.5%
‘หุ้นจีน’ ยังร่วงต่อเนื่องจากความกังวลโควิด-19 ที่ระบาดหนักขึ้น
ตลาดหุ้นจีน CSI 300 ลดลง 12.38 จุด หรือ 0.23% ดัชนีรวมหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ดัชนีปรับตัวอย่างผันผวน โดยเคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกเป็นส่วนใหญ่ในตลาดภาคเช้า และมาปรับตัวลดลงแรงกว่า 1% ในตลาดภาคบ่าย แต่พอเข้าชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขาย ดัชนีก็มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนปิดที่ระดับปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย
ปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นจีน มาจาก
- สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ขยายตัวมากขึ้น
- ปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ปรับตัวลดลงกันแทบทั้งหมด
- หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นกันได้ดี นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิต่อเนื่องที่ 180 ล้านดอลลาร์
‘หุ้นเกาหลีใต้’ เริ่มปรับฐาน ดัชนีร่วงกว่า 2% นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหนัก
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ KOSPI ลดลง 64.03 จุด หรือ 2.03% ดัชนีของตลาดหุ้นเกาหลีใต้กลับมาปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงอีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนีในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง ไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 11 ติดต่อกันได้ แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้น 10 สัปดาห์ติดต่อกันก็เพียงพอสำหรับการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี
ปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นเกาหลีใต้ให้ปรับตัวลดลงแรง มาจาก
- กลุ่มอุตสาหกรรมยอดนิยมปรับตัวลดลงกันทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ เทคโนโลยี และเฮลท์แคร์ ส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวผสมผสาน
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมามากที่ 819 ล้านดอลลาร์
ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
- ประกาศตัวเลขส่งออกประจำเดือนธันวาคม ขยายตัวได้ดี +12.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ด้านตัวเลขการนำเข้าก็ขยายตัวเช่นกันที่ +2.2% (YoY) ส่งผลให้ตัวเลขเกินดุลการค้าอยู่ที่ 6,770 ล้านดอลลาร์
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้หรือ BOK ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 0.50% ตามที่ตลาดคาดไว้ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้ “เศรษฐกิจเกาหลีใต้สามารถฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะหดตัวลงเนื่องจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น แต่การลงทุนยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าด้านเทคโนโลยี”
ราคาทองคำร่วงเกือบ 1% จากค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า
ราคาทองคำปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงอีกครั้งมาปิดที่ 1,828 ดอลลาร์ -0.96% โดยมีปัจจัยกดดันมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่เร่งตัวในการแข็งค่าขึ้น ดัชนี US Dollar Index ปิดที่ 90.79 จุด +0.61%
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล