ต้อนรับเช้าวันใหม่กับความเคลื่อนไหวสำคัญในโลกเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ประจำวันที่ 17 ธันวาคม ใน THE STANDARD WEALTH Morning Brief
Barclays คาดแนวโน้ม ‘เงินปอนด์’ แข็งค่า หลัง Brexit มีสัญญาณบวก
Barclays ประเมินว่า กรณีที่ทางสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปสามารถหาข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการค้าหลัง Brexit ได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ และอาจจะได้เห็นค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นถึงระดับ 1.35 ดอลลาร์ต่อปอนด์ในช่วงสิ้นปี แต่มันก็ยังคงมีความเป็นได้อยู่เช่นกันที่จะไม่เกิดข้อตกลง ซึ่งต่างจากสิ่งที่ทาง Barclays เห็นในช่วงสัปดาห์ก่อนที่การเจรจาค่อนข้างไปในเชิงบวก
วอร์เรน บัฟเฟตต์ จี้สภาคองเกรส เร่งผ่านมาตรการช่วยเหลือ ย้ำมันคือ ‘สงครามทางเศรษฐกิจ’
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานบริษัท Berkshire Hathaway และนักลงทุนผู้มีชื่อเสียง ได้ออกมากระตุ้นสภาคองเกรสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ให้รีบขยายความช่วยเหลือให้กับธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ยังคงต่อสู้กับการปิดตัวทางเศรษฐกิจ และจะได้มีเงินทุนเพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยเขากล่าวว่า “มันคือสงครามทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าสหรัฐฯ ติดค้างต่อผู้ดำเนินธุรกิจขนาดเล็กหลายล้านราย แค่ต่อนโยบายช่วยเหลือ PPP (Paycheck Protection Program) และพาเราไปที่ปลายทางของอุโมงค์ได้แล้ว”
Fed ย้ำเดินหน้าหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจเต็มที่
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยในภาพรวม หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและสินค้าฟุ่มเฟือยยังได้รับความนิยมจากนักลงทุน ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดัชนี Nasdaq 100 ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดีและทำจุดสูงสุดใหม่ ส่วนดัชนี Dow Jones ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากการปรับตัวลดลงของหุ้นขนาดใหญ่ในดัชนี นักลงทุนยังคงมีความคาดหวังเชิงบวกต่องบกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังรอบใหม่
รวมถึงถ้อยแถลงของ Fed หลังการประชุม FOMC ที่ให้คำมั่นว่าจะมีนโยบายสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป และมีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่ามุมมองในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาพอสมควร
ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
- Fed ประกาศคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 0-0.25% แต่มีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยคาดว่า GDP ของปี 2020 จะหดตัวเพียง -2.4% จากที่คาดไว้เมื่อตอนเดือนกันยายนที่ -3.7% และมองว่า GDP ปี 2021 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 4.0% มาเป็น 4.2% ด้านตัวเลขอัตราการว่างงานก็ลดลงเช่นกันจาก 7.6% มาเป็น 6.7%
- MSCI บริษัทผู้ให้บริการจัดทำดัชนีสำหรับการลงทุนออกมาเผยว่า ทางบริษัทได้มีการนำหุ้นจำนวน 10 บริษัทของจีนออกจากดัชนี Global บางดัชนี หลังจากที่ทางทำเนียบขาวมีคำสั่งห้ามการลงทุนในบริษัทเหล่านี้ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2021
- ประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกประจำเดือนพฤศจิกายน หดตัว -1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) และหดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ค่อนข้างมากที่ -0.3%
- รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์ ลดลง 3.14 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าที่คาดไว้ที่ 1.94 ล้านบาร์เรล
จีนลดถือ ‘บอนด์สหรัฐฯ’ มาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี
ตลาดหุ้นจีน CSI300 เพิ่มขึ้น 8.77 จุด หรือ 0.18% ดัชนีรวมหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน
ปัจจัยหลักที่เข้ามาสนับสนุนตลาดหุ้นจีน คือ
- ตัวเลขเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดี โดยเฉพาะตัวเลขภาคการผลิตและตัวเลขยอดค้าปลีก
- การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตสุราและเฮลท์แคร์
- นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งที่ 293 ล้านดอลลาร์ ทางด้านหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีปรับตัวผสมผสาน
ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
- รัฐบาลจีนลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ลดการถือครองลง 7,700 ล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม ลดลง 5 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้การถือครองทั้งหมดลดลงมาที่ 1.054 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2017
- UBS Wealth Management คาดการณ์ว่า ค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 6.3 หยวนต่อดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งเป็นการปรับการคาดการณ์ให้เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2021
- Contemporary Amperex Technology (CATL) มีแผนที่จะลงทุนมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมในประเทศอินโดนีเซีย
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเนื้อหอม ต่างชาติสนลงทุน ดันดัชนีทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น Nikkei เพิ่มขึ้น 69.56 จุด หรือ 0.26% ดัชนีของตลาดหุ้นญี่ปุ่น กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกครั้งหลังจากที่ปรับตัวลดลงในตลาดวันอังคาร ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจาก
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในคืนวันอังคารปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีจากความคาดหวังเชิงบวกต่องบกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังรอบใหม่ ส่งผลให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นรวมถึงตลาดหุ้นในเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม
- หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงหุ้นที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับ Apple ด้วย หลัง Apple มีแผนขยายกำลังการผลิตขึ้น 30% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 แต่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 103.50 เยน ทางด้านหุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์ปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่
ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ความต้องการในการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นจากนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มวัฏจักร จากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2021 ส่งผลให้ดัชนี Nikkei ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 29 ปีครึ่ง ในช่วง 4 สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน พบว่า นักลงทุนต่างชาติได้ซื้อสุทธิหุ้นญี่ปุ่นสูงถึง 29,800 ล้านดอลลาร์