×

Morgan Stanley เตือนจีนเสี่ยงเผชิญวงจรหนี้สิน-ภาวะเงินฝืด แนะรัฐบาลควรกระตุ้นการบริโภค ‘เต็มที่’

16.12.2023
  • LOADING...

Chetan Ahya หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียจาก Morgan Stanley เตือนว่า จีนเสี่ยงเผชิญวังวนหนี้สินและภาวะเงินฝืด (Risk of a Debt-Deflation Loop) พร้อมทั้งแนะว่า แนวทางนโยบายที่เหมาะสมที่สุดในตอนนี้คือ การกระตุ้นการบริโภคด้วยการใช้จ่ายในด้านของการศึกษา สาธารณสุข และเคหสถาน (Public Housing)

 

คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากข้อมูลต่างๆ ชี้ว่า จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่อง ‘ภาวะเงินฝืด’ ซึ่งต่างไปจากประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนพฤศจิกายนติดลบ 0.5% ลบหนักสุดในรอบ 3 ปี ด้วยเหตุนี้ การเติบโตของ GDP ของจีนจึงอยู่เพียง 3.5% ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งต่ำกว่าการเติบโต GDP สหรัฐฯ ที่ 6.4% เป็นอย่างมาก

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดย Chetan Ahya ยังอธิบายไว้ในบทความที่ลงในเว็บไซต์ Financial Times ว่าภาวะเงินฝืดทำให้เกิดความท้าทายหลายประการ  ได้แก่

 

  • ประการที่ 1 อัตราที่ดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยที่หักลบกับเงินฝืด ‘เพิ่มขึ้น’ ส่งผลให้ลูกหนี้มีภาระเพิ่มขึ้น
  • ประการที่ 2 แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของมูลหนี้ในประเทศจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงสูงกว่าการเติบโตของ GDP ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ประการที่ 3 ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP Deflator) เป็นดัชนีราคาที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าทุกชนิดที่รวมอยู่ใน GDP ซึ่งแตกต่างกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีวัดภาวะเงินเฟ้อ ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคของจีนยังอ่อนแอลง ส่งผลเสียต่อแนวโน้มของรายได้และผลกำไรของบริษัท

 

ดังนั้น “หากภาวะเงินฝืดยังคงกัดกินสิ่งเหล่านี้ บริษัทต่างๆ ทยอยจะชะลอลดการขึ้นค่าจ้าง ทำให้เกิด ‘วงจร’ (Loop) ที่เลวร้าย ส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวมให้อ่อนแอลง และยังทำให้เกิดแรงกดดันภาวะเงินฝืด” Chetan Ahya กล่าว

 

ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในบริบทของจีน เมื่อพิจารณาว่าจีนกำลังเผชิญกับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้น และแนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ที่อ่อนแอลง นอกจากภาวะเงินฝืดแล้ว ปัจจัยเหล่านี้เมื่อรวมกันทำให้เกิดความท้าทายต่อจีนที่เรียกว่า ‘3Ds’ ได้แก่

 

  1. แรงกดดันด้านเงินฝืด (Deflationary Pressures)
  2. การลดภาระหนี้ของงบดุล (Deleveraging of the Balance Sheets) ในภาคอสังหาริมทรัพย์และรัฐบาลท้องถิ่น
  3. หนี้รวมในงบดุล (Debt on Balance Sheets) เหล่านี้ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 100% ของ GDP จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่แรงกดดันด้านอุปสงค์และราคาจะอ่อนแอลง

 

Chetan Ahya ยังแนะว่า เพื่อจัดการกับปัญหาภาวะเงินฝืด ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังอย่างเต็มที่เพื่อยกระดับอุปสงค์โดยรวม แม้ว่าปัจจุบันผู้กำหนดนโยบายในจีนกำลังผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังอยู่แล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ดำเนินมาจนถึงขณะนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง GDP Deflator อย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น มาตรการดังกล่าวไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะยกระดับอัตราเงินเฟ้อสู่ระดับ 2-3% ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่ง Morgan Stanley คิดว่าจะส่งเสริมต่อการเติบโตที่ดีของรายได้และผลกำไรของบริษัทต่างๆ

 

Morgan Stanley ยังแนะอีกว่า แนวทางนโยบายที่เหมาะสมที่สุดในตอนนี้คือการกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำหนดนโยบายสามารถเพิ่มการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการเคหสถานของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนเงินเก็บในภาคครัวเรือนของประเทศได้สูง

 

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (15 ธันวาคม) ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบครั้งใหญ่ โดยขยายมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการเสนอเงินกู้สุทธิ 8 แสนล้านหยวน หรือราว 1.12 แสนล้านดอลลาร์ ในระยะเวลาหนึ่งปีให้แก่ธนาคารพาณิชย์ แลกกับการคงอัตราดอกเบี้ยของเงินทุนไว้ไม่เปลี่ยนแปลง นับเป็นมูลค่าใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังคงซบเซาท่ามกลางวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์และอุปสงค์ที่อ่อนแอ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X