×

นักวิเคราะห์เกินครึ่งมองดัชนีปีนี้ 1,501-1,600 จุด อานิสงส์ QE ทั่วโลก-ทุนนอกไหลเข้า ส่วนหุ้นไทยวันนี้ปิดร่วง 14 จุด รับแรงขายหุ้นใหญ่

06.01.2021
  • LOADING...
การลงทุน

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเปิดเผยผลสำรวจครั้งที่ 1 ปี 2564 พบนักวิเคราะห์ 53.33% คาดการณ์ว่าดัชนีหุ้นไทยปีนี้จะแกว่งตัว 1,501-1,600 จุด รับปัจจัยบวกทั้งเรื่องนโยบาย QE ทั่วโลกที่จะทำให้สภาพคล่องล้น เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 อย่างไรก็ตาม ยังมองสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลลบต่อการลงทุน แนะนำให้เกาะติดตัวเลขผู้ติดเชื้อเพื่อประเมินสถานการณ์ระยะสั้น 

 

สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นทิศทางการลงทุนปี 2564 ครั้งที่ 1/2564 ว่า จากการสำรวจด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังนักวิเคราะห์สำนักต่างๆ ได้รับคำตอบจากนักวิเคราะห์ 23 ราย และได้ข้อสรุปว่า ส่วนมากมีมุมมองเชิงบวกต่อ GDP ไทยในปีนี้ โดยมีค่าเฉลี่ยการเติบโตที่ 3.74% 

 

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2564 จากปัจจัยบวก ดังนี้

 

  • มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก (95.56%)
  • เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ (91.30%)
  • การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (78.26%)
  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (69.57%)
  • ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดลง (52%) 

 

ส่วนปัจจัยลบที่จะมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีนี้ ประกอบด้วย

 

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (78.26%)
  • ปัจจัยการเมืองภายในประเทศ (73.91%)
  • เศรษฐกิจภายในประเทศ (52.17%) 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ผลสำรวจพบว่ามีนักวิเคราะห์ 39.13% ของผู้ตอบแบบสำรวจมองเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน

 

“สถานการณ์โควิด-19 มองว่าจะไม่กดดันตลาดเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยดูจากความเคลื่อนไหวดัชนี 2-3 วันนี้ที่ยังยืนอยู่ได้ แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ระยะสั้นก็อยากให้ติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันต่อไป เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” สมบัติกล่าว 

 

ผลสำรวจระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปีนี้เฉลี่ยที่ 77.46 บาท และประเมินจุดสูงสุดของดัชนีระหว่างปี 2564 เฉลี่ยที่ระดับ 1,631 จุด โดยมีนักวิเคราะห์ 53.33% ที่คาดว่าจะดัชนีจะทำจุดสูงสุดในช่วง 1,501-1,600 จุด และนักวิเคราะห์ 40% คาดว่าจุดสูงสุดของดัชนีจะอยู่ที่ช่วง 1,601-1,700 จุด ส่วนที่มองว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุดช่วง 1,701-1,800 จุด มี 6.67% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม  ส่วนระดับดัชนีที่ต่ำสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 1,338 จุด 

 

“สำหรับค่าเฉลี่ยดัชนีสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,559 จุด ซึ่งหากเทียบกับดัชนีสิ้นปี 2563 ที่ระดับ 1,449 จุด มีส่วนต่างอยู่ราว 100 จุด” 

 

สำหรับประเด็นสอบถามเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ นักวิเคราะห์ 52.17% มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะคงที่ ขณะที่ 43.48% เชื่อว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และนักวิเคราะห์ 4.35% เชื่อว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% 

 

จากการสำรวจครั้งนี้ ได้ผลสรุปหุ้นเด่นที่น่าเข้าลงทุน 5 บริษัท ประกอบด้วย ADVANC, BDMS, CPALL, KBANK และ PTTGC 

 

ส่วนกลุ่มที่แนะนำให้หลีกเลียงการลงทุนคือกลุ่มท่องเที่ยว อาทิ หุ้นโรงแรมและสายการบิน 

 

ขณะที่หุ้นไทยวันนี้ (6 มกราคม) ปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,492.36 จุด ลดลง 14.29 จุด หรือ 0.95% มูลค่าการซื้อขาย 1.42 แสนล้านบาท

 

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับฐานลงมาจากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้น อาทิ EA GPSC ที่ปรับลดลงเพราะราคาปรับขึ้นมากแล้วในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา รวมถึงหุ้น DELTA ที่ล่าสุดต้องซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด ทำให้เกิดแรงเทขายลงมาและราคาปรับตัวลดลงราว 13% 

 

ส่วนปัจจัยต่างประเทศทั้งเรื่องผลการประชุม OPEC ที่ออกมาดีกว่าคาด และผลการเลือกตั้ง ส.ว. สหรัฐฯ ในรัฐจอร์เจีย น่าจะเป็นปัจจัยหนุนหุ้นไทยในภาคเช้า ทำให้สามารถสร้างฐานได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ว. สหรัฐฯ แม้จะนับคะแนนและประกาศมาแล้ว 98% ซึ่งพบว่าเป็นชัยชนะของพรรคเดโมแครตทั้ง 2 ที่นั่ง แต่อีก 2% ก็พลิกโผได้เช่นกัน จึงยังต้องติดตามต่อ โดยหากรัฐสภาสหรัฐฯ ออกมาในรูปแบบ Blue Wave ก็จะส่งผลดีต่อหุ้น EM รวมประเทศไทยด้วย 

 

แนวโน้มวันพรุ่งนี้ (7 มกราคม) ประเมินว่าตลาดจะพยายามหาหุ้นรายตัวมาเก็งกำไรและอาจจะสลับเซกเตอร์ กลุ่มต่อไปอาจจะเป็นกลุ่มธนาคาร ซึ่งเริ่มเห็นแรงซื้อเพื่อสร้างฐานมาตั้งแต่ภาคการซื้อขายช่วงบ่าย 

 

ประเมินแนวรับที่ 1,480 จุด และแนวต้าน 1,500-1,515 จุด 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising