×

สธ. เผยสายพันธ์ุ ‘ออมิครอน’ อาจมีอำนาจแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ย้ำยังไม่พบในไทย พร้อมงดรับนักเดินทางจากประเทศโซนแอฟริกา

27.11.2021
  • LOADING...
ออมิครอน

จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ชื่อเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธ์ุชนิดใหม่ที่พบทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา (B.1.1.529) หรือ ออมิครอน ว่าเป็นสายพันธ์ุระดับที่น่ากังวลตัวใหม่ต่อจากเชื้อสายพันธ์ุเดลตา (B.1.617.2) อีกทั้งยังมีการพบผู้ติดสายพันธ์ุดังกล่าวในหลายประเทศ

 

วันนี้ (27 พฤศจิกายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวถึงเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธ์ุชนิดใหม่อย่างออมิครอน (B.1.1.529) โดยระบุว่าสายพันธุ์ออมิครอนถูกพบเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ในประเทศบอตสวานา ทวีปแอฟริกา และพบการระบาดในประเทศใกล้เคียงแล้วประเทศ 8 ประเทศ รวมถึงผู้เดินทางจากแอฟริกาใต้ไปฮ่องกง​ 2 ราย

 

โดยปัจจุบันมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศแอฟริกาใต้แล้วจำนวน 74 ราย ซึ่งตอนนี้ไม่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ออมิครอนในประเทศไทย โดยเชื้อที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา 

 

นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ ได้กล่าวถึงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้จากห้องแล็บของตำแหน่งที่พบการกลายพันธุ์ พบว่าความสามารถบางส่วนของสายพันธุ์นี้อาจเพิ่มอำนาจแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์เดลตา และบางส่วนอาจหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือยารักษาได้พอสมควร แต่ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการสันนิษฐานและยังไม่ชัดเจน โดยในรายละเอียดตอนนี้ห้องแล็บจากทั่วโลกกำลังจับตาดูและวิเคราะห์ผลอย่างใกล้ชิด

 

นพ.ศุภกิจ ย้ำด้วยว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์นี้ ซึ่งยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวถูกค้นพบไม่นาน ข้อมูลยังมีมากพอศึกษาในรายละเอียด 

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงมาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ว่า สำหรับประเทศไทยได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลและจัดวางมาตรการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์ออมิครอน ซึ่งแบ่งเป็น 2 มาตรการดังนี้

 

  1. สำหรับกลุ่ม 8 ประเทศที่พบการระบาดของสายพันธุ์ (B.1.1.529) หรือ ออมิครอน ประกอบด้วยบอสตวานา, เอสวาตีนี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, ซิมบับเว และแอฟริกาใต้ มีข้อปฏิบัติดังนี้
  • เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว ต้องเข้ากักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564
  • ไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564
  • ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าประเทศไทยในระบบต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564

 

  1. สำหรับกลุ่มประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา (นอกเหนือจาก 8 ประเทศ) มีข้อปฏิบัติดังนี้
  • ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าประเทศไทยในระบบต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564
  • ไม่อนุญาตให้เข้าประเทศในรูปแบบ Test and Go
  • ไม่อนุญาตให้เข้าประเทศในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ 
  • ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว ต้องเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนดให้เท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน และต้องเข้ารับการตรวจ 3 ครั้ง 

 

“ขณะนี้ในภาคปฏิบัติได้มีการแจ้งไปยังสายการบินต่างๆ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการยึดมาตรการดังกล่าวแล้ว ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแล้วก็ต้องเข้ารับการดำเนินการตามที่รับอนุญาตจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และต้องมีการกักตัวให้ครบ 14 วัน” นพ.โอภาสกล่าว

 

นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางจากทวีปแอฟริกาเข้ามาประเทศไทยรวมแล้ว 1,007 คน โดยเป็นการเข้าผ่านระบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และยืนยันว่าทั้งหมดมีผลตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดแม้แต่รายเดียว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising