×

สธ. เผยจีนบริจาค Sinovac ให้อีก 1.5 ล้านโดส ชี้วัคซีนสูตรไขว้ Sinovac + AstraZeneca ป้องกันติดเชื้อได้ 70%

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2021
  • LOADING...
Sinovac

วานนี้ (5 พฤศจิกายน) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด และผลการศึกษาประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนโควิด 4 จังหวัดชายแดนใต้ พบว่า ยะลาและนราธิวาสลดลงชัดเจน เชื่อว่าไม่เกิน 3 สัปดาห์สถานการณ์จะใกล้เคียงจังหวัดอื่น สงขลายังต้องจับตาอีก 1-2 สัปดาห์ ส่วนปัตตานียังไม่ลดลงชัดเจน ต้องขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค 

 

ส่วนที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ ระยอง ตาก จันทบุรี และขอนแก่น และคลัสเตอร์ต่างๆ ทั้งเรือนจำ สถานศึกษา แคมป์คนงาน ค่ายทหาร ตลาด งานศพและกฐิน ทั้งนี้ หลังเปิดประเทศแล้ว หากไม่เข้มมาตรการต่างๆ หรือประชาชนและสถานประกอบการร่วมมือน้อย อาจมีการติดเชื้อสูงถึงวันละ 3 หมื่นราย แต่หากร่วมมือกันอย่างเข้มข้น แนวโน้มการระบาดจะลดลงตามที่คาดการณ์ไว้ 

 

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด ฉีดสะสม 78,656,124 โดส เข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้วกว่า 60% ของประชากร ล่าสุดคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รับทราบถึงประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อ จากการใช้งานจริงโดยใช้ฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ของผู้รับบริการเขต กทม. และข้อมูลการฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อมเมื่อเดือนกันยายน 2564 พบว่า AstraZeneca 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 54% สูตรไขว้ Sinovac + AstraZeneca ป้องกันติดเชื้อ 70% ถือว่ามีประสิทธิผลน่าพอใจ และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ กทม. ลดการระบาดได้ดี 

 

สำหรับสัปดาห์หน้าจะมีวัคซีน AstraZeneca ส่งมอบอีก 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามแผน และปลายเดือนนี้จะส่งครบตามที่กำหนด และ Pfizer ส่งเพิ่มอีก 6 ล้านโดส 

 

ดังนั้นสัปดาห์หน้าจะมี 8 ล้านโดส และได้รับการประสานจากประเทศจีนว่าจะบริจาค Sinovacให้ประเทศไทยอีก 1.5 ล้านโดส

 

นอกจากนี้คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคยังมีมติให้คำแนะนำการฉีดวัคซีน คือ 

 

  1. ฉีดวัคซีนโควิดชั้นผิวหนังได้กรณีวัคซีนมีจำกัด เนื่องจากประสิทธิผลใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ พบผลข้างเคียงทางผิวหนังชัดกว่า แต่ผลข้างเคียงภาพรวม เช่น การเป็นไข้ลดน้อยลง เพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่า 

 

  1. ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิดไปพร้อมๆ กันได้ เนื่องจากวัคซีนโควิดมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ฉีดเกือบ 80 ล้านโดส อาการรุนแรงจากวัคซีนมีไม่มาก 

 

  1. ผู้รับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม ให้กระตุ้นเข็ม 3 ได้ทั้ง Pfizer และ Moderna ระยะห่างจากเข็มสอง 6 เดือนขึ้นไป โดยผู้ที่รับครบช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน สามารถไปลงทะเบียนยังจุดฉีดใกล้บ้านได้ตามความสมัครใจ 

 

  1. กรณีแพ้วัคซีนให้เปลี่ยนชนิดวัคซีนได้ ตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งการฉีดจะเริ่มจากเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นต้องไปต่างประเทศ ให้พิจารณาฉีดตามข้อกำหนดของประเทศปลายทางเป็นรายกรณี

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า การฉีดวัคซีน Moderna คณะอนุกรรมการฯ มีคำแนะนำให้ฉีดตามเอกสารกำกับยาของบริษัท ทั้งการฉีดสูตรปกติและสูตรไขว้ให้ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ สามารถฉีดได้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป ใช้ฉีดกระตุ้นผู้ที่รับ Sinovac 2 เข็ม หรือ Sinopharm 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปได้ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีมติรับทราบ และให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์จังหวัดตนเอง

 

สำหรับผู้ที่ฉีด Sinopharm ครบ 2 เข็มช่วงเดือนมิถุนายน สามารถติดต่อจุดฉีดวัคซีนหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อลงทะเบียนรับเข็มกระตุ้นได้ฟรีตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ส่วนผู้ที่ฉีดสูตรไขว้ Sinovac + AstraZeneca แนะนำให้รอประมาณ 5-6 เดือนจึงจะฉีดกระตุ้นได้

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนกรณีข่าวนักเรียนจังหวัดมุกดาหารตรวจ ATK พบการติดเชื้อจำนวนมากนั้น กองระบาดวิทยาติดตามข้อมูลเบื้องต้น พบว่าเกิดที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวักมุกดาหาร มีการตรวจ ATK ในครูผลบวก 14 คน และนักเรียน 3 คน รวม 17 คน ทีมสอบสวนโรคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารจึงออกตรวจเชิงรุกอีกครั้งด้วย ATK 4 ยี่ห้อ ในนักเรียนและบุคลากร 1,106 ราย พบผลบวก 87 คน ซึ่งมาจากชุดตรวจ ATK ที่โรงเรียนจัดหาทั้งหมด จึงมีการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK อีกชุดพบว่าเป็นผลลบ และเมื่อตรวจซ้ำด้วย RT-PCR พบว่าทุกรายเป็นลบ สรุปว่าผลตรวจไม่มีการติดเชื้อ แต่จะเฝ้าสังเกตอาการเพื่อความไม่ประมาท โดยโรงเรียนสามารถทำความสะอาดและเปิดเรียนได้ เพราะนักเรียนและบุคลากรเกิน 70% รับวัคซีนแล้ว จะมีการตรวจสอบหาสาเหตุที่ ATK ให้ผลบวกลวงอีกครั้ง ซึ่งอาจเกิดจากการจัดเก็บไม่ดี ตรวจไม่ถูกวิธี ปนเปื้อนเชื้อ หรือทิ้งผลตรวจไว้นาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising