วันนี้ (22 กันยายน) นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวสารเคมีรั่วในโรงงานย่านพุทธมณฑลสาย 7 จังหวัดนครปฐม ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเบื้องต้นกรมควบคุมโรคได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์สารเคมีรั่วไหลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทีมลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี ให้ลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบในรัศมีที่เกี่ยวข้อง
นพ.อภิชาตกล่าวต่อไปว่า สารเคมีที่รั่วไหลคาดการณ์ว่าน่าเป็นสารไบฟีนิล และไดฟีนิลออกไซด์ เป็นสารเคมีที่มีลักษณะก่อผลึกใส ไม่มีสี จะทำให้เกิดการระคายเคืองตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ หากได้รับสารไบฟีนิล หรือสัมผัสเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อตับและระบบประสาท
ซึ่งสารพิษอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 3 กลุ่มโรค ดังนี้
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ อาเจียน คลื่นไส้
- กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย
- กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง
ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น หากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป
ด้าน พญ.หรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับสารเคมี มีดังนี้
- หากโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีถูกเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกก่อน
- หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- หากสูดดมสารพิษเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือมีอากาศถ่ายเท และประเมินการหายใจ
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมีที่มีชั้นกรองคาร์บอน และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอหากมีการประกาศอพยพเพิ่มเติม และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว โดยกรมควบคุมโรคได้ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ และวางแผนติดตามผลการประเมินสุขภาพอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3866