×

สธ. เผยผลสอบผู้เสียชีวิต 13 ราย ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ร่วม ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19

วันนี้ (17 มิถุนายน) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะสถิติข้อมูลกรณีมีอาการไม่พึงประสงค์ และกรณีความชัดเจนสาเหตุการเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีน 

 

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 นั้น ในการฉีดวัคซีนของประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้ฉีดไปแล้วทั้งหมด 7 ล้านกว่าโดส ถือเป็นจำนวนที่มากพอสมควร โดยแยกเป็นวัคซีน Sinovac ฉีดสะสมแล้ว 3,214,385 โดส ในจำนวนนี้มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รับการรักษาเป็นผู้ป่วยในจำนวน 993 ราย (20 โดสต่อการฉีดแสนโดส) และพบว่ามีอาการเวียนศีรษะ 20% คลื่นไส้ 15% ปวดศีรษะ 12% อาเจียน 8% ผื่น 7% ปวดกล้ามเนื้อ 6% ท้องเสีย 5% มีอาการคัน 4% ตรงนี้จะเห็นว่าเป็นลักษณะที่พบเจอได้เหมือนกับวัคซีนตัวอื่นๆ ที่เคยมีการฉีดกันมา 

 

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อไปว่า สำหรับวัคซีน AstraZeneca ฉีดสะสมแล้ว 1,943,693 โดส ในจำนวนนี้มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 472 ราย (24 โดสต่อการฉีดแสนโดส) เมื่อคิดเป็นอัตราแล้วสูงกว่าวัคซีน Sinovac เล็กน้อย ถือว่าใกล้เคียงกัน และพบว่ามีอาการที่พบบ่อยคือ อาการไข้ 31% ปวดศีรษะ 27% เวียนศีรษะ 21% คลื่นไส้ 21% อาเจียน 20% ปวดกล้ามเนื้อ 15% อ่อนเพลีย 13% ถ่ายเหลว 7% 

 

“ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญกรณีเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่พิจารณากันอย่างเต็มที่ในขณะนี้ และมีผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มจังหวัดและเขตสุขภาพที่มีทั่วประเทศ 13 เขต จะมีคณะผู้เชี่ยวชาญที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่วมอยู่ด้วย โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการประชุมพิจารณาถึงกรณีผู้เสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีน จะมีรายใดที่มีสาเหตุและเกี่ยวโยงเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ข้อมูลส่วนใหญ่เกือบสมบูรณ์ แต่มีบางรายที่อาจจะต้องขอข้อมูลเพิ่ม ถ้าสรุปตรงนี้เพิ่มเติมมาจะนำมารายงานในสัปดาห์ถัดไป” นพ.เฉวตสรรกล่าว

 

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อไปด้วยว่า จากการรวบรวมรายงานมีผู้เสียชีวิต 68 ราย โดยได้รับการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญสำเร็จแล้ว 13 ราย โดยไม่มีรายใดที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยแจกแจงได้ว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 8 ราย มีอาการเป็นจ้ำเลือด 1 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย เยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง 1 ราย เลือดออกในช่องท้อง 1 ราย มีเลือดออกในสมองเนื่องจากความผิดปกติของเส้นเลือดสมอง 1 ราย เพราะฉะนั้นตัวเลขที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและผลการชันสูตรพลิกศพตอนนี้ 55 ราย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนมีการพิจารณาเพิ่มเติมไปค่อนข้างมากแล้ว หากมีผลประการใดจะได้นำมารายงานให้ทราบต่อไป 

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 นั้น จะมีเลขานุการของคณะเป็นผู้ทำหน้าที่เตรียมข้อมูลที่จำเป็น โดยรวบรวมจากโรงพยาบาลในท้องที่ในแต่ละพื้นที่ว่า ผู้เสียชีวิตหรือผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรงนั้น มีลักษณะอาการป่วยเป็นอย่างไร ฉีดวัคซีนไปเมื่อไร เริ่มมีอาการเป็นอย่างไร รวมถึงโรคประจำตัวการรักษาเดิมจะต้องมีความครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งจุดสำคัญที่ต้องการให้ทราบ คือผลการพิจารณาแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 

 

  1. เกี่ยวข้องกับวัคซีน 
  2. เกี่ยวข้องกับคุณภาพของวัคซีน 
  3. เกี่ยวข้องกับการให้บริการการฉีดวัคซีน 
  4. เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน 
  5. เป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่บังเอิญเกิดร่วมกัน 
  6. ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน
  7. ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุป 

 

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ ภายหลังการได้รับวัคซีนมีอยู่ในทุกประเทศ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกมีข้อแนะนำตามระบบซึ่งขอยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา จากประชากร 328 ล้านคน ปกติเสียชีวิตโดยทั่วไป 3.3 ล้านคน ขณะนี้สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 312 ล้านโดส รายงานเสียชีวิตหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2563 ถึง 3 พฤษภาคม 2564 เสียชีวิตไป 4,173 ราย แล้วจะมีคณะผู้เชี่ยวชาญนำข้อมูลมาพิจารณาเช่นกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด 

“เช่นกันกับประเทศไทย ประชากรกว่า 70 ล้านคนข้อมูลปกติเสียชีวิตโดยทั่วไปต่อปี 5 แสนกว่าราย ดังนั้น เมื่อคณะผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์สาเหตุแล้วเห็นสาเหตุความเชื่อมโยงเป็นอย่างไรก็ต้องนำมาเทียบอัตราการเสียชีวิตของสาเหตุนั้นๆ หรืออัตราการเสียชีวิตภาพรวมของประเทศ เป็นการช่วยสรุปและบ่งบอกว่าสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นหลังจากที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่เมื่อเทียบกับสถิติย้อนหลัง” นพ.เศวตรสรรกล่าว

นพ.เศวตรสรรยืนยันด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องความปลอดภัยของประชาชน หากมีข้อมูลใดที่จะต้องนำมาพิสูจน์ทราบเพื่อให้เห็นความชัดเจนก็จะพยายามอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อข้อสรุปที่น่าเชื่อถือและมั่นใจ และถึงตอนนี้ถือว่าวัคซีนยังมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับวัคซีนหลายยี่ห้อที่ใช้ทั่วโลกหลายร้อยล้านโดส ที่ยังมีความปลอดภัยและยังฉีดต่อไป 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X