×

สธ. และ AFRIMS ร่วมวิจัยโรคเขตร้อน ผลิตวัคซีนป้องกันเอชไอวี-ไข้เลือดออก ถอดรหัสสารพันธุกรรมโควิด-19 ในไทย

15.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (15 กันยายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร US Army Medical Directorate of the Armed Forces Research Institute of Medical Sciences (USAMD-AFRIMS) เพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในการวิจัยทางการแพทย์ การเฝ้าระวังโรค การพัฒนามาตรการตอบโต้ทางการแพทย์ 

 

อนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้มีความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดผ่านศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (TUC) และ AFRIMS มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกโรคเขตร้อน การผลิตวัคซีนเอชไอวี และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก รวมทั้งตั้งแต่ช่วงแรกที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ช่วยสืบค้นผู้สัมผัส และการตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อโควิด-19 ซึ่ง AFRIMS เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด

 

“AFRIMS ได้มีความร่วมมือในโครงการเฝ้าระวังและงานวิจัยร่วมกับกรมควบคุมโรค อาทิ การศึกษาอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในชายไทยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ กองทัพบก โครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง การศึกษาเบื้องต้นการถอดรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่พบในคนไทย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาธรรมชาติของเชื้อไวรัสในแง่ความเชื่อมโยงที่มาที่ไปของผู้ป่วย และความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรคกับไวรัสที่กลายพันธุ์จากชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ การลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยโรคมาลาเรียเชิงรุก ยกระดับจากการควบคุมโรคเป็นกำจัดโรค โดยการตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ทุกอำเภอของประเทศไทยไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียในพื้นที่ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี รวมถึงการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยา” อนุทินกล่าว

 

สำหรับความร่วมมือต่อเนื่องที่จะดำเนินการร่วมกันคือ การสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทั้งทางซีโรโลยี พันธุกรรม การเพาะเชื้อ ในภาวะที่มีการระบาดของโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคติดต่ออุบัติใหม่,โครงการเฝ้าระวังเชิงรุกกลุ่มโรคไข้สมองอักเสบด้านห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรค Japanese B Encephalitis, ขยายผลการเฝ้าระวังโรค พาหะนำโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดนและช่องทางเข้าออกประเทศ เน้นโรคในกลุ่มที่เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, สนับสนุนการศึกษาดูงานผู้เข้ารับการฝึกอบรมสาขาแพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม และผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากสถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษาอย่างต่อเนื่อง และร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติในการรายงานโรคที่ต้องเฝ้าระวังที่ตรวจพบจากโครงการวิจัยและโครงการเฝ้าระวังโรคติดต่อในพื้นที่ดำเนินการต่างๆ ของ AFRIMS เข้ามาอยู่ในระบบรายงานโรคตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising