×

มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ กับการขับเคลื่อนวงการสร้างสรรค์ด้วยเรื่องราวและความรู้สึก

15.12.2021
  • LOADING...
มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์

HIGHLIGHTS

  • มุกแค่อยากให้พื้นที่ทุกคนที่อาจจะเป็นใครบางคนได้ในอนาคต อย่างมุกที่ก็ไปเรียนแฟชั่นทั้งที่วันนั้นคนบอกว่าเราประหลาดเพราะถักนิตติ้ง แต่มุกรู้ว่ามุกชอบสิ่งนั้นแล้วทำไมทุกคนถึงจะมีสิทธิ์มากีดกั้น 
  • สำหรับมุกศิลปะคือวิถีชีวิต คือความสวยงามที่ไม่ใช่ว่าต้องไขว่คว้าเพื่อที่จะมี ไม่ว่าคุณจะมีเงินน้อยหรือมากทุกอย่างก็เป็นศิลปะได้หมด อยู่ที่คุณจะเห็นความแตกต่างของคนที่อาจจะมีเงินน้อย แต่เขาก็ยังเลือกที่จะวาดอะไรเองแล้วเอาเทปแปะบนผนัง เพราะเขารู้สึกว่าแบบนั้นยังดีกว่าที่จะต้องอยู่ในสภาพที่ไร้จิตวิญญาณ 
  • เราอาจจะไม่ได้เหมือนแกลเลอรีอื่นที่มีระบบทั้งการจัดการสถานที่และงานศิลปะ เราไม่มี และยังคงไม่มีอีกนาน เพราะไม่ใช่เรื่องที่มุกถนัด และต้องสร้างทุกอย่างอีกเยอะมากกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ แต่มุกรู้สึกว่าถ้าเราคงความเป็นธุรกิจครอบครัวไว้แบบนี้ คงความเป็นเราไว้แบบนี้คือดีที่สุดแล้ว 

ปี 2019 อาคารโรงเรียนสอนภาษาจีนอาทรศึกษาเก่าแก่หลายร้อยปี ในซอยเจริญกรุง 30 ได้รับการชุบชีวิตใหม่อีกครั้งให้กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะ ATT 19 (แอทไนน์ทีน) ที่เปิดต้อนรับทุกคนเป็นครั้งแรกที่งาน Bangkok Design Week ตลอดระยะเวลา 3 ปี มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ ที่นอกจากในฐานะของ Creative Director แล้ว เธอยังทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อทุกคนให้เข้าถึงงานศิลปะทั้งกลุ่มผู้ชมและศิลปิน ตั้งแต่นิทรรศการของศิลปินรุ่นใหม่สุดสร้างสรรค์ จนถึงนิทรรศการโดยศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง ‘ปั้นดิน เขียนรูป ในบ้าน’ โดย สมลักษณ์ ปันติบุญ 

 

อีกทั้งยังทำให้ ATT 19 กลายเป็นจุดศูนย์รวมและจุดเริ่มต้นของเธอที่กำลังโลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่นที่นิวยอร์ก ผู้วิ่งลุยงานตั้งแต่ร่วมงานกับแบรนด์ดัง เย็บชุดให้เซเลบริตี้ จนถึงเช็ดเท้าให้นางแบบ ได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งเพื่อสานต่อกิจการร้านขายของแอนทีกเก่าแก่แห่งย่านเจริญกรุงของครอบครัวอรรถการวงศ์ (Lek Gallery) ที่เริ่มจากการไม่รู้ว่าการเปิดแกลเลอรีจะต้องทำอะไร และอย่างไร จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของวงการออกแบบในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ แฟชั่น หรือแม้แต่วิถีชีวิตที่เปรียบเสมือนงานศิลปะของชีวิตเราทุกคน 

 

เริ่มต้นเปิดแกลเลอรีด้วยการที่ไม่รู้จักใครในวงการ และไม่รู้ว่าต้องทำอะไร และอย่างไร

เดือนแรกของการทำ ATT 19 มุกยังไม่รู้จักใครในเมืองไทย เพราะเพิ่งกลับมาจากนิวยอร์กได้ 4 เดือน ไม่รู้จักใครเลยก็ไปเดินดูงานที่บางทีเขาก็ไม่ได้เชิญเราด้วยนะ เพราะเขาไม่รู้จักเรา แต่เรารู้ว่ามีงานเปิด เราไปเพราะอยากไปดูอยากไปเรียนรู้ มุกก็เคยเป็นคนนั้น แล้วก็เคยเป็นคนที่พอบอกคนว่ามาจาก ATT 19 แกลเลอรีที่เพิ่งเปิด เขาก็มองเหมือนกับว่าเราต้องเป็นเด็กจากที่ไหนก็ไม่รู้ เหมือนดูถูกเราทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเจอในช่วงแรกๆ ที่ไม่มีใครพูดถึงเรา ไม่มีใครรู้จักเรา 

 

มุกเข้าวงการด้วยสถานะที่ไม่รู้จักใครเลย และเราเลือกเดินเข้าไปเอง 

มันต่างกันเยอะมากจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ที่เราก็ยังมีคิดว่าสิ่งที่เราทำเราทำถูกหรือเปล่า แต่เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ เพราะเราก็ยังมีความ Impostor Syndrome คือรู้สึกไม่ดีพอกับสิ่งที่เราทำ แต่เราก็ต้องมีความเชื่อในตัวเองมากพอที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หรือการที่เราเปิดกว้างและยอมรับในความแตกต่างของพื้นฐานแต่ละคน ไม่ว่าคนชมงานหรือคนที่ได้แสดง คนก็เลยเปิดใจรับงานศิลปะมากยิ่งขึ้น 

 

มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์

มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์

 

การเติบโตของแกลเลอรีตลอดระยะเวลาเพียง 3 ปี จากแกลเลอรีน้องใหม่สู่หนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ตกใจนะ ต้องขอบคุณคุณพ่อเพราะเขาทำพื้นที่ออกมาได้สวยมาก ตอนบูรณะ ATT 19 คุณพ่อมานั่งอยู่ในพื้นที่ทุกเช้า แสงธรรมชาติถึงดี เพราะเขารู้ว่าจะต้องกั้นตรงไหนเปิดตรงไหน เป็นความละเอียดละอ่อนของทุกคน และต้องยอมรับว่า ATT 19 อาจจะไม่ได้มาถึงจุดนี้ถ้าเราไม่ได้เป็นตึกเก่า ไม่ได้มีการบูรณะมาจนสวย ซึ่งตรงนั้นช่วยได้เกิน 50% ที่เหลือก็เป็นงานมุกแล้วว่าจะใส่หรือตกแต่งอย่างไร ใส่ความหมายอะไรเข้าไป สำหรับมุกจะพูดตลอดว่างานเราไม่ได้ยากขนาดนั้นเพราะพื้นที่เราสวย แต่มันก็แอบยากตรงที่ไม่สามารถจัดแสดงงานได้เหมือนแกลเลอรีที่ขาวโล่งแล้วใส่อะไรก็สวย เพราะมีมิติ ท้องฟ้า ต้นไม้ ที่ต้องหยิบมาเล่นด้วย อย่างงานของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ เขาก็ไม่ได้มีแสดงบ่อยและไม่ใช่ว่าจัดที่ไหนก็ได้ เพราะเขาต้องการพื้นที่ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และผลิตผลงานขึ้นมาเพื่อที่นี่โดยเฉพาะ แล้วเราก็รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้จัดแสดงงานของอาจารย์ 

 

ถามว่ารู้สึกโตขึ้นไหม ก็ใช่นะ เพราะมีความกดดันที่เพิ่มขึ้น มีการทำอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยทำ ศิลปินรุ่นใหญ่ที่เราได้จัดแสดงงานเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีความติดดิน และมีความเข้าใจใน Intentions ของเรา ที่อยากเป็นพื้นที่ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้วย ทำให้เขาไม่มีการกดดันหรือคาดหวังกับเราว่าต้องทำยอดเท่านี้ หรือขายให้หมดเพราะเขาเข้าใจว่าเราทำทั้งหมดคนเดียว ไม่ได้มีทีมงาน มุกวิ่งอยู่คนเดียวทุกอย่าง การที่ศิลปินรู้สึกภูมิใจที่ได้มาโชว์ที่นี่เราก็ภูมิใจด้วยเช่นกัน

 

เพราะความเชื่อที่ว่า ‘Art is for everyone’ ที่มีทั้งใช่และไม่ใช่

มุกไม่ได้บอกว่าเราเป็นจุดเปลี่ยน แต่ก็รู้สึกว่าเราเปลี่ยนอะไรไปได้บ้าง ด้วยความที่การเสพศิลปะเปลี่ยนไป คนกล้ามากขึ้น ที่เห็นและได้สัมผัสด้วยตัวเองจากการที่ต้องอยู่หน้างานตลอด เวลาได้เจอคนหรือคุยกับใครก็ต้องรับฟังเพราะอยากที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา 

 

เพราะมุกไม่ได้มาสายนี้ตรง แต่ว่าเราอยากทำทุกอย่าง อยากที่จะสร้างตัวตนและจุดยืนให้ตัวเอง จนพี่ๆ ในวงการที่เขาเห็นมุกอยู่ในแกลเลอรีตลอด ก็ไปช่วยพูดต่อกันกับสิ่งที่เราทำอยู่ ทำให้รู้สึกว่าการยอมรับจากคนกลุ่มนี้ที่เขาอยู่ในวงการมานานถือว่ามีความหมายมาก เพราะว่าการยอมรับจากผู้ชมก็อีกแบบ เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่ต้อนรับทุกคนอยู่แล้ว ถ้าลูกค้ารักหรือคนชมงานชอบก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นความรู้สึกอีกแบบเวลาคนที่อยู่ในวงการมานานชมว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นสิ่งที่ดี 

 

เราเหมือนช่วยให้คนไม่เกร็งกับงานศิลปะ สิ่งที่พูดมาตลอดแต่ก็ยังเชื่ออยู่ว่า ถ้าสามารถทำแบบนี้ต่อไปได้ Landscape ของศิลปะก็จะเปลี่ยนไป เราพูดถึงทุกคนที่ควรจะมีโอกาสได้เห็น ได้สัมผัสกับงานศิลปะ อย่างคำพูดว่า “Art is for everyone” มันก็ใช่แต่มันก็ไม่ใช่ แล้วแต่มุมมองของคนว่าคุณคิดว่าศิลปะคืออะไร 

 

สำหรับมุกศิลปะคือวิถีชีวิต คือความสวยงามที่ไม่ใช่ว่าต้องไขว่คว้าเพื่อที่จะมี ไม่ว่าคุณจะมีเงินน้อยหรือมากทุกอย่างก็เป็นศิลปะได้หมด อยู่ที่คุณจะเห็นความแตกต่างของคนที่อาจจะมีเงินน้อย แต่เขาก็ยังเลือกที่จะวาดอะไรเองแล้วเอาเทปแปะบนผนัง เพราะเขารู้สึกว่าแบบนั้นยังดีกว่าที่จะต้องอยู่ในสภาพที่ไร้จิตวิญญาณ สำหรับมุกไม่ใช่เรื่องของเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า แต่คือเรื่องของชีวิตและทุกอย่างที่คุณสัมผัส ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกแบบนั้น

 

ATT 19 แกลเลอรีที่ดัดแปลงจากอาคารโรงเรียนสอนภาษาจีนอาทรศึกษา 

ภาพ: ATT 19 

 

แกลเลอรีที่แสดงงานศิลปะที่ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่รวมถึงการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับผู้ชม

ถ้ามาที่ ATT 19 แล้วได้สัมผัสกับความรู้สึกหรือแรงบันดาลใจจากข้าวของที่เห็น เสื้อผ้าที่ห้อยไว้ ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องซื้อ แต่แค่เห็นว่าแกลเลอรีวางของวินเทจ แสดงว่าวินเทจคือของที่คูลหรือเปล่า หรือมีแต่ของคราฟต์แสดงว่าอันนี้มันดีหรือเปล่า เป็นแค่การนำเสนอวิถีชีวิตที่รู้สึกว่าไฮไลต์ในโลกที่กำลังเปลี่ยน แล้วแกลเลอรีมีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง เป็นเหมือนความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่เราสามารถเป็นซัพพลายให้ได้โดยที่ไม่ต้องไปสอนคนโดยตรง แต่ว่าแค่แนะนำและนำเสนออีกทางเลือกของการเรียนรู้ 

 

จะไม่โทษและจะไม่เอาแต่ติกับระบบการศึกษาทั้งหมด เพราะว่าไม่สามารถเปลี่ยนได้เลยวันนี้ ถ้าจะลุกขึ้นเปลี่ยนอะไรก็ต้องทำเอง แต่ว่าเราก็ไม่ใช่ครูดังนั้นเลยเหมือนว่าเราแค่ทำในสิ่งที่เราทำได้ 

 

การจัดวางงานศิลปะของเราเลยไม่ใช่แค่ความสวย แต่ว่าตั้งใจให้ความรู้คนวงกว้างแบบเนียนๆ มาตลอด เพราะเราเห็นว่าเปลี่ยนได้จริงๆ จากการที่เห็นคนเดิมๆ กลับมา เขาก็โตขึ้นแล้วเราก็โตขึ้นไปพร้อมกับเขา เราอาจจะเป็นแกลเลอรีที่ดูผู้ชมของเราจริงๆ ได้สัมผัสกับเขาด้วยความที่มุกเป็นคนคุยเองด้วย เลยได้เห็นเขามาตลอดจากการที่เขามาที่นี่ ทำให้ได้เห็นถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวของเขาด้วย 

 

งานที่จัดแสดงที่ ATT 19 ก็เลยมีความ Personal เพราะเรารู้ว่าคนควรเห็นอะไร รู้ว่าตอนนี้คนจะรู้จักอย่างไร รู้ว่าเขาเศร้าหรือเหนื่อยกับตอนที่โควิดล็อกดาวน์แล้วเราควรจะทำอย่างไร เราแคร์ตรงนั้นมากมากกว่าการที่จะจัดนิทรรศการไปเรื่อยๆ บางงานถ้าเราเลื่อนมาก่อนได้มุกก็จะทำ เพราะเรารู้สึกว่าแบบนั้นมันดีกว่า ไม่ใช่ว่าช่วงนี้คนเศร้ามากเราก็จัดนิทรรศการที่เศร้าขึ้นไปอีก คือมันอาจจะไม่เหมาะกับคนของเรา อย่างที่บอกว่าเรามีนิทรรศการที่อาจจะไม่ได้มีแต่บายเออร์มา เราเป็นนิทรรศการที่คนทุกคนมา ไม่ใช่ว่าแค่ตั้งใจจะมาซื้อ ก็เลยเป็นเหมือนการสะท้อนทุกอย่างออกมาทั้งจากผู้ชมและสถานที่ของเรา

 

นิทรรศการ ปั้นดิน เขียนรูป ในบ้าน โดย สมลักษณ์ ปันติบุญ 

ภาพ: Charoenkrung Creative District

 

“ทำทุกอย่างด้วยใจ ทำเพื่อชุมชน ก่อนที่เราจะคิดว่าเราจะทำเงินอย่างไร” 

ฟังแล้วอาจจะดูเป็นแม่พระ แต่สำหรับมุก ATT 19 หรือทุกอย่างที่เราทำ เราก็แค่ทำด้วยใจ ทำทุกอย่างเพื่อคนก่อนเงินแล้วถึงออกมาเป็นแบบนี้ได้ เราเคยพูดไปใน TEDx (ความไม่รู้ กับการคืนคุณค่าสู่เจริญกรุง | Porntip Attakanwong | TEDxCharoenkrung) ว่า “ทำทุกอย่างด้วยใจ ทำเพื่อชุมชนก่อน ก่อนที่เราจะคิดว่าเราจะทำเงินอย่างไร” แล้วเดี๋ยวคนก็สนใจเองว่าเราทำอะไร ทางด้านเรื่องมาร์เก็ตติ้งมุกก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากดูแลอินสตาแกรมอยู่คนเดียว ทั้งของ ATT 19 และ Cocoon มุกรู้สึกว่าถ้าเขาสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของเรา เขาก็จะเข้าใจว่าถ้ามีอะไรที่ผิดพลาดไปบ้างเขาบอกเราได้ เราก็จะรีบพยายามเปลี่ยนแปลงปรับปรุงทันที 

 

เพราะเราอาจจะไม่ได้เหมือนแกลเลอรีอื่นที่มีระบบทั้งการจัดการสถานที่และงานศิลปะ เราไม่มีและยังคงไม่มีอีกนาน เพราะไม่ใช่เรื่องที่มุกถนัดและต้องสร้างทุกอย่างอีกเยอะมากกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ แต่มุกรู้สึกว่าถ้าเราคงความเป็นธุรกิจครอบครัวไว้แบบนี้ คงความเป็นเราไว้แบบนี้คือดีที่สุดแล้ว 

 

คนจะพูดว่าเป็น “สไตล์ ATT 19” บ่อยจนกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นภาพเหมือนกัน และเราก็รู้สึกว่ากลายเป็นเอกลักษณ์ของเราไปแล้ว กับสถานที่ที่มีความอบอุ่น มีของเก่าผสมของใหม่ การที่มีชีวิตในพื้นที่

 

Floral Print Workshop ภาพ: ATT 19 

 

พื้นที่ศิลปะที่เต็มไปด้วยชีวิตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

เหมือนกับว่าเอาเลือดกับเนื้อเรามาทำ คืออย่างที่บอกว่าตอนแรกเราไม่รู้แรงตอบรับจะเป็นอย่างไร เราก็แค่รู้ว่าวันเปิดจะต้องเป็นวันนั้น เพราะว่าเราให้พื้นที่กับ TCDC ณ ตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไร แล้วก็ยังไม่รู้เลยว่าพื้นที่ของเราจะเปิดโอกาสให้ใครได้อะไรมากขนาดไหน 

 

ด้วยความที่ธุรกิจของคุณพ่อคุณแม่ (Lek Gallery) จะอยู่ในรูปแบบของ Appointment Only แล้วก็ไม่ได้เปิดรับคนทั่วไป เพราะว่ามันเป็นไอเท็มเฉพาะกลุ่มสำหรับนักสะสม ที่เขารู้อยู่แล้วว่าต้องการอะไร ไม่ได้มีคนเข้าๆ ออกๆ เหมือนที่นี่ ตอนนั้นทุกคนไม่รู้ว่าที่นี่จะออกมาเป็นรูปแบบไหน แต่คิดว่าอาจจะเป็นโมเดลคล้ายๆ  Lek Gallery ที่มีคนเฉพาะกลุ่มมากๆ มา ส่วนตัวเราก็เพิ่งจบมาจากแฟชั่นแล้วก็ยังไม่เคยทำตรงนี้ 

 

พอเปิดวันแรกเราก็เจอศิษย์เก่าของโรงเรียนอาทรศึกษา หรือหลายๆ คนที่มุกไม่คิดว่าจะเจอหรือมาคุยกับเราด้วยซ้ำ ทำให้เริ่มรู้สึกไ้ด้ว่าชีวิตเปลี่ยนของจริง เพราะมุกไม่เคยรู้เลยว่าพื้นที่ตรงนี้ยังมีคนที่ผูกพันที่เคยมีความทรงจำกับที่ตรงนี้ เพราะเรารู้จักแค่เหล่าซือที่ท่านเสียไปหนึ่งเดือนก่อนที่แกลเลอรีจะเปิด แต่ก็ได้เจอศิษย์เก่าที่เดินเข้ามาขอบคุณเราที่ยังเก็บสถานที่ไว้ แล้วก็ร้องไห้กันทั้งคู่เพราะว่าเขาเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ เคยวิ่งเล่นอยู่ตรงนี้ ตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่าแกลเลอรีที่เราจะเปิดมันสามารถทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ เหมือนมี Emotional Attachment มากับสถานที่ อันดับแรกทำให้พื้นที่เราไม่เหมือนคนอื่น เพราะว่าไม่ได้มีสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่มีเรื่องราว ความผูกพันทางความรู้สึก และประวัติศาสตร์มาด้วย 

 

พอสักพักคนก็เริ่มสงสัยว่าที่นี่คืออะไร เพราะตอนเราเปิดตัวเราเปิดด้วยงานที่เข้าถึงกลุ่มคนได้กว้าง ถ้าสมมติมุกเปิดตัวอีกแบบเป็น Gallery Opening เชิญแขกเชิญสื่อมามันก็คงเป็นอีกแบบ ด้วยวิธีที่เราเปิดตัว เราเปิดแบบเป็นสปอนเซอร์สถานที่แล้วให้ Bangkok Design Week เข้ามาใช้งานเลย ซึ่งคนก็เข้ามาเยอะมาก จนปีนั้นเป็นที่ที่มีคนเข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับสอง ทั้งที่ตอนนั้นคนยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน มาอย่างไร แต่คนก็ยังมากัน ทำให้เราเห็นว่ามีคนหลายแบบที่สนใจกับที่ตรงนี้ 

 

มุกอาจจะไม่ได้มาสายศิลปะแบบ Fine Art แต่เรามีครีเอทีฟด้านอื่นด้วย แล้วก็รู้สึกว่าทำไมไม่ชูทุกอย่างไปด้วยกันเลย เลยเป็นเหมือนว่ามุกเอา Personality ของตัวเองใส่เข้าไปในพื้นที่เยอะมาก จนแยกไม่ออกแล้วทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เยอะขนาดนั้น เพราะไม่มีใครรู้จักเราอยู่แล้ว มีแต่เพื่อนแค่ไม่กี่คนที่เพิ่งมามีตอนกลับมา 

 

จนมาถึงจุดหนึ่งที่กลายเป็นว่าทุกคนคาดหวังว่ามา ATT 19 แล้วต้องเจอมุก เหมือนสุดท้ายแล้วแค่ทำในสิ่งที่รู้ว่าทำได้ในแบบของมุก ATT 19 ก็เลยกลายเป็นแบบนั้น เพราะไม่มีเงินจ้างพีอาร์ จ้างทีมงาน หรือจ้างอะไรเพิ่ม ก็เลยทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้แต่แล้วก็เวิร์ก เพราะคนที่มาไม่ว่าจะศิลปินหรือคนดูรู้ว่าคุยกับเราได้ ซึ่งมุกก็ภูมิใจที่จะทำสิ่งนี้อยู่แล้ว พอคนเห็นสิ่งที่เรานำเสนอใน ATT 19 เขาก็เริ่มสนใจในตัวเรา ซึ่งสำหรับมุกเลยทำให้เราสามารถเป็นกระบอกเสียงให้คนหลายคนได้ เพราะว่าถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่มีความเฉพาะตัวสูงติดตามเรา แต่ทุกคนก็ถือว่าเชื่อในการเลือก และมุมมองของเราไม่ว่าจะเรื่องงานศิลปะ แฟชั่น หรืออาหาร จนตอนนี้วิถีชีวิตของเรากับ ATT 19 เหมือนจะแยกไม่ออกแล้ว



แกลเลอรีที่เปิดรับทุกความแตกต่างของทุกคน และขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์ของการเป็นเด็กที่ถูกพูดว่าเป็น ‘ตัวประหลาด’

มุกก็ไม่รู้ตัวว่าได้ทำอะไรไปขนาดไหน จนในวันที่มีเด็กๆ มาขอบคุณก็เพิ่งจะรู้ตัวว่ามุกมีส่วนรวมกับหลายสิ่งเหมือนกัน ทุกคนสามารถมาที่นี่ได้หมดไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไร เขารู้สึกสบายใจที่จะมา แล้วนั่นคือสิ่งเดียวที่เราต้องการในวงการที่มีการ Exclude คนบางกลุ่ม หรือทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกผิดที่เขาไม่เข้าใจศิลปะ ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับที่มุกเจอตอนเข้าวงการมาใหม่ๆ แต่มุกเจอคนน่ารักมากมายที่ใจดีกับเราและพร้อมต้อนรับเรา ทั้งที่ตอนนั้นมุกใหม่มาก เป็นใครก็ไม่รู้มาเปิดแกลเลอรี ดูเป็นคนที่แปลกออกไปเหมือนเป็นเด็กที่มีจุดยืนของตัวเองแต่ไม่มีเพื่อน เป็นเด็กที่เหมือนเราตอนเด็กๆ เป็นความรู้สึกที่เมื่อก่อนเราเคยเป็นเด็กคนนั้นที่ถักนิตติ้งที่โรงเรียนแล้วก็มีคนมาบอกว่า “ทำอะไรอะ ประหลาด” เคยเย็บตุ๊กตา คนก็ว่าเป็นเด็กประหลาด แค่ไม่ได้อยากกระโดดยางเหมือนคนอื่น มุกเลยเข้าใจทุกอย่างในวันที่มีคนยอมรับเราเยอะ วันนี้ที่มุกเลือกจะไปออสเตรเลียทั้งที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยเพราะอยากหนีจากตรงนั้น 

 

ATT 19 เลยเป็นทุกอย่างที่ทำจากประสบการณ์ที่มุกเคยเจอ มุกไม่อยากให้ต้องมีเด็กคนนั้นอีกแล้ว สิ่งที่เราสามารถมอบให้ได้ที่นี่คือความอบอุ่น ความเข้าใจในความเรียบง่ายที่สามารถถามได้ ไม่มีการตัดสิน ซึ่งเราทำได้แล้วเราเลือกที่จะทำที่นี่ มุกแค่อยากให้พื้นที่ทุกคนที่อาจจะเป็นใครบางคนได้ในอนาคต หลายอย่างทำให้คิดได้ว่าสิ่งที่มุกทำค่อนข้างมาจากสิ่งที่เคยเจอมา ไม่ว่าจะเป็นระบบหรือวิธีการซัพพอร์ตศิลปินของเรา ที่มุกอาจจะจ่ายเงินให้ได้ไม่มากมายเท่าไร แต่เราก็ไม่ได้บังคับว่าคุณจะต้องทำอะไรหรือเซ็นเซอร์อะไรคุณ มุกแค่อยากจะช่วยแต่เราอาจจะไม่ได้มีเงินซัพพอร์ตตรงนั้น แต่สิ่งที่เราซัพพอร์ตได้นั้นมากกว่าเงิน คือการให้พื้นที่คน โดยที่ไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทน

 

แล้วมุกเจอคนที่ให้สิ่งนี้กับมุกมาก่อน ความใจดีของคนทั้งที่มุกไม่ได้เป็นใครเลย เป็นคนที่แค่อยากทำงานที่อยากทำ แค่อยากให้มีคนช่วยแล้วคนก็ช่วย ก็คิดว่าถ้าทำแบบนั้นคืนได้กับทุกสิ่งที่เคยเจอมาก็จะทำ 

 

เหมือนคนอาจจะถามว่าแพลนชีวิตอย่างไร หรือแพลนสำหรับ ATT 19 ก็จะตอบแบบงงๆ ว่าไม่รู้ เพราะว่าเราทำด้วยจิตใจแล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ทำที่อยากทำ เวลาเจอศิลปินใหม่ๆ ก็เก็บไว้ในคลังของเรา พอมีนิทรรศการที่เหมาะก็จะเรียกเขามา เพราะเรารู้สึกว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับโอกาสเหมือนกับที่มุกเคยได้รับมา

 

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ #CRAFTSWOMANSHIP ภาพ: ATT 19 

 

การเป็นกระบอกเสียงให้กับคนในวงการสร้างสรรค์ ที่ตามมาด้วยการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

เป็นเหมือนการเริ่มต้นจากความไม่รู้ และพยายามทำให้รู้ของมุกเอง เพราะทำคนเดียวแล้วก็ไม่รู้วิธีว่าต้องทำอย่างไร ทุกวันนี้มุกยังอีเมลหาทุกคนเอง เพราะรู้ว่าถ้าจะเข้าถึงคนจะต้องทำอย่างไร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มุกทำตั้งแต่สมัยเรียนแฟชั่นที่นิวยอร์ก (Parsons School of Design) ถึงได้ลงแมกกาซีน มีสปอนเซอร์ เพราะว่ามุกทำแล้วผลักดันตัวเองออกไป แล้วสุดท้ายก็มีคนช่วยแค่เพราะอีเมลไปหาเขา มุกก็เลยรู้คุณค่าของการสนับสนุนคน เพราะว่าเคยเป็นคนนั้นที่อยู่ดีๆ คนก็ให้พื้นที่โชว์งานทั้งคืน มีบริษัทแอลกอฮอล์เอาเครื่องดื่มมาให้ เพราะเขาอาจจะประทับใจกับสิ่งที่มุกทำ คือได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น และความรู้สึกของสิ่งเหล่านั้น โดยที่ตอนนั้นเขาไม่ต้องช่วยมุกก็ได้ เพราะมุกเป็นใครก็ไม่รู้ เป็นเด็กที่เพิ่งเรียนจบเอง ไม่มีโปรไฟล์สวยงาม ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง เขาไม่จำเป็นต้องช่วยมุกเลย ก็เลยรู้สึกว่าถ้ามุกเป็นคนนั้นได้ที่นี่ก็จะทำ เหมือนทุกอย่างเกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว คนที่เคยดีกับเรา แล้วเราก็อยากส่งต่อ 

 

แกลเลอรีเหมือนเป็นเกราะให้มุก มุกเลยรักที่นี่มาก เพราะว่ากรองแต่คนดีๆ มาให้ กรองแต่คนที่ชอบและเข้าใจอะไรเหมือนกัน แล้วก็ให้กำลังใจกันและกันไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้า หรือบางคนที่กลายเป็นมาทำงานร่วมงานกัน แกลเลอรีทำหน้าที่เป็นเหมือนเซฟสเปซของมุก ที่เราอยู่แล้วเรารู้สึกปลอดภัย เรารู้สึกว่าคนที่จะเดินเข้ามาเขาเข้าใจความตั้งใจของเราแล้ว อย่างโชน (โชน ปุยเปีย) เราก็มาเจอจนสนิทกัน ซึ่งเขาทำทุกอย่างที่ถ้ามุกเป็นดีไซเนอร์ก็คงทำเหมือนกัน ทั้งมีสตูดิโอเอง เปิดเฮาส์เอง ไม่ได้ทำรันเวย์ เป็นรูปแบบธุรกิจที่คิดไว้ แต่มุกรู้สึกว่าเขาทำได้ดีกว่า ก็เลยรู้สึกว่าคนนี้แหละที่จะเป็นดีไซเนอร์หน้าใหม่ของเมืองไทย แม้ว่าคนอาจจะไม่ได้เข้าใจงานของโชนในกลุ่มคนจำนวนมาก เพราะมีความ Sophisticated and Craft Focused เป็นการทำมือทุกกระบวนการ ช่วงแรกๆ เราสองคนก็ไม่ได้ลงสื่ออะไรเยอะ แต่ว่าก็จะอยู่ด้วยกันตลอด ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เราช่วยเหลือกัน ถ้ามุกมีโอกาสได้สัมภาษณ์หรือถ่ายงาน จะพบว่ามุกเลือกใส่ โชน ปุนเปีย เสมอ

 

บีมกับกอล์ฟ (บีม-อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม, ศุภกร บัวเรือน) จาก IWANNABANGKOK© ก็เจอในอินสตาแกรมจนได้ทำนิทรรศการด้วยกัน แล้วก็มีแบรนด์รุ่นน้องหลายๆ คนที่เพิ่งเริ่มทำ ซึ่งบางคนแบรนด์เล็กมาก แต่ทำเอง ลงพื้นที่เอง มุกเต็มใจมากๆ เวลาที่เห็นเป็นแบรนด์ Thai Made เป็นอะไรที่สนับสนุนชุมชน เพราะคิดว่าถ้าเป็นมุกก็คงทำเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปถึงจุดนั้น ถ้าเราสนับสนุนได้เราก็จะทำ

 

การตกแต่งภายในโรงแรม Cocoon ที่มุกดูแลอยู่ 

 

ตัดสินใจทิ้งทุกอย่างที่นิวยอร์ก และกลับมาเมืองไทยด้วยความไม่รู้ว่า ATT 19 จะไปทิศทางไหน เพียงแต่กลับมาเพื่อทำหน้าที่ของลูก

ชีวิตก็คงจะไปได้หลายทางในนิวยอร์ก แต่คงเป็นวงจรชีวิตที่ไม่สนุกแล้ว พ่อกับแม่โทรมาทีไรก็จะเห็นเรานั่งอยู่ในออฟฟิศ ข้างหลังก็เป็นกองผ้าเยอะๆ เห็นเราตาห้อยตาดำทุกวันแล้วก็กินแต่อะไรไม่รู้จากกล่อง เขาก็เริ่มเป็นห่วง แต่มุกอยู่ในช่วงที่คิดว่า เขาเลี้ยงมุกมา ส่งมาเรียนตั้งนานก็อยากจะพิสูจน์ตัวเองกับสิ่งที่เรียนจบมามันมีคุณค่า ก็เลยหางานแล้วทำงานหนักมาก เพื่อที่จะให้เขารู้ว่าอยู่ได้ไม่ต้องส่งเงินมา แต่ก็เป็นเพราะความประสาทของตัวเอง คิดว่าทำได้อยากให้เขาเห็นว่ามุกก็เก่ง ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยคาดหวังอะไรกับมุกเลย

 

ช่วงนั้นทำงาน 4 งาน ฟรีแลนซ์วิ่งไปวิ่งมา วันนี้วิ่งไปเป็น Embroidery Designer ให้แบรนด์หนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็วิ่งไปช่วยทำ In-house Sketch ที่ Opening Ceremony แล้วก็ทำเสื้อผ้าให้เซเลบริตี้ เสร็จแล้วก็ไปเป็น Stylist Assistant ที่ Narciso Rodriguez ที่ไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากแต่งชุดให้นางแบบ พอนางแบบเป็นลมทีมุกก็ต้องหาอาหารมาให้ เราทำงานหลายแบบมากตั้งแต่ลักชัวรี ทำเสื้อผ้าคอสตูมให้ดารา แล้วอยู่ดีๆ ก็มาเช็ดเท้าให้นางแบบ ปีแรกมุกทำงานทุกอย่างจริงๆ เพื่อที่จะอยู่ได้ จนมาได้งาน Runway Production Cordinator ที่ Jason Wu ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสี่งานแรกมาประกบกันเป็นงานเดียวเลย เพราะว่าความรับผิดชอบที่นี่เยอะกว่ามาก ถ้าสมมติไม่มีของฟิตติ้ง ถ้าเย็บผิด ของเสร็จจากโรงงานไม่ทัน ถ้าชุดนี้ไม่อยู่บนรันเวย์ ก็คือมุกคนนี้ที่ต้องรับผิดชอบคนเดียว แล้วเราก็เครียดมาก ไม่มีเวลาโทรหาพ่อกับแม่ ที่ทำให้เราเครียด และมาได้ผู้ช่วยที่ได้เงินเท่ากับเรา แต่ทำงานไม่ได้เลยก็ยิ่งทำให้เราเครียดไปอีก 

 

คิดว่าถ้าเป็นดีไซเนอร์ต่อไปงานที่ทำก็อาจจะไม่ได้พามาอยู่จุดที่อยู่ทุกวันนี้ ตอนนั้นก็รับปากกับที่บ้านแล้วว่าจะกลับ แค่รีโนเวตให้เสร็จ เสร็จตอนไหนก็กลับมา มุกคิดว่าถ้าอยู่ต่อเราก็คงประสบความสำเร็จในอีกแบบหนึ่ง เพราะเราเป็นคนทำงานหนัก ชอบในการทำงาน แล้วมุกรู้ตัวว่าสิ่งที่ทำด้วยความทุ่มเทมีคุณค่าขนาดไหน แล้วก็รู้ตัวเองด้วยว่า ถ้ากลับมาก็คงจะมีโอกาสอื่นๆ มีซัพพอร์ตจากพ่อแม่และพี่น้องที่คงไม่มีในฐานะเด็กไทยที่อยู่คนเดียวในเมืองนอก

 

ตอนที่กลับมาก็ยังไม่รู้หรอกว่า ATT 19 จะเป็นอะไร มุกแค่รู้สึกว่าหน้าที่ในตอนนั้นคือหน้าที่ของการเป็นลูกมากกว่า เพราะมุกไปเมืองนอกตั้งแต่ ป.6 พ่อแม่ให้อะไรมุกมาครึ่งชีวิตแล้ว ถ้าเขาขอให้กลับก็จะกลับ คิดว่าอาจจะทำหน้าที่ลูกได้ไม่ดีพอถ้าเราไม่กลับตอนนี้ก็เลยเลือกที่จะกลับมา

FYI
  • นอกจากนิทรรศศิลปะแล้ว ATT 19 ยังมีของวินเทจทั้งแบบของตกแต่งชิ้นเล็กๆ ไปถึงเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ที่หากคุณถูกใจชิ้นไหนในแกลเลอรี สามารถซื้อกลับบ้านได้ทันที
  • ATT 19 ได้ขยายธุรกิจสู่ Cocoon ที่เหมือนการต่อยอดทั้งแนวคิดและการตกแต่งในรูปแบบของโรงแรม ปัจจุบันเปิดให้เข้าพักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในอนาคตจะมีการนำเสนอเวิร์กช็อปด้านศิลปะที่นี่ด้วย

 

มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X