เพียงหนึ่งวันหลังจากปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนแผ่นดินใหญ่ หนึ่งในสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกอย่าง Moody’s ก็หั่นเครดิตความน่าเชื่อถือของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 ธันวาคม) จากระดับมี ‘เสถียรภาพ’ (Stable) ไปสู่ระดับ ‘ติดลบ’ (Negative)
ทั้งนี้ Moody’s ให้เหตุผลของการหั่นเครดิตความน่าเชื่อถือของฮ่องกงในครั้งนี้ว่า เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ฮ่องกงเข้าไปโอบอุ้ม (Bail Out) รัฐบาลท้องถิ่นจีนและบรรดารัฐวิสาหกิจจีน เพื่อควบคุมวิกฤตการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อนย้ำว่าการหั่นเครดิตฮ่องกงครั้งนี้ยังเป็นภาพสะท้อนถึงการประเมินความเชื่อมโยงทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเงินที่แน่นแฟ้นระหว่างฮ่องกงและจีน
Moody’s ชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอในจีนแผ่นดินใหญ่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกง ในขณะที่การเติบโตที่อ่อนแอในฮ่องกงอาจกัดกร่อนบัฟเฟอร์ทางการคลังของฮ่องกงเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มองต่างมุม เปิดเหตุผลทำไมทางการจีนไม่เห็นด้วย! หลัง Moody’s หั่นอันดับเครดิตจีนครั้งแรกในรอบ 6 ปี
- วิเคราะห์ท่าที Fitch และ S&P เห็นด้วยหรือไม่? หลัง Moody’s หั่นแนวโน้มอันดับเครดิตจีนครั้งแรกในรอบ 6 ปี:
- “เศรษฐกิจปีหน้ายังคงเปราะบาง ความหวังอาจอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยว” กกร. คาด GDP ปี 67 โตอยู่ในกรอบ 2.8-3.3% เหตุโลก Recession ไทยยังเผชิญหนี้ท่วม
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลฮ่องกงได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีลงเหลือ 3.2% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ช่วงการเติบโตไว้ที่ 4-5%
นอกจากหั่นเครดิตฮ่องกงแล้ว Moody’s ยังหั่นเครดิตของมาเก๊าจาก Stable เป็น Negative ด้วยเช่นกัน
ด้านรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจดังกล่าวของ Moody’s โดยชี้ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่ลึกซึ้งและขยายตัวมากขึ้นของฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ควรเป็นข้อจำกัดด้านอันดับเครดิต “ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นแหล่งความเข้มแข็งสำหรับการพัฒนาระยะยาวของฮ่องกง”
รัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงเชื่อมั่นว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงเป็นกลไกสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างน้อย 5% ในปีนี้ ซึ่งแซงหน้าเศรษฐกิจอื่นๆ อีกมากมาย ขณะเดียวกันก็ระบุว่า Moody’s อ้างอิงหลักฐานที่ไม่มีมูลความจริงในการหั่นเครดิตเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (NSL) ของจีน ซึ่งทางการฮ่องกงย้ำว่าจีนยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนหนึ่งประเทศ สองระบบในระยะยาว ซึ่งถือเป็นจุดแข็งหลักของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน นอกจากจำนวนบริษัทต่างชาติในฮ่องกงยังคงทรงตัวที่ประมาณ 9,000 แห่งแล้ว เงินฝากในระบบธนาคารของฮ่องกงยังคงอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งสูงกว่าก่อนการดำเนินการตามกรอบดังกล่าวประมาณ 10% ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจของฮ่องกง
อ้างอิง: