×

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง แผนที่และองค์ความรู้คือสิ่งที่สังคมไทยยังขาดแคลน

12.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • บทเรียนแรกที่เราควรได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ การต้องเร่งสำรวจและทำแผนที่ถ้ำอย่างเป็นระบบ โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยามาเป็นแกนหลัก เพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
  • เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคสื่อในยุคปัจจุบันมีพลังในการตรวจสอบสื่อมากกว่าในอดีต เมื่อสื่อถูกจับตา คนทำสื่อจึงต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น และทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ

ระยะเวลา 17 วัน ระหว่างภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตในถ้ำหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีเหตุการณ์และความทรงจำต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

 

 

เราได้เห็นความช่วยเหลือที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ทั้งจากคนไทยจำนวนมาก รวมถึงความช่วยเหลือจากนานาชาติที่ต่างคนต่างระดมทรัพยากร และความรู้ ความสามารถที่ตัวเองมีมาใช้ในภารกิจครั้งนี้ โดยไม่มีใครมุ่งหวังสิ่งตอบแทน

 

เราได้เห็นกำลังใจจากคนไทยทั่วประเทศ และคนทั่วโลกที่ต่างลุ้นและเอาใจช่วยให้ทั้ง 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวงอย่างปลอดภัย เพื่อกลับสู่อ้อมอกของครอบครัว และใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

 

เราได้เห็นภาวะความเป็นผู้นำ การบริหารจัดการเหตุการณ์อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน จนทำให้การทำงานที่ระดมผู้คนจากหลายภาคส่วนมีประสิทธิภาพอย่างน่าชื่นชม

 

แต่ในอีกด้านของเหตุการณ์นี้ก็ยังมีบทเรียนอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้เช่นกัน และนี่คือบทเรียนบางส่วนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ที่คนไทยควรได้เรียนรู้

 

 

แผนที่และองค์ความรู้คือสิ่งที่สังคมไทยยังขาดแคลน

ย้อนกลับไปในช่วงที่เหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ๆ ถ้ำหลวงเป็นเหมือนพื้นที่ปริศนาที่แทบไม่เคยมีใครกล้ำกรายเข้าไปมาก่อน ข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำแห่งนี้จึงมีปรากฏให้เห็นน้อยมาก ต้องอาศัยคำบอกเล่าจากคนที่เคยเข้าไปสำรวจถ้ำมาแล้ว รวมถึงแผนที่แบบง่ายๆ พอให้เห็นแผนผังคร่าวๆ ภายในถ้ำ ซึ่งอาจไม่ตรงกับความซับซ้อนทางธรรมชาติที่แท้จริง

 

ผศ.ดร. สมบัติ อยู่เมือง อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้การกู้ภัยในช่วงแรกทำได้อย่างยากลำบาก เป็นเพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับถ้ำต่างๆ ในประเทศไทยที่เพียงพอ

 

“ลองสังเกตการนำเสนอข่าวในช่วงแรกๆ จะเห็นว่า ทุกสำนักข่าวในประเทศพยายามไปทำแบบจำลองถ้ำกันเอง ผลที่ออกมาคือ ภาพกราฟิกง่ายๆ ที่ต่างจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก เพราะทุกคนใช้จินตนาการกันไปเองโดยไม่ได้มีการลงรายละเอียด หาข้อมูล ค้นคว้า หรือศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของถ้ำให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ จึงทำให้การสื่อสารในช่วงแรกๆ ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จนกระทั่งช่วงหลังๆ ถึงค่อยๆ ดีขึ้น เพราะเริ่มมีข้อมูลมากขึ้น และทุกคนจึงเริ่มสื่อสารออกไปในทิศทางเดียวกัน”

 

นอกจากจะทำให้การสื่อสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ผิดเพี้ยนไปแล้ว การขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการค้นหาทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต ในช่วงแรกด้วย เนื่องจากตอนแรกๆ จะเห็นได้ว่า ทีมกู้ภัยแทบไม่มีข้อมูลว่าเด็กๆ จะอยู่ตรงไหนภายในถ้ำได้บ้าง เพราะไม่มีแผนที่ถ้ำที่ละเอียด จนกลายเป็นว่าทีมนักดำน้ำต้องพยายามงมหาทางไปเรื่อยๆ เพื่อกำหนดพิกัด วางเชือก และสุดท้ายก็พบตัวทั้ง 13 คนในที่สุด

 

 

ดังนั้น ในมุมมองของนักธรณีวิทยาบทเรียนแรกที่เราควรได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ การต้องเร่งสำรวจ และทำแผนที่ถ้ำอย่างเป็นระบบ โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยามาเป็นแกนหลัก เพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

“ผมถามหน่อยว่า ถ้ำที่มีลำน้ำทะลุภูเขา มีน้ำขังในฤดูฝนแบบนี้มีอีกเยอะไหม มีใครตอบผมได้บ้าง ที่ผ่านมาเราเคยมีแผนที่ถ้ำละเอียดๆ ที่จะเอาไปช่วยกู้ภัยเมื่อเกิดปัญหา รวมถึงบอกเขตบอกโซนว่าเข้าไปได้แค่ไหน เราเคยมีไหม ไม่มีแน่นอน เพราะไม่มีใครสนใจว่าจำเป็นต้องทำขนาดนั้น ใครอยากจะเที่ยวก็เข้าไปเที่ยว แต่เหตุการณ์นี้ทำให้รู้แล้วว่า เมื่อเกิดอันตรายขึ้นมามันสาหัสขนาดไหน นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เราต้องเรียนรู้”

 

 

มากกว่าบทเรียนการกู้ภัย คือบทเรียนการป้องกันภัย

แน่นอนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นกรณีศึกษาการกู้ภัยที่ยากลำบากกรณีหนึ่งของโลกไปเรียบร้อยแล้ว เพราะนอกจากจะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญหัวกะทิจากหลากหลายสาขา ทั้งการดำน้ำ ขุดเจาะถ้ำ และบุคลากรทางการแพทย์ หลายคนยังชื่นชมการปฏิบัติการครั้งนี้ที่มีความรัดกุม รอบคอบ และมีแนวทางที่ชัดเจน จนสามารถนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาหากเกิดภัยพิบัติในครั้งต่อๆ ไป

 

แต่ผศ.ดร. สมบัติให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากเรื่องการค้นหาและการกู้ภัยแล้ว สิ่งที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ การป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ด้วยการเร่งสำรวจถ้ำ ทำแผนที่ถ้ำอย่างละเอียดโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจถ้ำ

 

ตั้งแต่โถงทางเข้าถ้ำ ภาพกราฟิก ภาพแผนที่ พิกัด แสงสว่างนำทาง พร้อมระบุอย่างชัดเจนว่า ถ้ำแห่งนี้สามารถเข้าไปได้ถึงระดับไหน จุดไหนเป็นจุดที่อันตราย หากเป็นคนทั่วไปควรจะเข้าไปลึกสุดแค่ไหน หากลึกกว่านั้นต้องมีคนนำทางหรือไม่ หรือจุดไหนที่ห้ามเข้าในฤดูฝน ตั้งแต่ช่วงเดือนไหนถึงเดือนไหน หากจะเข้าไปต้องใช้อุปกรณ์จำเป็นอะไรบ้าง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเกิดกรณีที่มีคนพยายามท้าทายเข้าไปสำรวจถ้ำด้วยตัวเองโดยไม่มีข้อมูลใดๆ มาสนับสนุน

 

 

นอกจากนี้การเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ยังเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้คนในสังคมได้เรียนรู้ มีข้อมูลการเอาตัวรอดที่จำเป็นเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับตัวเอง

 

“หลายคนอาจคิดว่า เรื่องนี้ฉันไม่เกี่ยว เพราะฉันไม่ได้เจอด้วยตัวเอง แต่ถามว่าเวลาคุณไปเจอจริงๆ แล้วคุณจะทำอย่างไร ถ้าคุณไม่มีความรู้อะไรเลย คุณก็เอาตัวรอดไม่ได้ กรณีนี้โชคดีที่เด็กๆ และโค้ชเขามีความรู้ในการเอาตัวรอด มีการเตรียมแบ่งอาหาร นั่งสมาธิเพื่อลดการใช้พลังงาน นี่คือความรู้ที่เขามี เขาไม่ได้รอดมาได้เพราะปาฏิหาริย์แน่นอน แต่รอดได้เพราะเขามีความรู้ในการจัดการ เพราะฉะนั้นเราเองก็ต้องเป็นสังคมของการเรียนรู้ เข้าใจแบบผิวเผินไม่ได้ ฉาบฉวยไม่ได้ สนุกๆ ก็ไม่ได้”

 

 

ผศ.ดร. สมบัติให้ความเห็นว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้องควรจะเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องเน้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำไปใช้ได้จริง ที่สำคัญต้องอ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าเน้นแค่ความเร็ว และยอดไลก์ ซึ่งไม่มีประโยชน์กับสังคมแม้แต่น้อย

 

“การแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจรรยาบรรณของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่กับนักข่าวเท่านั้น ผมไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ พอจบลงแล้วก็ลืมกันไป แล้วคนก็ไปตื่นเต้นกันเรื่องอื่น เป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง ไหนๆ กรณีนี้ก็เป็นกรณีศึกษาของโลกแล้ว เราควรจะเรียนรู้จากมันให้มากกว่านี้

 

 

สังคมตรวจสอบสื่อ สื่อต้องตรวจสอบตัวเอง

ตลอดระยะเวลา 17 วัน นอกจากความเคลื่อนไหวของทีมปฏิบัติการช่วยเหลือ และทีมกู้ภัยที่เร่งทำงานแข่งกับเวลา เพื่อนำตัวทั้ง 13 คน ออกมาอย่างปลอดภัย อีกความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองคือ การตรวจสอบอย่างเข้มข้นของสังคมที่มีต่อการทำงานของสื่อมวลชน

 

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่าเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคสื่อในยุคปัจจุบันมีพลังในการตรวจสอบสื่อมากกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ผู้บริโภคสื่อสามารถแสดงความคิดเห็นได้แบบเรียลไทม์ หากเห็นการนำเสนอข่าวที่ผิดพลาดก็สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านคอมเมนต์ บันทึกภาพหน้าจอ และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อได้แบบเรียลไทม์

 

อีกเหตุผลเป็นเพราะกรณีนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับเยาวชน ซึ่งทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่มีการเผยแพร่มีความอ่อนไหว เมื่อคนเสพสื่อรู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์ และรู้สึกว่าทีมหมูป่าคือคนในครอบครัว การตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลที่กระทบกระเทือนกับความรู้สึกจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีบทเรียนที่คนเสพสื่อควรได้เรียนรู้เช่นกัน โดยเฉพาะการแยกแยะบทบาทการทำงานของสื่อสารมวลชนมืออาชีพและสื่อมือสมัครเล่น ที่นับวันเส้นแบ่งจะยิ่งเลือนลางจนแทบจะแยกกันไม่ออก

 

 

ดร.มานะเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของสื่อมืออาชีพ เป็นเหมือนนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่จำเป็นต้องเล่นตามกฎกติกาหรือจริยธรรมทางวิชาชีพอย่างเคร่งครัด ขณะที่สื่อสมัครเล่นเปรียบได้กับนักฟุตบอลข้างถนนที่ไม่จำเป็นต้องสนใจกฎเกณฑ์ใดๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ สื่อมืออาชีพหลายรายกระโดดลงไปเล่นบอลข้างถนน เพราะเห็นว่ามีคนดูเยอะกว่า จึงเป็นการลดความน่าเชื่อถือของตัวเอง จนถึงวันหนึ่งจะทำให้ประชาชนแยกไม่ออกว่าสื่อไหนเป็นสื่อมืออาชีพกันแน่

 

เพราะฉะนั้นคนทำสื่อจึงต้องวางตัวให้ชัด โดยยึดตามกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันคนเสพข่าวเองก็ต้องแยกสื่อทั้งสองประเภทให้ออก อีกทั้งยังต้องสนับสนุนสื่อดี และไม่แชร์หรือสนับสนุนสื่อที่มีปัญหา

 

 

เสรีภาพสื่อไม่ใช่ข้ออ้างในการแหกกฎ

อีกประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากคือ พฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลของสื่อ ที่สื่อหลายสำนักต่างแย่งชิงกันรายงานเหตุการณ์ให้รวดเร็ว และพยายามเกาะติดทุกความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดที่สุด โดยมีรางวัลคือเรตติ้ง ยอดไลก์ ยอดแชร์ แต่หลงลืมว่า อาจเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

 

ในช่วงแรกๆ ของเหตุการณ์ มีสื่อมวลชนจำนวนมาก ทั้งสื่อมืออาชีพ สื่อสมัครเล่น สื่อต่างประเทศกว่า 800 ราย พยายามเกาะติดรายงานข่าวเหตุการณ์อยู่หน้าพื้นที่ถ้ำหลวง จนเกิดเป็นความวุ่นวายและรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ จนภายหลังเริ่มมีการจัดระเบียบให้ลงทะเบียนสื่อ กั้นพื้นที่สำหรับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และมีการส่งข่าวจากส่วนกลางผ่านการแถลงของผู้บัญชาการเหตุการณ์เพียงคนเดียว อีกทั้งยังมีการตั้งกฎกติกาในการทำข่าวจนทำให้ความวุ่นวายลดน้อยลงไป

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความพยายามในการแหกกฎในหลากหลายรูปแบบจนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์สื่อไทยบนโลกออนไลน์ โดยบางสำนักข่าวอ้างว่า สื่อต้องมีอิสระในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้รับรู้

 

 

ดร.มานะให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนไม่สามารถอ้างเสรีภาพในการนำเสนอข่าวได้เสมอไป โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต

 

“ในสถานการณ์ปกติ สื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวได้เต็มที่ ถ้าภาครัฐปิดบังข้อมูล คุณมีหน้าที่ในการสืบสวน เจาะข่าว เพื่อนำเสนอความจริงที่เกิดขึ้น แต่กรณีเช่นนี้คือภาวะไม่ปกติ เป็นภาวะเสี่ยงภัยพิบัติ การนำเสนอข่าวคราวนี้วัตถุประสงค์นอกจากการรายงานข่าวแล้ว คือการที่ต้องสนับสนุนภารกิจให้ทั้ง 13 คน ออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย และอาจจะนำเสนอเพื่อดึงความร่วมมือจากต่างประเทศ ระดมการช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ก่อให้เกิดปัญหาในการช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นถ้าเขาวางกรอบการทำงานก็ควรจะยึดตามนั้น เพราะคนที่ช่วยเขาก็หวังอย่างยิ่งว่าจะทำงานให้ดีที่สุด

 

“เคยมีกรณีเกิดขึ้นที่มีการจับตัวประกันและถ่ายทอดสด นักข่าวแข่งกันรายงาน สรุปมีคนตายเยอะมาก เพราะไปรายงานว่า หน่วยคอมมานโดกำลังโรยตัวลงมาแล้ว คนนี้รอดชีวิตอยู่ตรงนี้ คือในบางสถานการณ์โดยเฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉิน สื่อควรจะยึดกฎกติกาที่เขาวางไว้ ถ้าหลังจากนี้จะไปสืบค้นต่อว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลก็ทำได้เต็มที่ คือต้องรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร” ดร.มานะให้ความเห็น

 

นอกเหนือไปจากบทเรียนดังกล่าวแล้ว ยังมีแง่คิดอีกหลากหลายแง่มุมที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ เช่น บทเรียนทางวิทยาศาสตร์และการเอาตัวรอด จากเวที เสวนาพิเศษ ‘Science Cafe ตอน ถอดบทเรียนวิทยาศาสตร์ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน’ หรือรายละเอียดเชิงลึกของการกู้ภัยตลอด 17 วันที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการกู้ภัยในอนาคต และอีกหลายบทเรียนที่น่าจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้

 

ในเมื่อกรณีนี้กลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลก แต่เกิดขึ้นในผืนแผ่นดินประเทศไทยของเราเอง คงน่าเสียดายหากเรื่องราวจากถ้ำหลวงจะเหลือทิ้งไว้แค่ความทรงจำ โดยที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X