วันนี้ (30 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ. ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร กรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
มณเฑียรกล่าวว่า ในการก่อสร้างหลักๆ มีอยู่ 3 เรื่อง คือ เรื่องการจ้างบริษัทออกแบบ เรื่องการจ้างบริษัทก่อสร้าง ในวงเงินที่ดำเนินการ 2.1 พันล้านบาท และการก่อสร้างดำเนินไปทั้งหมด 22 งวด เป็นเงิน 966 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 เป็นสัญญาหลัก คือสัญญาจ้างผู้ควบคุมงานคือบริษัท PKW เพราะฉะนั้นประเด็นที่มีอยู่ตอนนี้คือ เรื่องการออกแบบ ที่มีคนบอกว่าการออกแบบไม่มีการเซ็นรับรอง
โดยวันนี้ได้นำเอกสาร มาให้ทางกรรมาธิการได้ดูว่าเราได้ถามไปยังบริษัทผู้ออกแบบแล้ว ซึ่งทางบริษัทผู้ออกแบบได้ยืนยันว่า บุคคลที่เซ็นรับรองยังทำงานอยู่กับบริษัทที่ออกแบบอยู่ ส่วนเรื่องการจ้างควบคุมงาน ให้ทางบริษัท ยืนยันว่ายังเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทอยู่หรือไม่ ก่อนอื่นต้องชี้แจงให้ตรงกันว่า บุคคลที่อ้างว่าไม่ได้เซ็นในการควบคุมงานนั้น มีวิศวกรอยู่ 2 ประเภท คือ วิศวกรที่ปรึกษากับวิศวกรที่ควบคุมงาน เพราะฉะนั้นวิศวกรที่ควบคุมงานก็ต้องมาคุมงาน แต่วิศวกรที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องมาควบคุมงานแต่ต้องรับรองเอกสาร
“สำหรับบุคคลที่เป็นข่าวอยู่นั้นคือวิศวกรที่ปรึกษา เพราะฉะนั้นการที่วิศวกรที่ปรึกษาไม่ต้องมาคุมงาน แต่เอกสารที่จะเซ็นรับในฐานะบริษัท ที่เป็นผู้คุมงานที่เราจ้างมา ต้องผ่านการรับรอง ของวิศวกรที่มี วอย. (วุฒิวิศวกรโยธา) ในส่วนของข้อมูลทั้งหมด ทั้งบริษัทผู้ออกแบบและบริษัทที่ปรึกษาก็ตาม ที่แจ้งรายชื่อวิศวกรมาให้เรา ในทางปฏิบัติถ้าจะมีการเปลี่ยนตัววิศวกรไม่ว่าจะบริษัทผู้ออกแบบหรือบริษัทที่ปรึกษาก็ตาม จะมีการทำหนังสือมาถึงเราว่าจะมีการขอเปลี่ยนตัว แต่ทั้งสองท่านที่เป็นข่าว ไม่มีเอกสารเปลี่ยนบุคคลแต่ประการใด” มณเฑียรกล่าว
มณเฑียรยังกล่าวว่า ข้อเท็จจริงในวันนี้ ดีใจที่ได้มาชี้แจงเพื่อที่จะได้ให้ข้อมูล ซึ่งพร้อมมอบข้อมูลทั้งหมดให้ทางกรรมาธิการ ดูตามขั้นตอน และพร้อมที่จะเปิดให้มีการตรวจสอบทั้งหมดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะของรัฐบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานสอบสวน และหน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบ
ส่วนบริษัทผู้ออกแบบได้รับทราบการแก้ไขและมีผู้เซ็นรับทราบจริงหรือไม่ มณเฑียรกล่าวว่า ยืนยันตามเอกสาร ในการก่อสร้าง การออกแบบ และตอนนั้นยังไม่มีตึก ฉะนั้นในการออกแบบเหมือนเราไปจ้างคนที่เราอยากได้บ้าน 3 ชั้นและมีฟังก์ชันต่างๆ เขาก็เขียนมาในแบบรวมครุภัณฑ์ในบ้าน 3 ชั้น จากนั้นเราก็ไปหาผู้รับจ้าง และเมื่อผู้รับจ้างมารับจ้างจริงในทางปกติตอนออกแบบเราไม่รู้ว่าสถานที่จริงเป็นอย่างไร เมื่อสร้างจริงก็มีการปรับแบบเป็นปกติของตึกขนาดใหญ่
นี่คือสิ่งที่ต้องมีการแก้ไขแบบอยู่แล้ว แต่แบบนั้นต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและวิศวกรรม ฉะนั้นของเราเมื่อเราจ้างคนออกแบบ และคนก่อสร้างเห็นว่าการก่อสร้างขัดกับแบบ หรือก่อสร้างแบบขัดต่อกฎหมายหรือก่อให้เกิดความเสียหาย เขาก็หยิบประเด็นนั้นขึ้นมาเสนอผ่านผู้ควบคุมงาน
เมื่อผู้ควบคุมงานเห็นว่าการทำงานจริงขัดต่อกฎหมายบ้าง หรือต้องปรับแบบบ้าง เขาไม่มีอำนาจตามกฎหมาย จึงต้องส่งไปให้คนออกแบบ บริษัทออกแบบจึงต้องเป็นคนมาดูว่าแบบที่ออกไว้ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อการทำงานจริง และขัดต่อหลักวิศวกรรม เขาก็ต้องแก้ไขพร้อมเซ็นรับรองกลับมา ของเราเมื่อเซ็นรับรองกลับมาในสัญญาเขียนเพิ่มเติมว่า ผู้คุมงานก็ต้องมาเซ็นรับรองด้วย
“ฉะนั้นวิศวกรขอผู้คุมงานต้องมารับรองให้เราด้วย ซึ่งเป็นสัญญาที่เราเขียนขึ้นมา และเมื่อรับรองเสร็จเราก็เห็นชอบให้ไปแก้ไขตามแบบตามที่ผู้ออกแบบดำเนินการปรับแก้ แล้วผู้ควบคุมงานรับรองมา ผู้ก่อสร้างก็เอาไปก่อสร้างตามแบบที่แก้ไข ซึ่งเป็นไปตามสัญญาและข้อกฎหมาย” มณเฑียรระบุ
มณเฑียรยังยืนยันว่า กรณีที่ สตง. ชี้แจงเรื่องปล่องลิฟต์ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ ส่วนวิศวกรที่ถูกระบุชื่อในการรับรองเป็นชื่อถูกแอบอ้างหรือไม่นั้น มณเฑียรกล่าวว่า เมื่อบริษัทดำเนินการเสนอชื่อมา จะเสนอชื่อและรายละเอียดของวิศวกรทั้งหมดว่าจะมีที่ปรึกษา ควบคุมงานกี่คน ซึ่งการควบคุมต้องแยกออกไปอีกว่าเป็นงานโครงสร้าง งานสถาปัตย์ เขาต้องมีการกำหนดแต่ละประเภทมา ฉะนั้น ถ้าเขาเปลี่ยนวิศวกรต้องแจ้งเรามา
“อย่างไรก็ตาม ชื่อของ สมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรผู้ควบคุมงาน ไม่เคยเปลี่ยน มีชื่อสมเกียรติแต่แรก และรับรองแต่แรก และไม่ใช่มีชื่ออย่างเดียว วิศวกรแต่ละคนต้องมีหนังสือยินยอมว่าจะมารับผิดชอบงานนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีหลักฐานวุฒิบัตร บัตรประจำตัวประชาชน และวันแรกเขาจะรับรองว่า เขาจะควบคุมงานก่อสร้างนี้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ และไม่มีเอกสารการเปลี่ยนแปลง เราต้องยึดตามเอกสารนี้ก่อน และการที่สมเกียรติบอกว่าไม่รับรู้ด้วย ก็ต้องไปดำเนินคดีกัน”
สำหรับข้อสงสัยในการแก้แบบและวัสดุต่างๆ ทาง สตง. มีการตรวจสอบแล้วหรือไม่นั้นว่าผิดพลาดตรงไหน มณเฑียรกล่าวว่า ตอนนี้เรามีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลเข้ามาตรวจสอบแล้ว ดังนั้น การตรวจสอบแบบกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนการตรวจสอบการก่อสร้างคณะกรรมการเข้าไปในพื้นที่แล้วจะเก็บตัวอย่างวัสดุออกมา เราจึงต้องรอผลในการดำเนินการ
“แต่ต้องยอมรับว่ามีการแก้ไขจริง แต่การแก้ไขนั้นมีผลกระทบขนาดไหนอย่างไร ขอเรียนว่าผลเป็นอย่างไร สตง. รับได้หมด ใครผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย”
ส่วนเรื่องฮั้วหรือนอมินี ทาง สตง. ได้ส่งเอกสารให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แล้ว แต่ DSI ตอนนี้กำลังสอบเอกชนอยู่ หลังจากนั้นน่าจะมาสอบเจ้าหน้าที่ของ สตง. เราก็พร้อมให้ความร่วมมือกับ DSI ตลอดเวลา และกำลังตรวจสอบถึงการเข้ามาร่วมรับจ้างก่อสร้างของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ด้วย
สื่อมวลชนถามว่า หากบริษัทคู่สัญญาทำผิด ไม่ว่าจะในส่วนการออกแบบ ควบคุมงาน หรือก่อสร้าง ทาง สตง. มีสิทธิฟ้องดำเนินคดีหรือไม่ มณเฑียรระบุว่า ทำตามกฎหมาย เพราะบริษัทก่อสร้างทำประกันไว้ คือบริษัทอิตาเลียนไทย ที่มีประกันตัวตึกกว่า 2.1 พันล้านบาท และประกันบุคคลที่สามอีกร้อยกว่าล้าน และประกันของอีกประมาณ 5 กว่าล้านบาท ถ้าเป็นความผิดของอิตาเลียนไทย ก็จะครอบคลุม แต่ถ้าเป็นเรื่องออกแบบแล้วอิตาเลียนไทยทำตามแบบ ก็จะมีปัญหาข้อกฎหมาย แต่ทั้งนี้ ใครทำผิด ไม่ว่าใครก็ตาม สตง. เป็นผู้เสียหาย ก็จะดำเนินคดีอาญาและแพ่งให้ถึงที่สุด
ส่วนในฐานะเจ้าของโครงการ จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร มณเฑียรกล่าวว่า เป็นความผิดของใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนที่มารับจ้างหรือข้าราชการ สตง. เราดำเนินคดีถึงที่สุด ทุกคนไม่เว้น
เมื่อถามว่ามีตัวแทนบริษัทอื่นอีกหรือไม่นอกจากไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 หรือไม่ เพราะมีการปรากฏภาพ 2 พ่อลูกคนจีน เข้ามาอยู่ในวันที่ลงนาม มณเฑียร กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น เพราะเพิ่งเข้ามาไม่ถึงปี แต่ตนจะไปตรวจสอบให้ เพราะตอบไปเดี๋ยวจะผิด และเท่าที่รู้ตอนนี้คนที่รับผิดชอบตามสัญญาคือบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10
มณเฑียรยังชี้แจงสรุปว่า สตง. เป็นองค์กรตรวจสอบ ไม่เอาความรู้สึก ไม่เอาข่าวทั้งหมด มาตรวจสอบเรา ต้องยึดตามกฎหมาย ตามระเบียบ ทุกอย่างเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเอกสาร เราจึงยินดีให้ความร่วมมือ กับคณะกรรมการตรวจสอบ และกมธ. ด้วยเอกสาร และระเบียบที่มีอยู่ทั้งหมด เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่ทุกอย่างจะต้องยืนอยู่บนฐานของความถูกต้อง
ส่วนจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบภายในเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ผู้ว่า สตง. กล่าวว่าต้องรอ 90 วัน ให้คณะกรรมาธิการดำเนินการ