วานนี้ (24 พฤษภาคม) สถาบันสุขภาพแห่งชาติดูตอร์ ริคาร์โด ฮอร์เก เผยว่าเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงที่ระบาดในโปรตุเกสเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงน้อยกว่าแบบเดียวกับที่พบในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก
ชูเอา เปาโล โกเมส หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศ สังกัดสำนักโรคติดเชื้อของสถาบันฯ เผยกับสำนักข่าว Lusa ของโปรตุเกสว่า ทีมวิจัยของเขาจัดลำดับข้อมูลทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงที่ระบาดในโปรตุเกสเสร็จแล้ว และพบว่า ‘ค่อนข้างเกี่ยวพันใกล้ชิดกับเชื้อไวรัสฯ จากไนจีเรีย’ ซึ่งตรวจพบเมื่อปี 2018 และ 2019 ในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร อิสราเอล และสิงคโปร์ ทว่ายังมีเชื้อไวรัสฯ อีกสายพันธุ์ที่รุนแรงมากกว่าที่ระบาดในภูมิภาคแอฟริกากลาง
“สำหรับทางทฤษฎี เชื้อไวรัสฯ มีวิวัฒนาการมากกว่าที่เราคาดไว้ ท้ายที่สุดแล้วเราจะได้เห็นว่าลักษณะทางพันธุกรรมเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับการระบาดที่มากขึ้น แต่ตอนนี้เราแค่ยังไม่รู้กันเท่านั้นเอง” โกเมสกล่าว
อย่างไรก็ดี โกเมสเรียกร้องนานาประเทศลงมือทำงานสกัดกั้นห่วงโซ่การระบาด เฝ้าระวังเข้มงวด และจัดการกรณีผู้ป่วยต้องสงสัยทั้งหมดอย่างรวดเร็ว แม้ขณะนี้จะ ‘ยังไม่มีเหตุผลให้ต้องกังวล’
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคพบได้ยาก ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง รวมถึงการสัมผัสเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอนปนเปื้อนเชื้อไวรัสฯ โดยขณะนี้โปรตุเกสพบผู้ป่วยโรคดังกล่าว 39 รายแล้ว ทั้งหมดมีอายุระหว่าง 27-61 ปี และส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 40 ปี
อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสะสม 131 ราย และผู้ป่วยต้องสงสัย 106 ราย ใน 19 ประเทศนอกแอฟริกา เมื่อนับถึงวานนี้ ตั้งแต่มีการตรวจพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว