บางคนอาจเคยได้ยินชื่อของงาน Money20/20 ที่กำลังจะจัดขึ้นที่ไทยระหว่างวันที่ 23-25 เมษายนนี้ และรับรู้มาว่านี่คืองาน FinTech ระดับโลก ซึ่งเคยจัดขึ้นในเมืองอย่างลาสเวกัส อัมสเตอร์ดัม และสิงคโปร์
THE STANDARD WEALTH มีโอกาสได้พูดคุยกับ Danny Levy, Senior Vice President of Money20/20 Asia หนึ่งในหัวเรือหลักของการจัดงานให้เกิดขึ้นที่ไทยในครั้งนี้ และได้สอบถามถึงงานที่กำลังจะจัดขึ้นว่ามีความพิเศษและแตกต่างออกไปจากงานแสดงหรือเสวนาด้าน FinTech อื่นๆ อย่างไร
Levy กล่าวว่า จุดเด่นของ Money20/20 คือเราไม่ใช่อีเวนต์ที่แค่เปิดพื้นที่ให้กับธุรกิจต่างๆ มาเจอกัน หรือแค่งานสัมมนาที่น่าเบื่อ สิ่งที่เราต้องการคือการสร้างความสนุกให้กับผู้ร่วมงานด้วยเนื้อหาที่นำเทรนด์ พร้อมกับการดึงธุรกิจที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก FinTech มารวมเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมจัดแสดงนวัตกรรมผ่านนิทรรศการ โชว์เคส หรือการสาธิตให้เห็นของจริง ขณะเดียวกันก็ยังเป็นงานที่ผู้ร่วมงานต่างจริงจังสำหรับการมองหาโอกาสทางธุรกิจ
โดยส่วนตัวผมเข้ามาร่วมทำงานกับ Money20/20 เมื่อเดือนมกราคม 2023 หลังจากที่มีประสบการณ์ในการจัดงานอีเวนต์ทางธุรกิจที่สิงคโปร์มา 10 ปี สิ่งที่ผมค้นพบว่าทำไมงาน Money20/20 ถึงแตกต่างไปจากงานทั่วไปประกอบไปด้วย 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่
- เนื้อหาบนเวทีและภายในงานที่ล้ำหน้า
โดยทั่วไปแล้วหากบริษัทต่างๆ อยากจะขึ้นพูดบนเวทีใดๆ ก็มักจะทำได้ด้วยการจ่ายเงินเป็นสปอนเซอร์ แต่สำหรับ Money20/20 ผู้ที่จะขึ้นพูดบนเวทีต้องเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมจริง ไม่ใช่เพียงแค่สามารถจ่ายเงินได้มากพอ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือการเปิดรับสมัครและเฟ้นหาผู้ที่จะมาขึ้นพูดบนเวทีที่สอดคล้องไปกับเนื้อหาที่วางไว้
เพราะฉะนั้นบนเวทีของ Money20/20 จะไม่มีการขึ้นไปพูดเพื่อขายสินค้าหรือบริการของตัวเอง แต่จะเป็นการพูดถึงเทรนด์ของอุตสาหกรรม สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นและเปลี่ยนเกมของอุตสาหกรรม หรือการประกาศสิ่งที่สำคัญจากฝั่งหน่วยงานกำกับ หรือการประกาศสิ่งสำคัญของบริษัทต่างๆ เป็นครั้งแรกบนเวทีนี้
- สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ
ผู้ที่มาร่วมงาน Money20/20 ล้วนแล้วแต่จริงจังอย่างมาก โดยเฉพาะการโฟกัสว่าจะทำอย่างไรเพื่อผลักดันให้ธุรกิจของตัวเองเติบโตต่อไป รวมทั้งการมองหาพันธมิตรและดีลธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งภายในงานเราได้เปิดพื้นที่เหล่านี้ไว้
สำหรับงานที่จัดขึ้นในยุโรปปีนี้ มีผู้เข้าร่วมงาน 8,000 คน มีการนัดพูดคุยกันถึง 18,000 ครั้ง ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการล็อกอินเข้าไปในแอปพลิเคชันของงาน และสามารถที่จะดูได้ว่ามีใครบ้างที่มาร่วมงานในครั้งนี้และขอนัดเพื่อพูดคุยกันได้
“สิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมากคือ อะไรคือสิ่งที่ผู้ร่วมงานจะได้รับกลับออกไปหลังโชว์จบลง ใครที่พวกเขาอยากจะสานสัมพันธ์ด้วย”
- ประสบการณ์ตรงจากการสัมผัสกับนวัตกรรมต่างๆ ภายในงาน
อย่างงานที่จัดขึ้นที่ลาสเวกัสเมื่อปี 2022 ภายในงานมีการจัดแสดงโดรนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Top Drone หรืออย่างในยุโรปก็มีการจัดแสดงหุ่นยนต์ยักษ์ที่เรียกว่า Money-Bot หรือมีพื้นที่ที่เรียกว่า Money Beach สำหรับงานที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ เราก็มีพื้นที่เหล่านี้ เช่น การแสดงนวัตกรรม VR เกมที่ผู้คนสามารถเข้าไปร่วมสนุก
“แน่นอนว่าผู้คนเข้ามาร่วมงานเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจ แต่เราเชื่อว่าธุรกิจจะเกิดได้ง่ายขึ้นเมื่อผู้คนกำลังรู้สึกสนุก”
Levy กล่าวต่อว่า งาน Money20/20 สามารถมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับการพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นศูนย์กลางด้าน Digital Transformation ของอาเซียน
“อย่างแรกคือเราสามารถเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing) จากการที่ Money20/20 ได้นำผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำ นักนวัตกรรม จากหลากหลายด้านในโลกของ FinTech มารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจและ SMEs ที่จะได้เรียนรู้จากผู้เล่นระดับโลก เช่น เรื่องของเทรนด์และความท้าทายที่บริษัทระดับโลกเหล่านี้ได้ก้าวผ่านมาก่อน ช่วยให้เราปลดล็อกธุรกิจของเราได้อย่างแท้จริง”
โดยงานในปีนี้จะมีผู้ร่วมงานที่เป็นระดับผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจราว 3,000 คน มีผู้ร่วมพูดบนเวทีกว่า 200 คน และมีสปอนเซอร์และผู้จัดแสดงนิทรรศการกว่า 200 ราย
ขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมงาน Money20/20 ยังมีโอกาสในการสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจภายในงาน ซึ่งผู้ร่วมงานสามารถล็อกอินเข้าไปในแอปของงาน และสามารถที่จะดูได้ว่ามีใครบ้างที่มาร่วมงานในครั้งนี้
“สิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมากคือ อะไรคือสิ่งที่ผู้ร่วมงานจะได้รับกลับออกไปหลังโชว์จบลง ใครที่พวกเขาอยากจะสานสัมพันธ์ด้วย”
จากการเป็นเจ้าภาพของไทยในครั้งนี้ “ผมหวังว่า Money20/20 จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการพัฒนาของไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการทรานส์ฟอร์มด้านดิจิทัลของอาเซียน”
สิ่งที่เราเห็นในเวลานี้คือรัฐบาลไทยพยายามผลักดันและยกระดับการเงินของประเทศอย่างมาก และมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น ระบบชำระเงินพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งกลายมาเป็นกรณีศึกษาให้กับหลายประเทศ ซึ่งงานในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในพื้นที่ให้กับธุรกิจไทยได้แสดงนวัตกรรมของตัวเองให้ทั่วโลกได้รับรู้