×

จาก ‘เหยียด’ สู่ ‘นิยม’ มนต์รักหนองผักกะแยง อีกบทพิสูจน์ความปังของพลังอีสานบนหน้าจอทีวีไทย

04.06.2021
  • LOADING...
มนต์รักหนองผักกะแยง

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ภาพจำของความเป็นอีสานสำหรับคนเมืองคือความแห้งแล้ง กันดาร และความเป็นอื่นจากการที่เคยเป็นพื้นที่อาณานิคมชาวลาวของสยามจนเกิดการด้อยค่าวัฒนธรรม คนอีสานมักถูกมองว่าตลก ใสซื่อ ยากจน ไร้การพัฒนา เป็นแรงงานอพยพ ซึ่งสื่อบันเทิงเองก็มักผลิตชุดความคิดนี้ผ่านตัวละครคาแรกเตอร์ซ้ำๆ ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้อีสานพัฒนาไปไกลมากแล้วก็ตาม 
  • ผู้เขียนชื่นชม มนต์รักหนองผักกะแยง ในแง่ของรายละเอียดที่สอดแทรกวัฒนธรรมอีสานอย่างการแผ่ข้าว งานบุญผะเหวด งานบุญซำฮะ หรือบุญเบิกบ้าน ฯลฯ รวมทั้งการเลือกนักแสดงที่มีสายเลือดอีสานจริงๆ ทำให้บทสนทนา ‘เข้าปาก’ มีศัพท์อีสานสายลึกอย่าง กะด้อกะเดี้ย ซิแตกหรือซะแตก ตาลิโตน ฯลฯ
  • ฉากการปอกผลไม้แบ่งกันกินแล้วเมาท์เรื่องชาวบ้าน ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นในละครทีวียุคปัจจุบัน รวมถึงฉากความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน ทำให้หนองกะแยงเป็นเหมือนดินแดนยูโทเปียอีสานไปโดยปริยาย อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่าภาพที่ดีเกินไปทำให้เป็นการ Romanticize (ทำให้เย้ายวนใจ) สังคมชนบท ซึ่งปัจจุบันปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว 

เรตติ้งดีวันดีคืนสำหรับ มนต์รักหนองผักกะแยง ละครค่ำทางช่อง 3 ที่เปิดตัวไปด้วยเลข 3 และทะยานขึ้นสู่หลัก 4 เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนในอีพีล่าสุดมียอดผู้ชมผ่านทางออนไลน์ถึง 2.9 แสนคน และติดอันดับ 2 เทรนด์ทวิตเตอร์ในช่วงที่ละครออกอากาศ ทำให้ละครค่ำช่อง 3 แตะฝั่งฝันเป็นเรื่องแรกในครึ่งปีแรกของปี 2564

 

ถ้าให้ลองวิเคราะห์ความสำเร็จของละครเรื่องนี้ก็น่าจะมาจากการเป็นละครเบาสมองในภาวะที่ผู้คนเครียดมามากพอแล้วจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งภาพท้องทุ่งเขียวๆ ก็ช่วยบรรเทาความโหยหาธรรมชาติในช่วงกักตัวของคนเมืองไปได้บ้าง ทำให้ละครเรื่องนี้คว้าเรตติ้งไปสูงถึง 6.91 ในกรุงเทพฯ และ 5.15 ในหัวเมืองใหญ่ แม้บทโทรทัศน์จะไม่ได้ซับซ้อน แต่ข้อดีคือการพูดถึงปัญหาการ ‘เหยียด’ ความเป็นอีสานแบบคนในอย่างตรงไปตรงมา ผ่านตัวละคร ธรากร หรือ บักเขียว (ณเดชน์ คูกิมิยะ) เด็กเรียนดี กีฬาเด่น จากหนุ่มจากบ้านหนองกะแยง แต่พอย้ายไปเรียนที่กรุงเทพฯ เขียวกลายเป็นไอ้บ้านนอก ไอ้ลาว เด็กอีสานพูดไทยไม่ชัด เป็นตัวตลกในโรงเรียน จนเขียวคิดโทษว่าเป็นความผิดยายที่เป็นคนอีสาน และไม่คิดกลับไปบ้านหนองกะแยงอีก แต่เพราะชีวิตที่ล้มเหลวในเมืองหลวง ทำให้เขาต้องกลับไปบ้านเกิด กลายเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในละคร

 

มนต์รักหนองผักกะแยง

 

ภาพจำของความเป็นอีสานสำหรับคนเมืองคือความแห้งแล้ง กันดาร และความเป็นอื่นจากการที่เคยเป็นพื้นที่อาณานิคมชาวลาวของสยามจนเกิดการด้อยค่าวัฒนธรรม คนอีสานมักถูกมองว่าตลก ใสซื่อ ยากจน ไร้การพัฒนา เป็นแรงงานอพยพ ซึ่งสื่อบันเทิงเองก็มักผลิตชุดความคิดนี้ผ่านตัวละครคาแรกเตอร์ซ้ำๆ ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้อีสานพัฒนาไปไกลมากแล้วก็ตาม 

 

การเคลื่อนย้ายของแรงงานอีสานไปยังภูมิภาคต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมอีสานค่อยๆ ซึมซาบไปทุกพื้นที่ จนเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แมสที่สุด เมื่อเทียบกับวัฒนธรรมของภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งประชากรชาวอีสานคือประชากรกลุ่มใหญ่ ทำให้ความบันเทิงแบบ ‘อีสาน’ เป็นที่ยอมรับในวงกว้างแบบคนทั่งประเทศดูรู้เรื่อง ฟังเข้าใจ อย่างที่เราได้ชมหนังและละครเป็นภาษาอีสานแทบทั้งเรื่อง ในขณะที่ภาษาถิ่นของภาคอื่นๆ อาจจะทำไม่ได้แบบนี้ 

 

มนต์รักหนองผักกะแยง

มนต์รักหนองผักกะแยง

 

ปี 2561 เรียกว่าเป็นปีทองของหนังอีสาน จากความสำเร็จของหนังเรื่อง ไทบ้าน เดอะซีรีส์ หนังตลกเบาสมองฉายภาพความเป็นอีสานยุคใหม่ที่ ‘โดนใจ’ ลูกอีสานและลามไปถึงคนในภูมิภาคอื่นๆ จนกลายเป็นสร้างภาคต่อเป็นจักรวาลไทบ้านในปีต่อๆ มา ตามมาด้วย ฮักแพง ผู้สาวขาเลาะ เดอะอินดี้มูฟวี่ และ นาคี 2 ซึ่งเรื่องหลังนี้ทำรายได้ถึง 400 ล้านบาทในยุคที่อุตสาหกรรมหนังไทยซบเซา ในขณะหน้าจอทีวี ละครอีสานทำสถิติกระตุกเรตติ้งได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น คุณชายตำระเบิด ทางช่อง 7 ละครสูตรสำเร็จเล่าเรื่องพ่อค้าส้มตำถูกหวย ความแปลกแยกเมื่อย้ายเข้ามาสู่เมืองใหญ่ และการกลับไปใช้ชีวิตพอเพียงในที่สุด ส่วนช่อง One31 ก็มี มงกุฎดอกหญ้า เรื่องราวการสู้ชีวิตในเมืองหลวงสอดแทรกเพลงอีสานจากนักร้องชื่อดังและนางฟ้าลำแคน ที่ว่าด้วยเรื่องดราม่าผ่านวัฒนธรรมบันเทิงพื้นบ้านของอีสาน และ สูตรรักแซ่บอีหลี เรื่องรักกุ๊กกิ๊กระหว่างการต่อสู้กอบกู้ธุรกิจน้ำปลาร้า ในขณะที่ช่อง 3 บทบาทของนางเอกคาแรกเตอร์อีสานจากละครเรื่อง สาวใช้คนใหม่ เทพธิดาปลาร้า และ สะใภ้เจ้าสัว ก็คว้าเรตติ้งระดับโอเคนัมเบอร์วันกู้หน้าให้กับทางสถานีมาได้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งละครอีสานของทุกช่องออกมาในแนวตัวละครอันเดอร์ด็อกแทบทั้งสิ้น 

 

มนต์รักหนองผักกะแยง

 

กลับมาที่ มนต์รักหนองผักกะแยง ผู้เขียนชื่นชมในแง่ของรายละเอียดที่สอดแทรกวัฒนธรรมอีสานอย่างการส่ายข้าว (การแผ่ข้าวเหนียวหลังนึ่งเสร็จใหม่ๆ) งานบุญผะเหวด งานบุญซำฮะ หรือ บุญเบิกบ้าน ฯลฯ รวมทั้งการเลือกนักแสดงที่มีสายเลือดอีสานจริงๆ ทำให้บทสนทนา ‘เข้าปาก’ มีศัพท์อีสานสายลึกอย่างกะด้อกะเดี้ย (มากเกินไป ออกหน้าออกตา) ซิแตกหรือซะแตก (แดก) ตาลิโตน (น่าสงสาร) ฯลฯ ทำให้เรารู้จักความเป็นอีสานลึกกว่าที่เคย และเพิ่มอรรถรสความสมจริง ซึ่งเป็นแนวถนัดของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วจาก รอยไหม คุณชายรัชชานนท์ นาคี และ รากนครา 

 

มนต์รักหนองผักกะแยง

 

ในเรื่องผู้กำกับยังสร้างบรรยากาศความอบอุ่นในครอบครัวผ่านฉากการรวมตัวทำกิจกรรมในบ้านนอกเหนือจากการกินข้าว อย่างฉากการปอกผลไม้แบ่งกันกินแล้วเมาท์เรื่องชาวบ้านซึ่งไม่ค่อยได้เห็นในละครทีวียุคปัจจุบัน รวมถึงฉากความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน ทำให้หนองกะแยงเป็นเหมือนดินแดนยูโทเปียอีสานไปโดยปริยาย จุดนี้น่าจะตรงความตั้งใจของผู้กำกับที่อยากย้ำประเด็นที่ดีที่สุดคือ ‘บ้านของเรา’

 

อย่างไรก็ดีผู้เขียนคิดว่าภาพที่ดีเกินไปทำให้เป็นการ Romanticize (ทำให้เย้ายวนใจ) สังคมชนบท ซึ่งปัจจุบันปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว 

 

มนต์รักหนองผักกะแยง

มนต์รักหนองผักกะแยง

 

ถ้าลองเทียบบรรยากาศหมู่บ้านอีสานร่วมสมัยต้องยกให้ภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ที่แม้จะอยู่ในสังคมเกษตรกรรม แต่เทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ค่อยๆ สอดแทรกและผสมกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนโดยที่ก็ไม่ละทิ้งค่านิยมแบบเก่าๆ ลงไป ผู้เขียนค่อนข้างสะดุดแนวคิดของชมพู่ (โบว์-เมลดา สุศรี) ที่ปฏิเสธการเปิดคาเฟ่ของบักเขียวที่ไร่แบ่งฝันปันรัก ทั้งๆ ที่ธุรกิจนี้มันน่าจะไปได้ดีกับเกษตรอินทรีย์ด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่แปลกใหม่ ความเจริญ เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเสมอไป

 

โดยรวมแล้ว มนต์รักหนองผักกะแยง คือละครที่ดูสนุก ผ่อนคลาย และชุบชูใจความเป็นอีสานได้ดี ส่วนตอนจบจะทำให้เราได้เห็นความเป็นอีสานในรูปแบบใหม่ได้หรือไม่ ต้องมาลุ้นกัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X