×

ย้อนวันวานแห่งความฝันตลอด 32 ปีของ อาจารย์โมโมโกะ ซากุระ ผู้วาดหนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจัง

28.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • อาจารย์โมโมโกะ ซากุระ ผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง จิบิ มารุโกะจัง เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทรวงอกตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา
  • อาจารย์โมโมโกะเลือกใช้ชื่อของตัวเองเป็นตัวละครหลักในเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า จิบิ มารุโกะจัง ไม่ใช่แค่การ์ตูนทั่วไป แต่ยังหมายถึงบทบันทึกชีวิตวัยเด็กที่เธอกลับมามองตัวเองอีกครั้งด้วยความคิดที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยหยิบเอาเรื่องราวและแรงบันดาลใจจากคนใกล้ตัวและเหตุการณ์ทางสังคมยุคนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการเล่าเรื่อง
  • เวอร์ชันมังงะของ จิบิ มารุโกะจัง ถูกตีพิมพ์ออกมาทั้งหมด 16 เล่ม กลายเป็นการ์ตูนสำหรับผู้หญิงที่มียอดขายสูงสุดเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศญี่ปุ่น และถูกนำมาสร้างเป็นแอนิเมชันออกอากาศทางโทรทัศน์มาจนถึงปัจจุบันด้วยจำนวนมากกว่า 1,000 ตอน

ฝันแล้วก็จะอยากฝันอีก อยากชวนเธอไปเดินอยู่ในความฝันแล้วพากันไป
คิดแล้วก็หยิบเอาเสื้อใหม่ ใส่ที่ตัวสวยไป

แล้วก็ออกไปเดินเฉย ฝอยกันให้ฟุ้ง…

 

หลังจากเว็บไซต์หลักของ อาจารย์โมโมโกะ ซากุระ ประกาศข่าวการเสียชีวิตของนักเขียนการ์ตูนเรื่อง จิบิ มารุโกะจัง ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทรวงอกตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ความทรงจำครั้งแรกที่เราได้ยินเสียงร้องกับเนื้อเพลงอันแสนสดใสดังขึ้นมาอีกครั้ง

 

 

ในช่วงปี 1998 ที่การ์ตูนเด็กกำลังครองเมือง หนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจัง คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ในช่วงนั้นต้องรีบกลับบ้านหลังเลิกเรียนมานั่งหน้าจอโทรทัศน์เพื่อติดตามชีวิตของหนูน้อยกระโปรงแดงผมสั้น พร้อมๆ กับความป่วนของ ชินจังจอมแก่น และไหวพริบอันชาญฉลาดของ อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา อีกสองเรื่องฮิตที่ออกอากาศในเวลาไล่เลี่ยกัน

 

ในขณะที่ชีวิตของตัวละครชินจังและอิคคิวซังจะจบลงไปก่อนหน้านี้ แต่ผลงานของอาจารย์โมโมโกะที่เริ่มตีพิมพ์เวอร์ชันมังงะใน Ribon นิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงของสำนักพิมพ์ชูเอฉะตั้งแต่ปี 1986 ยังคงเดินหน้าสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับแฟนๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนานกว่า 32 ปี

 

อาจารย์โมโมโกะเลือกใช้ชื่อของตัวเองเป็นตัวละครหลักในเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า จิบิ มารุโกะจัง ไม่ใช่แค่การ์ตูนทั่วไป แต่ยังหมายถึงบทบันทึกชีวิตวัยเด็กที่เธอกลับมามองตัวเองอีกครั้งด้วยความคิดที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยหยิบเอาเรื่องราวและแรงบันดาลใจจากคนใกล้ตัวและเหตุการณ์ทางสังคมยุคนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการเล่าเรื่อง

 

เริ่มตั้งแต่สถานที่และช่วงเวลาในเรื่องที่อาจารย์โมโมโกะเลือกใช้บ้านเกิดอย่างเมืองชิซึโอกะมาเป็นพื้นหลัง และให้เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงปี 1974 ซึ่งตรงกับเวลาที่เธออายุ 9 ขวบ (เกิดวันที่ 8 พฤษภาคม 1965) เท่ากับมารุโกะจังพอดี

 

 

อย่างแรกที่ จิบิ มารุโกะจัง แสดงภาพชัดเจนที่สุดคือการบันทึกสถานะทางครอบครัวของคนญี่ปุ่นในช่วงกลางยุค 70s ผ่านครอบครัวซากุระที่ผู้ชายคือผู้นำครอบครัวที่ต้องออกไปทำงานหนัก เหมือนที่พ่อของมารุโกะต้องกลับมานั่งดื่มเบียร์เพื่อผ่อนคลายทุกครั้งหลังมาถึงบ้าน ส่วนแม่ของมารุโกะที่ไม่ต้องออกไปทำงานก็ต้องง่วนอยู่กับการทำงานบ้าน ทำให้เราแทบไม่ได้เห็นแม่ของมารุโกะปรากฏตัวที่อื่นนอกจากห้องครัว รวมไปถึงคุณปู่ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยเงินบำนาญหลังเกษียณและไม่เคยถูกคุณย่าดุ ถึงแม้ว่าความทะเล้นของคุณปู่อาจสร้างความเดือดร้อนตามมาอยู่หลายครั้ง

 

ส่วนมารุโกะคือตัวแทนของเด็กน้อยจอมขี้เกียจแต่ช่างฝัน โดยมีพี่สาวอย่างซากิโกะ เป็นขั้วตรงข้ามที่แสนฉลาดและเคร่งครัดในระเบียบวินัย ทำให้ทั้งคู่มีปากเสียงกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำของมารุโกะ (เหมือนที่อาจารย์โมโมโกะมีความฝันเป็นนักเขียนการ์ตูน ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ยังไม่มั่นคงเท่าไรนักในยุคนั้น) หรือนำด้วยตรรกะที่คิดมาอย่างเป็นดีของพี่สาว (ถึงจะช่างฝัน แต่อาจารย์โมโมโกะจริงจังและมีระเบียบวินัยในความฝันนั้นมาก) ล้วนไม่มีความผิด และเด็กๆ สองคนนี้ล่ะที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต

 

จะเห็นได้จากการที่อาจารย์โมโมโกะไม่เคยเขียนเรื่องในเชิงบังคับให้พี่น้องตระกูลซากุระ รวมทั้งตัวละครเด็กคนอื่นๆ ที่มีลักษณะนิสัยแตกต่างกันต้องฝืนใจทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ (อาจจะมีบ้างที่มารุโกะถูกดุเพราะชอบนอนมากเกินไป) แต่ใช้วิธีให้ทุกตัวละครค่อยๆ เรียนรู้ชีวิตผ่านสถานการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

เหมือนที่คุณย่าสอนเรื่องความอดทนผ่านการกระบวนการทำขนมโมจิไส้ถั่วแดงที่แสนพิถีพิถัน หรือการมองโลกในแง่บวกของคุณปู่ในขณะที่มารุโกะกำลังโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเพราะถูกล้อว่าเป็นครอบครัวซาลาเปา แต่คุณปู่กลับมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะครอบครัวซาลาเปาหมายถึงครอบครัวที่แสนอบอุ่นและนุ่มนวล ฯลฯ

 

บางครั้งก็สอดแทรกคำสอนเรื่องสำคัญให้กับคนในสังคมด้วยการมีฉากซ้อมรับมือกับภัยพิบัติที่น่าเบื่อหน่ายผ่านความโก๊ะอันแสนมีเสน่ห์ของมารุโกะจัง

 

 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ จิบิ มารุโกะจัง ไปไกลกว่าการ์ตูนเรื่องอื่นๆ คือการบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมช่วงกลางยุค 70s ที่เราจะได้เห็นทั้งของเล่น โฆษณา อาหาร รายการทีวี เพลง ไปจนถึงป๊อปไอคอนในยุคนั้นอย่าง มิจิรุ โจ นักแสดงและศิลปินเจป๊อปที่โด่งดังสุดๆ นักร้องสาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกาอย่าง ลินดา ยามาโมโตะ รวมทั้งขวัญใจของมารุโกะอย่าง โมโมเอะ ยามากุจิ ปรากฏตัวออกมาในเรื่องอยู่บ่อยครั้ง

 

นี่คือจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ จิบิ มารุโกะจัง ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็กๆ อย่างเดียว แต่เป็นการ์ตูนที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนหลงรัก เพราะเป็นเหมือนไทม์แมชชีนที่ช่วยย้อนภาพความทรงจำที่อาจหลงลืมไปแล้วให้กลับคืนมาอีกครั้ง

 

เวอร์ชันมังงะของ จิบิ มารุโกะจัง คว้ารางวัลการ์ตูนผู้หญิงยอดเยี่ยมจากการประกาศรางวัล Kodansha Manga Award ประจำปี 1989 ถูกตีพิมพ์ออกมาทั้งหมด 16 เล่ม แบ่งเป็นเล่มที่เล่าเรื่องตามปกติ 15 เล่ม และเล่มพิเศษที่เป็นการรวมภาพและเหตุการณ์ทั้งหมดอีก 1 เล่ม กลายเป็นการ์ตูนสำหรับผู้หญิงที่มียอดขายสูงสุดเป็นลำดับที่ 5 (รองจาก สาวแกร่งแรงเกินร้อย, หน้ากากแก้ว, คำสาปฟาโรห์, นานะ) สำหรับประเทศไทย สำนักพิมพ์ NED Comics ได้ซื้อลิขสิทธิ์เรื่อง จิบิ มารุโกะจัง เข้ามาแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ เด็กหญิงเป๋อแหวว จิบิมารุโกะจัง ในปี 1997

 

ในช่วงแรก ตามคอนเซปต์ของอาจารย์โมโมโกะที่ให้ จิบิ มารุโกะจัง เป็นหนังสือการ์ตูนที่แสดงถึงการมองชีวิตวัยเด็กด้วยสายตาของผู้ใหญ่ ทำให้หลายเรื่องที่มารุโกะต้องเจอเป็นปัญหาและความยากลำบากที่ผู้ใหญ่หลายคนต้องเผชิญไม่ต่างกัน แต่หลังจากที่ถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชันออกอากาศทางโทรทัศน์จนประสบความสำเร็จอย่างมากกับกลุ่มผู้ชมวัยเด็ก ทำให้อาจารย์โมโมโกะต้องปรับเปลี่ยนโดยลดเนื้อหาที่เข้มข้นลง แล้วชดเชยด้วยความอ่อนโยนและลายเส้นที่น่ารักมากขึ้นเข้ามาแทน

 

ถึงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับแฟนๆ ที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่อาจารย์โมโมโกะยอมเปลี่ยนเนื้อหาเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ จิบิ มารุโกะจัง สามารถสร้างเป็นแอนิเมชันได้อย่างยาวนานมาถึงปัจจุบัน ด้วยจำนวนเนื้อหาที่มีมากกว่า 1,000 ตอน และยังเป็นแอนิเมชันที่มีความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่ ซาซาเอะซัง (การ์ตูนโทรทัศน์ที่ออกอากาศนานที่สุดในโลกด้วยจำนวนมากกว่า 7,000 ตอน) เรื่องเดียวเท่านั้น

 

 

แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการประกาศทิศทางต่อไปของแอนิเมชัน จิบิ มารุโกะจัง ออกมาหลังจากอาจารย์โมโมโกะเสียชีวิต แต่เชื่อว่าความมีชีวิตชีวาที่เธอฝากเอาไว้ในตัวมารุโกะจังจะยังคอยย้ำเตือนให้หลายคนนึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุขได้ลุกขึ้นมา ‘เก็บฝัน’ ที่เคยหลงลืมขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนที่เนื้อเพลงประกอบเรื่องนี้เคยย้ำกับเราเอาไว้ตลอด 32 ปีที่ผ่านมา

 

…เก็บฝันให้ดี อย่าให้ฝันนั้นหนี เราไปได้

เดี๋ยวลืม ประเดี๋ยวลืม

แล้วจะเสียดาย…

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X