×

ผลการทดสอบเผย ยาต้านโควิดชนิดเม็ดโมลนูพิราเวียร์ ช่วยเร่งระยะเวลาพักฟื้นหลังติดเชื้อได้

23.12.2022
  • LOADING...

วันนี้ (23 ธันวาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานผลการทดสอบการใช้ยาต้านโควิดชนิดเม็ด ‘โมลนูพิราเวียร์’ (Molnupiravir) ในผู้ป่วยโควิดที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้วกว่า 25,000 ราย พบว่ายาเม็ดดังกล่าวมีส่วนช่วยเร่งระยะเวลาพักฟื้นหลังจากติดเชื้อโควิดได้ 

 

โดยผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อสายพันธ์ุโอมิครอนจะได้รับโมลนูพิราเวียร์วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 วัน ขณะที่พักฟื้นอยู่ที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตหรือเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายหลังจากการติดเชื้อ เนื่องจากเงื่อนไขด้านอายุหรือสภาวะสุขภาพพื้นฐาน 

 

ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดสอบนี้จะได้รับการเปรียบเทียบกับผู้ป่วยโควิดอีกกลุ่มหนึ่งที่รักษาตัวตามแนวทางมาตรฐาน โดยผลการทดสอบล่าสุดนี้บ่งชี้ว่า การรักษาด้วยโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้นได้ประมาณ 4 วัน ทั้งยังมีส่วนช่วยลดระดับการติดเชื้อหรือลดปริมาณไวรัสในร่างกายได้อีกด้วย

 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้โมลนูพิราเวียร์จะมีส่วนช่วยย่นระยะเวลาในการพักฟื้นได้จริง แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเดิมทีในการศึกษาขั้นต้นนั้น ยาโมลนูพิราเวียร์นี้เคยช่วยลดอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ดีในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิดมาก่อน

 

นอกจากนี้ ผลการทดสอบยังชี้ว่า ยาเม็ดต้านโควิดชนิดนี้อาจไม่เหมาะกับประชากรทั้งหมด แต่สามารถใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อระบบสาธารณสุขได้ โดยยาเม็ดดังกล่าวนี้ผลิตโดยบริษัทชั้นนำด้านเภสัชกรรมของสหรัฐอเมริกาอย่าง Merck Sharp and Dohme (MSD) ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง สนนราคาต่อคอร์ส 7 วันอยู่ที่ 577 ปอนด์ (ราว 24,200 บาท) 

 

ขณะที่ คริสต์ บัตเลอร์ อาจารย์ด้านสาธารณสุขของสถาบัน Nuffield Department of Primary Care Health Sciences ในสหราชอาณาจักรระบุว่า การค้นหาวิธีการรักษาโควิดที่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และสามารถปรับขนาดให้สอดคล้องกับการรักษาโควิดในชุมชนได้นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานวิจัยของเราที่จะขยายไปสู่การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก

 

แฟ้มภาพ: G.Tbov / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X