×

‘Molly Avejar’ อดีตผู้ต้องขังหญิง ผู้สร้างประวัติศาสตร์ใช้ประโยชน์จากกฎหมายลดโทษทางคดีแพ่งเป็นคนแรกของฟิลิปปินส์

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2022
  • LOADING...
Molly Avejar

ในประเทศฟิลิปปินส์มีกฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 มีชื่อเรียกว่า RA 10951 เพื่อปรับลดการลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดในคดีแพ่ง แต่กลับพบว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้เป็นคนแรกคือผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่ง ซึ่งได้ยินว่ามีกฎหมายใหม่ถูกประกาศใช้ในระหว่างที่เธอถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เธอตัดสินใจเดินไปถามผู้คุมและเริ่มเดินเรื่องทางเอกสาร จนกลายเป็นต้นแบบให้กับนักโทษคนอื่นอีกนับร้อยชีวิต จากที่อาจจะต้องใช้ชีวิตในเรือนจำไปถึงปี 2039 เธอใช้ความพยายามรักษาสิทธิของตัวเอง จนได้รับการปล่อยตัวในเดือนมีนาคม ปี 2018

 

ชื่อของเธอคือ Molly Avejar หญิงวัย 37 ปี ผู้เป็นแม่ของลูกสาว 3 คน ซึ่งเรื่องราวชีวิตของเธอช่างโลดโผน ราวกับถูกเขียนขึ้นมาให้เป็นบทภาพยนตร์

 

นับจากนี้ไปเราจะได้ทำความรู้จักกับชีวิตของหญิงแกร่งชาวฟิลิปปินส์ หลังเธอเป็นหนึ่งใน ‘ผู้พ้นโทษ’ ที่ถูกเชิญมาถ่ายทอดประสบการณ์บนเวทีการประชุมระดับอาเซียน ACCPCJ ‘การประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา’ ครั้งที่ 3 (The Third ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice) ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

Molly Avejar

 

“ฉันเกิดมาในครอบครัวที่แตกแยก พ่อกับแม่ของฉันแยกทางกันตั้งแต่ฉันอายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวเรามีพี่น้อง 3 คน ฉันเป็นคนกลาง เป็นหลานคนโปรดของย่า เลยถูกส่งมาเลี้ยงดูที่ฝั่งพ่อ ส่วนพี่ชายกับน้องสาวถูกส่งไปอยู่กับฝ่ายแม่”

 

Molly Avejar นั่งคุยกับเราอยู่ที่หน้าห้องประชุมของโรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร เราสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าเธอเป็นคนสวย มีความมั่นใจเต็มเปี่ยม ทั้งการแต่งกายด้วยเสื้อลายดอกไม้สีเขียวสด แววตาที่แหลมคม น้ำเสียงหนักแน่น และที่สำคัญคือ เธอเริ่มการตอบคำถามของเราว่า เธอผิดพลาดอย่างไรถึงต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำด้วยการเล่าประวัติชีวิตของตัวเองย้อนไปตั้งแต่วัยเด็กอย่างเปิดเผยที่สุด เพื่อให้ประสบการณ์ของเธอมีประโยชน์ต่อผู้คนที่ได้รับรู้เรื่องราวนี้

 

“ฉันไม่เคยอายที่จะต้องบอกใครว่าฉันเคยต้องคดี เคยอยู่ในเรือนจำ และไม่อายที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตของฉัน มันเป็นความจริง และไม่ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับฉัน แต่มันก็เป็นความจริง”

 

ในวัยเด็กของ Molly Avejar เธอเริ่มต้นชีวิตของเธอในชุมชนของชนชั้นกลางที่ไม่ได้มีความสุขสบายนัก พ่อของเธอตกงาน ทำให้คนในครอบครัวทั้งย่าและป้าต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมาใช้ในแต่ละวัน และนั่นทำให้ Molly Avejar ต้องช่วยทำงานบ้าน ช่วยทำอาหาร ทำงานบางอย่าง จนเธอมีความสามารถในการทำอาหารตั้งแต่เด็ก

 

เมื่ออายุได้ 11 ปี ชีวิตของเธอดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี พ่อของเธอแต่งงานใหม่และได้เริ่มทำธุรกิจนำเข้ารถจักรยานยนต์จากไต้หวันและญี่ปุ่น นั่นทำให้สถานะทางการเงินของครอบครัวดีขึ้นมาก จากที่เคยต้องเรียนในโรงเรียนรัฐบาลในชั้นประถม เธอได้เปลี่ยนไปเรียนในโรงเรียนเอกชน และด้วยความที่เธอเป็นเด็กสาวที่สวยและดูดี ในที่สุดเธอก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง

 

“ฉันอายุประมาณ 13-14 ปี มีลูกค้าคนหนึ่งของพ่อมาที่ร้าน เขาทำงานในวงการโทรทัศน์ เขาจึงชวนฉันไปประกวดออกรายการทีวีชื่อว่า Calendar Girls 1999 ปรากฏว่าฉันชนะการประกวดในรายการนั้น จึงเข้าสู่วงการนางแบบ กลายเป็นนักแสดง ฉันกลายเป็นคนโด่งดัง มีเงินเยอะ เข้าสังกัดค่ายที่ชื่อว่า Viva Film จนอายุ 15 ปี ฉันกลายเป็นหนึ่งกลุ่มเด็กผู้หญิงที่ถูกเลือกไปถ่ายแบบในชุดบิกินี”

 

เมื่อกลายเป็นคนดังและมีรายได้มาก Molly Avejar ในวัย 16 ปี พยายามที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับแม่ของเธออีกครั้ง เธอรู้มาว่าแม่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น เธอจึงออกตามหาแม่จนเจอ Molly Avejar บอกว่าเธอมีเบอร์โทรศัพท์ของแม่ที่ตัวเลขหายไป 1 ตัว เธอจึงโทรไล่ไปตั้งแต่ 0-9 จนได้หมายเลขที่ถูกต้อง ในที่สุดเธอก็เจอกับแม่ ได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ในอดีตกันอีกครั้ง และได้ไปทำงานเป็นนางแบบและนักร้องในผับที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 เดือน ได้เงินถึงเดือนละ 25,000 ดอลลาร์

 

นั่นทำให้เธอมีทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่นติดตัวมา ซึ่งมีผลต่อชีวิตของเธอในภายหลัง

 

ชีวิตของ Molly Avejar เปลี่ยนไปเมื่ออายุ 17 ปี เธอปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญาฉบับใหม่กับค่ายด้วยลางสังหรณ์บางอย่าง ซึ่งในที่สุดลางสังหรณ์นั้นก็กลายเป็นจริง

 

Molly Avejar

 

“ฉันกลับมาที่มะนิลา (เมืองหลวงของฟิลิปปินส์) ได้รับสัญญาฉบับใหม่ แต่ในระหว่างที่จะเซ็นสัญญา ฉันก็เกิดความรู้สึกผิดปกติบางอย่าง ทั้งที่สัญญานั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ฉันก็เลยขอเวลาคิดอีก 1 สัปดาห์ และใน 1 สัปดาห์นั้นฉันก็รู้ตัวว่าฉันกำลังตั้งท้อง

 

“ฉันมีแฟนคนแรกเมื่อกลับมาที่มะนิลา มีความสัมพันธ์กัน และฉันตั้งท้อง นั่นอาจเป็นลางสังหรณ์ที่เตือนตัวเองไม่ให้เซ็นสัญญา และเมื่อคลอดลูกคนแรก รูปร่างของฉันก็เปลี่ยนไป จากน้ำหนัก 42 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 56 กิโลกรัม ฉันเลยกลับไปทำงานที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง”

 

ระหว่างที่เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเอง เธอยืนยันว่าเธอเป็นคนเลือกเองที่จะจบความสัมพันธ์กับพ่อของลูกๆ ทุกคน เธอคบกับแฟนคนแรกได้ 2 ปีก่อนจะเลิกกัน และเมื่ออายุ 19 ปี เธอกลับจากญี่ปุ่นมาที่ฟิลิปปินส์อีกครั้ง เธอก็มีลูกคนที่สองกับแฟนคนใหม่ที่เป็นมือกลองของแบนด์ดัง และเธอก็เลือกที่จบความสัมพันธ์อีกครั้งด้วยเหตุผลว่าแนวคิดในการใช้ชีวิตแตกต่างกันมากเกินไป

 

มาถึงตรงนี้ เราอาจสงสัยว่าเรื่องราวทั้งหมดในชีวิตของ Molly Avejar เกี่ยวข้องอะไรกับการถูกคุมขังในเรือนจำของเธอ แต่เมื่อได้รับรู้เรื่องราวต่อจากนี้ไป เราก็พบว่าเธอต้องการสื่อสารให้เราได้รู้จักพื้นฐานชีวิตและลักษณะนิสัยใจคอของเธอก่อน ซึ่งกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอต้องกลายเป็น ‘นักโทษ’

 

Molly Avejar

 

เดือนธันวาคม ปี 2005 Molly Avejar ได้พบกับชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งโดยบังเอิญในมะนิลา ชายคนนี้ติดต่อกับเพื่อนของเธอ แต่เพราะ Molly Avejar พูดภาษาญี่ปุ่นได้ เธอจึงถูกชวนให้มาช่วยสื่อสารกับเขา แต่ในที่สุดเขาก็แสดงออกว่าชื่นชอบในตัวเธอ

 

“เขาซื้อโทรศัพท์ที่มีกล้องหน้าให้ ซึ่งในเวลานั้นใครมีโทรศัพท์รุ่นนี้จะถือว่าเจ๋งมาก จากนั้นเขาก็ซื้อรถยนต์ให้หนึ่งคันยี่ห้อ Toyota แถมยังออกเงินซื้อที่สำหรับทำบาร์ และออกเงินเปิดร้านอาหารไทยให้ด้วย ทุกอย่างที่ซื้อมาเรารับรู้ว่าเป็นชื่อของเราทั้งหมด ทั้งที่เรายืนยันว่าเราจะไม่มีความสัมพันธ์กับเขา เพราะเราไม่ได้ชอบเขา

 

“ตอนนั้นฉันกลายเป็นเจ้าของกิจการบาร์และร้านอาหาร ทั้งที่มีอายุแค่ 20 ปี และกลายเป็นคนที่มีอำนาจพอสมควร”  

 

แต่รถยนต์ Toyota คันนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ Molly Avejar กลายเป็น ‘ผู้ต้องขัง’

 

Molly Avejar

 

“ช่วงที่ใกล้วันเกิดของฉัน ชายชาวญี่ปุ่นคนนี้มาบอกว่าจะซื้อบ้านให้ในราคาประมาณ 7 ล้านเปโซ และถ้าเขามาที่มะนิลาเขาจะมาอยู่ที่นี่ด้วย แต่ฉันรับเงื่อนไขนี้ไม่ได้ เพราะฉันไม่ได้ต้องการอยู่กับเขา เลยตัดสินใจปฏิเสธไป นั่นทำให้เขาไม่พอใจและเราก็แยกย้ายกันไป จนมาถึงปี 2008 ฉันเพิ่งมารู้ว่าฉันถูกฟ้องร้องในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร หรือพูดง่ายๆ ว่าปลอมลายเซ็นของเขาในการโอนกรรมสิทธิ์ครอบครองรถยนต์ Toyota คันนั้น”

 

ในฟิลิปปินส์ ชาวต่างชาติไม่สามารถจะเป็นเจ้าของธุรกิจได้ แต่สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ Molly Avejar มองว่าทำให้เธอถูกชายคนนี้ฟ้องร้องเฉพาะเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ แต่ไม่ถูกฟ้องเรื่องร้านอาหารและบาร์ เพราะเดิมทีรถยนต์คันนี้ถูกซื้อมาในชื่อของชายชาวญี่ปุ่น ก่อนจะถูกโอนมาเป็นชื่อของเธอ แต่เมื่อเกิดเป็นคดีความขึ้น ชายคนนี้อ้างว่าไม่รู้จักเธอเป็นการส่วนตัว เพียงแต่รู้จักเธอในฐานะที่เป็นคนเดินเรื่องเอกสารในการซื้อรถยนต์คันนี้เท่านั้น พร้อมกล่าวหาเธอเป็นคนปลอมแปลงลายเซ็นของเขา เพื่อยึดเอารถคันนี้ไปเป็นของตัวเอง

 

จากนั้นเธอจึงขายกิจการทั้งหมดของเธอ เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานกว่า 50 ชีวิต และไปเริ่มชีวิตใหม่ มีลูกคนที่สามกับแฟนอีกคน

 

Molly Avejar

 

“เรื่องมันเงียบไปนานมาก ฉันพยายามไปตามหมายเรียกของศาลทุกครั้งตั้งแต่ปี 2008-2011 แต่การพิจารณาคดีก็ถูกเลื่อนออกไปทุกครั้งด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ฉันก็ไม่เข้าใจ มันนานจนฉันคิดว่าเรื่องคงจะจบไปแล้ว แต่มาถึงเดือนมกราคม ปี 2015 ระหว่างที่ฉันขับรถอยู่บนทางด่วน ฉันก็เห็นว่ามีรถจักรยานยนต์ของตำรวจขับตามมา ฉันคิดว่าฉันอาจจะทำผิดกฎจราจร แต่พอมองไปที่กระจกก็ตกใจมาก เพราะมีรถตำรวจ 8-10 คัน ขับมาล้อมรถของฉัน จากนั้นก็แจ้งข้อหาว่าฉันหลบหนีคดี ไม่ไปฟังคำพิพากษา ฉันไม่รู้เลยว่ามีการอ่านคำพิพากษาแล้ว และฉันถูกตัดสินจำคุกข้อหาปลอมแปลงเอกสาร พร้อมถูกสั่งให้จ่ายค่ารถคันนั้นคืนเป็นเงิน 9 แสนเปโซ (5.8 แสนบาท) เมื่อคิดจากมูลค่าความเสียหายตามกฎหมายฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ฉันจะต้องได้รับโทษจำคุกอย่างน้อย 4 ปี 2 เดือน และมีโทษสูงสุดคือ 20 ปี”

 

สถานที่คุมขังของฟิลิปปินส์ตามที่ Molly Avejar เล่าให้ฟังมีอยู่ 3 ระดับ คือ

 

  1. Detention เป็นสถานที่กักกันชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาระหว่างทำเอกสารต่างๆ รอเข้าสู่กระบวนการของศาล อยู่ในพื้นที่ของตำรวจ
  2. BJMP เป็นสถานที่กักขังผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี
  3. BuCor เป็นสถานที่กักขังนักโทษในคดีที่ศาลตัดสินแล้ว ซึ่งก็คือเรือนจำ

 

ช่วงแรกที่ถูกจับกุมตัวไป เธอถูกควบคุมตัวอยู่ที่ Detention ในสำนักงานของตำรวจ ซึ่งเธอยอมรับว่าเธอใช้ความพยายามหลายอย่างเพื่อที่จะไม่ต้องถูกย้ายไปอยู่ที่ BuCor (เรือนจำ) แต่หลังจากผ่านไป 4 เดือน จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2015 เธอก็ถูกส่งไปที่ BuCor อยู่ดี และในระหว่างที่อยู่ใน BuCor เธอก็ถูกฟ้องอีกหนึ่งคดีจากการขายของแบรนด์เนมมือสอง ซึ่งเธอไม่ได้ส่งสินค้าให้ลูกค้า เพราะโดนจับไปก่อน โดยเธอเลือกรับสารภาพ จึงถูกจำคุกสูงสุดอีก 4 ปี ด้วยมูลค่าความเสียหายอีก 6 แสนเปโซ

 

ดังนั้น Molly Avejar ต้องโทษจำคุกสูงสุดรวม 2 คดี คือ 24 ปี จากมูลค่าความเสียหาย 1.5 ล้านเปโซ (9.6 แสนบาท)

 

แต่หลังจากที่รับโทษไปแล้วประมาณ 2 ปี 8 เดือน Molly Avejar ก็มีความหวังที่จะเป็นอิสระอีกครั้ง เธอได้ยินคำบอกเล่าจากเพื่อนผู้ต้องขัง ซึ่งลูกของเขามาบอกว่าฟิลิปปินส์ได้ออกกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่ง เพื่อปรับลดโทษผู้กระทำผิดในคดีแพ่งให้เหมาะสมกับความผิด เธอจึงพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้

 

“ฉันไปถามผู้คุมใน BuCor ว่าคุณรู้เรื่องกฎหมายใหม่นี้ไหม แต่ผู้คุมกลับไม่รู้เรื่อง และคิดว่าฉันไปหลงเชื่อข่าวลือ ฉันเลยขอให้ลูกของเพื่อนเอาร่างกฎหมายนี้มาให้และก๊อบปี้ไว้ ฉันเอาสิ่งที่ก๊อบปี้ไว้ไปให้ผู้คุมดู เขาก็เลยไปค้นหาข้อมูลและเพิ่งรู้ว่ามีกฎหมายใหม่ออกมาจริงๆ จากนั้นผู้คุมก็เลยไปติดต่อให้ผู้พิพากษามาให้ความรู้ในเรือนจำกับทุกคน ส่วนฉันก็พยายามเดินเรื่อง ทำเอกสารต่างๆ อย่างจริงจังตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2017 โดยมีพ่อคอยให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง”

 

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เราจะมาทำความรู้จักกฎหมาย RA 10951 โดยเปรียบเทียบจากโทษของ Molly Avejar ซึ่งคิดจาก ‘มูลค่าความเสียหายในคดี’

 

เปรียบเทียบจากโทษจำคุก 4-8 ปี มูลค่าความเสียหายตามกฎหมายเดิมคือ 12,000-22,000 เปโซ (7,700-14,200 บาท) มูลค่าความเสียหายตามกฎหมาย RA 10951 คือ 2.4-4.4 ล้านเปโซ (1.54-3.09 ล้านบาท)

 

และเมื่อเปรียบเทียบโทษจำคุกจากคดีของ Molly Avejar ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 2 คดีรวมกันคือ 900,000+600,000 = 1,500,000 เปโซ จากเดิมที่ต้องโทษจำคุกสูงสุด 24 ปี เธอได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจองจำไปทั้งหมด 3 ปี 2 เดือน

 

กฎหมาย RA 10951 ประกาศใช้เดือนสิงหาคม ปี 2017 เธอเริ่มรับโทษเดือนมกราคม ปี 2015 เริ่มเดินเรื่องทำเอกสารเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 และได้รับการปล่อยตัวเดือนมีนาคม 2018

 

Molly Avejar

 

“เดือนมีนาคม ปี 2017 ฉันได้รับการปล่อยตัว ฉันเป็นคนแรกในฟิลิปปินส์ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายใหม่นี้ และหลังจากนั้นก็มีผู้ต้องขังอีกนับร้อยคนได้เดินตามสิ่งที่ฉันทำและได้ออกมาเป็นอิสระอีกครั้ง บางคนถูกขังมากว่า 10 ปีแล้ว ก็ได้อิสระเช่นกัน”

 

หลังออกจากเรือนจำ Molly Avejar ได้รับเงินทุนก้อนเล็กๆ จากพ่อของเธอ แต่ด้วยความที่เธอเคยเป็นนักธุรกิจ เคยเปิดกิจการ และเคยเป็นทั้งนางแบบและนักแสดง เธอจึงเริ่มจากการทำธุรกิจบันเทิง รับเป็นออร์แกไนเซอร์จัดงานอีเวนต์และปลุกปั้นศิลปิน จากนั้นจึงมีร้านเนื้อวัวอิมพอร์ตของตัวเองในปี 2020 ชื่อว่า ‘Meatly Molly’ และเปิดอีกหนึ่งกิจการใกล้เคียงกันในปี 2021 ชื่อว่า ‘Shaway Kabab’ พร้อมกับเป็นคนที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ว่า ‘เป็นผู้ต้องขังคนแรกที่เดินเรื่องใช้ประโยชน์จากกฎหมายใหม่ RA 10951 จนมีผู้ต้องขังอื่นได้รับประโยชน์ตามมาอีกมากมาย’

 

ปัจจุบันนอกจากการบริหารธุรกิจทั้งสามอย่างด้วยตัวเอง เธอยังไปช่วยงานในมูลนิธิแห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์อย่างสม่ำเสมอคือ Feed Hungry Minds Foundation ซึ่งมีทั้งงานจัดหาหนังสือและสอนหนังสือให้เด็กในถิ่นทุรกันดาร ไปจนถึงการทำแคมเปญ Mission Beyond Music นำรายได้ไปตระเวนทำอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นหรือแผ่นดินไหว ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในประเทศบ้านเกิดของเธอ

 

“ฉันเคยเป็นเจ้าของธุรกิจที่อายุน้อย เป็นคนที่มีอำนาจพอสมควร แต่การที่ฉันได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นทั้งบทเรียนและประสบการณ์ที่คอยสอนฉันอย่างมาก ทำให้ฉันได้พบว่า จริงๆ แล้วฉันแค่อยากมีชีวิตที่เรียบง่าย และเลือกที่จะใช้เวลาไปช่วยเหลือคนอื่น ไปช่วยงานมูลนิธิ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย

 

“อย่างในวันเกิดฉันปีนี้ ฉันก็จะกลับเข้าไปในเรือนจำ เพื่อทำอาหารดีๆ ให้เพื่อนๆ ในเรือนจำได้กิน เพราะฉันคิดว่าคนที่อยู่ในเรือนจำมีหลากหลาย ไม่ได้มีแต่คนไม่ดี มีคนที่เพียงเดินทางผิดพลาด มีคนที่ทำผิดเพราะจำยอม และหลายคนควรจะมีสถานะเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยซ้ำ ฉันจึงอยากทำให้พวกเขามีความหวังที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่

 

“ฉันจะรู้สึกดีทุกครั้งที่ฉันมีความกล้าที่จะบอกคนอื่นว่าฉันเคยผ่านการอยู่ในเรือนจำมาแล้ว เมื่อได้บอกไปแล้วฉันก็จะสบายใจ ไม่ว่าคนอื่นจะมองฉันหรือตัดสินฉันอย่างไร มันก็เป็นเรื่องของเขา ฉันเพียงต้องการอยู่กับครอบครัว ดูแลลูกๆ ทั้งสามคน มองอนาคต ทำแต่สิ่งดีๆ และแน่นอนว่าฉันจะเคารพกฎหมาย”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X