กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวในระดับ 1.3% และมีกรอบประมาณการอยู่ที่ 0.8-1.8% ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงเมื่อเทียบกับประมาณการในครั้งก่อนหน้าที่ประเมินว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 2.3%
สาเหตุที่ปรับลดคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ลง เนื่องจากการระบาดของโรคโควิดที่เริ่มตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ปี 2564 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัวสูง 14.5% ทำให้กระทรวงคลังคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ราว 16.6% ซึ่งตัวเลขนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 11%
นอกจากนี้ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภค บรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 4.2% และ 9.5% ตามลำดับ
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 1% และ 4.1% ตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.2% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 1.4% เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ
สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าในปีนี้จะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP ซึ่งเกิดจากการขาดดุลบริการเป็นสำคัญ
กุลยากล่าวว่า ในส่วนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นในกรอบ 4-5% โดยได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง และมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น
“คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในไทยราว 12 ล้านคนในปีหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าก็คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ดี”
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้ามี 4 ด้านหลัก
- ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด
- ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
- ความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก หากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโยบายด้านพลังงาน
- ทิศทางนโยบายการเงินโลกที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น จะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม กุลยากล่าวย้ำว่าประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป