×

รมว.คลัง ชี้ ไทยจำเป็นต้องใช้เศรษฐศาสตร์นอกตำราฝ่าวิกฤตโควิด นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายเอื้อต่อนโยบายการคลัง

29.09.2021
  • LOADING...
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา ‘ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด’ จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า เพื่อต่อสู้กับวิกฤตโควิดประเทศไทยจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การบริหารเศรษฐกิจในเชิงมหภาค 2. การดูแลภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการส่งออกซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศ และ 3. การดูแลแรงงานไม่ให้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดจนกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและสายการผลิต

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในด้านเศรษฐกิจมหภาค ขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นโยบายการเงินและการคลังของประเทศจะต้องสอดประสานกัน โดยนโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายเพื่อเอื้อให้นโยบายการคลังดำเนินการได้ท่ามกลางภาวะวิกฤต ซึ่งต่างจากภาวะปกติที่หากรัฐบาลมีการใช้จ่ายมาก มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะร้อนแรงเกินไป นโยบายการเงินจะต้องเข้ามาดูแลเสถียรภาพ เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ย

 

“หลายท่านบอกว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้เราอาจต้องทำนโยบายนอกตำรา ตำราเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาอาจต้องพักไว้ก่อน เพราะเวลานี้ประชาชนเดือดร้อนและรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมาก” อาคม กล่าว

 

อาคม ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ขณะที่กระทรวงการคลังก็มีหน้าที่ต้องดูแลการใช้จ่ายของประเทศ รวมถึงการจัดหารายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่าย ทั้งในส่วนที่เป็นรายจ่ายประจำ รายจ่ายเพื่อลงทุนและรายจ่ายสำหรับการชำระหนี้

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะล่าสุดของกระทรวงการคลัง ที่เพิ่มจาก 60% ของ GDP เป็น 70% ของ GDP เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและเป็นการเปิดช่องว่างในการใช้เงินในอนาคต หากมีความจำเป็น 

 

อาคม กล่าวว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจาก 

 

  1. แผนการก่อหนี้ใหม่ปลายปีงบประมาณ 2565 จะทำให้หนี้สาธารณะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 62% ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่ขยายเพดานหนี้เป็น 70% ถือเป็นกรอบที่เปิดไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็น

 

  1. ภาระหนี้ของรัฐต่อรายได้ประจำปี กฎหมายระบุว่าต้องไม่เกิน 35% ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 31% 

 

  1. หนี้สาธารณะเป็นเงินตราต่างประเทศต้องไม่เกิน 10% ขณะนี้อยู่ที่ 1.4% ถือว่ายังอยู่ระดับต่ำ ส่วนใหญ่ใช้สภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก แต่อนาคตหากมีความจำเป็นก็จะมีการพิจารณา

 

  1. หนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ส่งออก กำหนดเพดานไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.06%

 

อาคม กล่าวอีกว่า นอกจากภูมิคุ้มกันข้างต้นไทยยังเรื่องที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจเพิ่มอีก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านดิจิทัล การผลักดันให้เกิด Digital Economy ซึ่งในช่วงโควิดรัฐได้เริ่มต้นด้วยการใช้แอปพลิเคชันในการดูแลประชาชน โดยมีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ไปแล้ว 2. การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า มีเป้าหมายในปี 2573 และ 3. นโยบายชีวภาพและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X