×

คลังเผย ภาวะเศรษฐกิจเดือน ส.ค. ชะลอตัว เหตุโควิดกดดันการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

29.09.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจการคลัง

วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2564 มีสัญญาณชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นไปตามปัจจัยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอตัว เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่หก 

 

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนอย่างปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลง -35% และ -29.2% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 39.6 จากระดับ 40.9 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย 

 

อย่างไรก็ดี รายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรยังขยายตัวได้ที่ 5.9% ต่อปี ส่วนหนึ่งเพราะผลผลิตสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างยางพารา ข้าวโพด และหมวดไม้ผล ฯลฯ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังขยายตัวที่ 12.4% ต่อปี หลักๆ เป็นเพราะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าสินค้า บ่งบอกสถานการณ์การบริโภคโดยรวมยังพอไปได้บ้าง 

 

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร เห็นได้จากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2564 ที่ลดลงถึง -40.5% ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลก็ลดลง -26.2% เช่นเดียวกับการลงทุนในหมวดการก่อสร้างที่ยังหดตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังหดตัวที่ -6.8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 

 

สอดคล้องกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง -8.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และลดลง -4.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว แต่ภาพรวมปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 21.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนส่วนหนึ่งจากฐานต่ำ เพราะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาด

 

ขณะที่การส่งออกในเดือนสิงหาคม 2564 มีมูลค่า 21,976.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัว 8.9% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่หก และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 19.4% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี อาทิ ยางพารา, ผักและผลไม้, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home), สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด, กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก โดยตลาดคู่ค้าหลักทั้งอินเดีย จีน อาเซียน-5 และสหรัฐฯ ยังเติบโตและมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง

 

ส่วนภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง -4.1% เทียบระยะเดียวกันของปีก่อน และลดลง -0.9% เทียบเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 76.8 จากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย

 

ด้านการท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากโครงการ Phuket Sandbox และอื่นๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวสมาชิกสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม 15,105 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งในจำนวนนี้มาตามโครงการ Phuket Sandbox จำนวน 12,345 คน ส่วนการท่องเที่ยวของคนไทยในเดือนสิงหาคมปีนี้อยู่ที่ 893,565 คน ลดลง -92.0 %  

 

ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ -0.02% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.45% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารสด อาทิ ข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้สด ปรับตัวลดลง รวมถึงผลของมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 55.6% ต่อ GDP โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจและฐานะการคลังยังอยู่ในระดับที่มั่นคง สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ เพราะไทยยังมีระดับทุนสำรองระหว่างประเทศสูงระดับ 252.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X