×

‘คลัง’ ดึง Big Data และดิจิทัลแพลตฟอร์มเสริมมาตรการเยียวยาและสนับสนุนเศรษฐกิจ มั่นใจ GDP ปีหน้าโต 4% จากส่งออกและท่องเที่ยวฟื้น

15.12.2021
  • LOADING...
Big Data

ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ร่วมงานเสวนาซึ่งจัดโดยเวิลด์แบงก์ ประจำประเทศไทย ในหัวข้อ ‘ทำอย่างไรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวและฟื้นฟูให้ดียิ่งขึ้น?’ โดยกล่าวว่า ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจได้ โดยปี 2565 เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอาจจะเกินดุลเล็กน้อย หรือเรียกว่าเข้าสู่ภาวะที่สมดุลมากขึ้น หากเทียบกับปีนี้มีการขาดทุนดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ ทำให้ยังมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายทางด้านการคลังอยู่ 

 

โดยในปี 2565 รัฐบาลไทยยังมีงบประมาณที่ยังไม่ได้จัดสรรอยู่อีกราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนได้อยู่ 

 

อย่างไรก็ตาม ในการใช้นโยบายทางการคลังนั้นจะมีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ เช่นมิติด้านพื้นที่ ด้านอาชีพและด้านบุคคลเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การใช้จ่ายของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

“ที่เห็นชัดที่สุดก็คือนโนบาย EEC ที่ใช้เฉพาะในพื้นที่ที่เราประเมินแล้วว่ามีความพร้อมดำเนินการตามนโยบาย ส่วนนโยบายด้านอาชีพก็จะมุ่งตรงไปยังผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อดูความต้องการและสานต่อออกมาเป็นนโยบายที่ตรงความต้องการ” 

 

ในการพัฒนาและผลักดันนโยบายแบบเฉพาะเจาะจงนั้น เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลชิงลึกมาปรับใช้ และดึงเอาดิจิทัลแพลตฟอร์มมารองรับเพื่อส่งต่อนโยบายไปสู่ภาคประชาชนได้อย่างรวดเร็ว 

 

“พอมีโควิดเกิดขึ้น ทางรัฐได้บทเรียนอย่างหนึ่งคือ รัฐเองควรขยายฐานข้อมูลประชาชนมากขึ้น ทั้งด้านอาชีพ ผู้ประกอบการ SME เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เป็นการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพพมากขึ้น ซึ่งการทำงานที่นำเอาฐานข้อมูลและดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้นั้น รัฐบาลจะมุ่งดำเนินงานต่อไป เพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยได้” 

 

สำหรับมุมมองด้านเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปีนี้แล้ว หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน รวมถึงการเปิดประเทศและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนปี 2565 กระทรวงการคลังประเมินอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 4% โดยปัจจัยหนุนมาจากการส่งออกสินค้าและบริการ 

 

โดยภายใต้สถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น ภาคการส่งออกจึงดีต่อเนื่อง แต่ตัวแปรสำคัญคือการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งกระทรวงการคลังเชื่อว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคน จากปีนี้ที่น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1-2 แสนคน ทั้งนี้ตัวแปรที่จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยคือนโยบายของรัฐบาลจีนเป็นหลัก โดยปัจจุบันประเทศจีนยังมีการจำกัดการเดินทางของประชาชนในประเทศ เพื่อลดโควิดให้เป็นศูนย์ 

 

ทางด้าน ดร.วีระ วีระกุล รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาเดียวกันว่า ประเทศไทยเสียโอกาสมาหลายปีแล้วสำหรับการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาด้านดิจิทัลได้เท่าทันนานาประเทศ เนื่องจากเพราะพื้นฐานความรู้ด้านดิจิทัลของคนไทยส่วนใหญ่นั้นมีอยู่แล้วและต่อยอดได้ 

 

นอกจากนี้ภาคเอกชนไทยก็พร้อมลงทุนและพัฒนาในอุตสาหกรรมดิจิทัล แต่ยังมีอุปสรรคอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเชิงนโยบาย ทำให้ขาดแคลนด้านการคิดค้นหรือ Innitiate ขึ้นมาเอง โดยข้อมูลในปี 2563 พบว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลยังพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมาก หรือคิดเป็น 80-90% ของมูลค่านำเข้า ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยควรพัฒนาทางด้านดิจิทัลในประเทศให้มากกว่านี้อย่างมาก ทั้งด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ IoT ตลอดจน Digital Content เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าและต้นทุนในการทำธุรกิจ 

 

โดยเชื่อว่าหากประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมและภาคธุรกิจขยายตัวได้อีกมาก โดยหากเทียบกับประเทศที่มีการลงทุนด้านดิจิทัลมาก่อนหน้านี้อย่างจริงจัง จะพบว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลมีสัดส่วนต่อ GDP ค่อนข้างมาก เช่น ประเทศจีน มีสัดส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อ GDP คิดเป็น 30% ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 46% และสหรัฐอเมริกา 59%

 

ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลไทยควรเร่งให้ความสนับสนุนในเรื่องเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัล (Digital Transformation) ที่คู่ขนานกันระหว่างรัฐและเอกชน 

 

โดยอุตสาหกรรมที่จะโดดเด่นและทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของเอเชีย หากสามารถพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ ประกอบด้วย 

 

  1. Smart Mobility and Clear Energy 
  2. Agtech and Foodtech
  3. Medtech and Healthtech
  4. Creative Economy 

 

“ที่ขาดไม่ได้คือการพัฒนาและยกระดับทักษะดิจิทัลให้แก่แรงงาน ทั้งด้านความรู้ การปรับใช้ และโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล… นอกจากนี้ การพัฒนาและให้การส่งเสริมเชิงนโยบาย เช่น การงดเว้นภาษีการลงทุนให้กับเวนเจอร์ แคปปิตอล ก็จะทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยดึงดูดเงินต่างชาติได้มากขึ้นด้วย” ดร.วีระ กล่าว 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X