×

‘คลัง’ แจกของขวัญปีใหม่ อัดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเต็มสูบ ทั้งช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง เฟส 4 พร้อมเว้นค่าธรรมเนียมขายสุรา คาดช่วยดัน GDP โตเพิ่ม 0.7%

21.12.2021
  • LOADING...
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (21 ธันวาคม) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 หรือมาตรการของขวัญปีใหม่ เพื่อเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

 

1) มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565

 

2) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินและการวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบของแพลตฟอร์มให้ทันสมัยและเป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น ส่วนระยะเวลาจะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม 2565 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิ์และมีการใช้จริงโครงการคนละครึ่ง รวม 26.30 ล้านคน แบ่งใช้ครบวงเงินที่ให้ 6.5 ล้านคน ส่วนอีก 19.80 ล้านคน ใช้สิทธิ์แต่ยังไม่เต็มวงเงินที่ให้ ทำให้ยังมีวงเงินที่เหลืออยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท ที่สามารถโอนไปใช้ต่อในเฟส 4 ได้

 

3) มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 ลงเหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจาก 1% ลงเหลือ 0.01% (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถวอาคารพาณิชย์ และห้องชุด ทั้งนี้ มาตรการจะมีผลบังคับใช้สำหรับการโอนและจดจำนองตั้งแต่วันถัดจากวันที่เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

 

2. มาตรการลดภาระผู้ประกอบการและ/หรือประชาชน ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

 

1) มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ ไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลา 1 ปี เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตขายรายเดิม ซึ่งได้รับผลกระทบที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ต่อเนื่องในปีถัดไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

 

2) มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

 

3) มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ รวมทั้งผ่อนปรนการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ลูกหนี้ของเจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน และลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงิน ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เหลืออัตรา 0.01% สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 

 

3. มาตรการการเงิน ได้แก่ โครงการของขวัญปีใหม่ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้จัดทำของขวัญปีใหม่ปี 2565 เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ย และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การคืนเงินลูกหนี้ธนาคารที่มีประวัติการชำระดี การยกเว้นค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญาและค่าประเมินหลักประกัน ส่วนลดค่าบริการและค่างวดสำหรับการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 25,000 ล้านบาท การคืนเงินและรางวัลพิเศษรวม 1,335 ล้านบาท การลดอัตราดอกเบี้ยรวม 4,700 ล้านบาท ส่วนลดค่าบริการและส่วนลดค่างวดสูงสุด รวม 7.43 ล้านบาท

 

“กระทรวงการคลังประเมินว่ามาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 0.7% ซึ่งจะเห็นผลในไตรมาสแรกของปีหน้า สำหรับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คาดว่าจะเสนอเข้า ครม. ในสัปดาห์หน้า และน่าจะเปิดให้มีการลงทะเบียนได้ในปี 2565” อาคมกล่าว

 

รมว.คลัง ยังประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ปรับตัวดีขึ้นและจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการใช้จ่ายภายในประเทศและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้ขยายตัวได้ที่ 4% ต่อปี

 

พร้อมกันนี้ยังระบุว่า ทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะให้ความสำคัญกับ 6 เรื่อง ได้แก่

 

  1. การรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ โดยจะมีการประเมินและปรับปรุงรูปแบบมาตรการที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

  1. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งภาครัฐจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวนกว่า 1.18 ล้านล้านบาท

 

  1. การส่งเสริม SMEs และสตาร์ทอัพ ทั้งในส่วนของการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยอาศัยกลไกของตลาดเงิน ตลาดทุน และการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

 

  1. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม BCG Model (Bio-Circular-Green Economic Model) โดยกระทรวงการคลังจะสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมพลังงานสะอาด เช่น มาตรการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การออก Sustainability Bond เพื่อนำเม็ดเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้สำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือโครงการเพื่อการพัฒนาสังคม

 

  1. การสนับสนุนการส่งออกและนำเข้าสินค้า โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการส่งออกและนำเข้าสินค้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจของผู้ส่งออกและนำเข้า

 

  1. การส่งเสริม Digital Government ในการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงการคลังได้พัฒนาต่อยอดระบบงานต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งขยายขอบเขตการใช้ดิจิทัล ทั้งในด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ เช่น ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดเก็บภาษี รวมทั้งการให้บริการด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และประหยัดเงินงบประมาณ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X