×

ขอทำกระทรวงศึกษาฯ ให้เด็กไทยได้โอกาสพัฒนาตนเองโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

17.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • คุณหญิงกัลยาในวัย 79 ปี ใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตถ่ายทอดปัจจัยสำคัญของการพัฒนาตัวเอง
  • การพัฒนาตนเองในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนและต้นทุนทางสังคมต่ำ จำเป็นต้องมีหน่วยงานของรัฐสนับสนุน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นในส่วนนี้

ชีวิตของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อันที่จริงเธอไม่ได้เกิดมาในตระกูลนายธนาคารใหญ่ มีภูมิลำเนาในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เกิดในครอบครัวพ่อค้าตระกูล ‘พงศ์พูนสุขศรี’ 

 

คุณหญิงกัลยาโตมาในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนทุกอย่าง ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ต้องทำงานขายขนมข้างทางรถไฟเพื่อจะมีเงินออมฝากธนาคารออมสิน

 

ไม่เพียงต้องต่อสู้เรื่องสถานะทางการเงิน คุณหญิงกัลยายังต้องต่อสู้กับค่านิยมในสมัยนั้นเพื่อให้ตัวเองได้เรียนหนังสือ เพราะเด็กผู้หญิงในสมัยนั้นส่วนใหญ่ครอบครัวไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือ ชีวิตในวัยเด็กเป็นประสบการณ์ให้ต้องสู้ชีวิตและคิดเรื่องการพัฒนาตัวเอง

 

คุณหญิงกัลยาในวัย 79 ปี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีต้นทุนสังคมต่ำ

 

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้คนอยากพัฒนาตัวเองแม้อยู่ในสภาวะที่ยากลำบากคือ ‘ครอบครัว’

 

เธอยกประสบการณ์ตัวเองว่า ครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจโดยธรรมชาติ พ่อแม่ต้องทำดีให้ดู เป็นครูให้เห็น โดยไม่ต้องสอนตรงๆ แต่ทำให้เด็กเห็นถึงความมุ่งมั่น พยายามทำมาหากินในอาชีพสุจริต และสร้างทัศนคติเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตที่อยากลำบากมาเป็นความมุ่งมั่นที่จะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น

 

“พอมาสู่ตำแหน่งก็อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์ตรงนั้นให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาตนเอง โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาส ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญมีกลไกที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คุณหญิงกัลยากล่าว

 

ปรับโครงสร้างกระทรวงรับ ‘บ้านเรียน-ศูนย์เรียน’ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้คนไทยทุกคนสามารถเรียนรู้ที่บ้านได้ สิ่งนั้นคือ ‘บ้านเรียน’ และ ‘ศูนย์เรียน’

 

แต่บ้านเรียนและศูนย์เรียนขณะนี้ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพราะยังไม่มีหน่วยงานต้นสังกัดดูแล เปรียบเหมือนเจ้าไม่มีศาล ซึ่งเป็นปัญหาของโครงสร้างในกระทรวงศึกษาธิการ การช่วยเหลือและสนับสนุนจึงยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

 

ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญคือการปรับโครงสร้างให้บ้านเรียน-ศูนย์เรียนมีต้นสังกัดที่ชัดเจน เพื่อรับการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

 

คนที่ขาดโอกาสมีเยอะ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้สภาพัฒนาการศึกษาออกแบบโครงสร้างนี้ให้รองรับสนับสนุนคนที่ด้อยโอกาสได้มีโอกาสเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด

 

คุณหญิงกัลยากล่าวอีกว่า การเรียนการสอนต่อไปนี้ต้องมีการปรับปรุง โรงเรียนต้องเป็นสถานที่สร้างบรรยากาศให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ ส่วนครูต้องเป็นพี่เลี้ยง หรือ Facilitator

 

เพราะโลกปัจจุบันโรงเรียนและครูมันต้องไปทางนี้แล้ว ทุกวันนี้เด็กสามารถใช้เทคโนโลยีค้นหาความรู้ได้จากทั่วโลก ครูต้องปรับเปลี่ยนเป็นพี่เลี้ยง ส่วนโรงเรียนต้องปรับให้เป็นสถานที่ที่เด็กอยากเรียนอะไรก็ได้ 

 

เราในฐานะผู้บริหาร ต้องช่วยครู เพราะไม่ใช่ความผิดของครู แต่ว่าโลกมันเปลี่ยน ต่อไปจะพัฒนาการศึกษาโดยใช้ STI (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) เช่น โค้ดดิ้ง ให้เด็กตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เรียนกันทุกคน

 

ในช่วงโควิด-19 ได้ฝึกอบรมวิชาโค้ดดิ้งให้ครูผ่านระบบออนไลน์ได้กว่า 2 แสนคน ซึ่งครูเหล่านี้จะไปสอนให้เด็กมีทักษะในการคิด วิเคราะห์ มีเหตุผลเชิงคณิตศาตร์ และแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน 

 

วันนี้เรายกระดับให้เป็นโค้ดดิ้งแห่งชาติ โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำลังจัดหลักสูตรให้พ่อแม่และบุคคลทั่วไปได้เรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และวิชาโค้ดดิ้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกวิชาชีพ 

 

ครั้งแรกของการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นไปที่ผู้เรียนโดยตรง

“การพัฒนาการศึกษาที่ผ่านมามีแนวคิดที่ดีคล้ายๆ กันหมด แต่อะไรคือปัญหาที่ทำให้ยังไปไม่ถึงไหน” เราถาม

 

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องโครงสร้าง และที่ผ่านมาการปฏิรูปก็เน้นไปที่โครงสร้าง แต่ในสมัยนี้ถือเป็นครั้งแรกที่การปฏิรูปมุ่งเน้นไปที่ตัวผู้เรียนโดยตรง 

 

ปัญหาต่อมาคือระบบการเรียนการสอนที่ยังเป็นแบบเดิม คือเด็กฟังครูพูด ตรงนี้ยอมรับตามตรงว่าจะเปลี่ยนทันทีไม่ได้ เพราะครูเรียนมาแบบนี้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ และเราจะเอาครูเป็นแสนคนไปทิ้งไว้ที่ไหนถ้าไม่ให้เขาสอนต่อ หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการคือเอาเครื่องมือไปช่วยให้ครูทันสมัยมากขึ้น และเราได้เริ่มไปหลายอย่างแล้ว ตั้งแต่โค้ดดิ้ง การอบรมครูด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

 

นอกจากโค้ดดิ้ง ปัจจุบันยังมี AR (Augmented Reality) คือการเอาเทคโนโลยีที่จำลองโลกจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกัน

 

ในอดีตเทคโนโลยี AR ใช้ในทางการเรียนการสอนแพทย์ เรื่องการสอนการผ่าตัดเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในการศึกษาทั่วไปได้ เช่น การเรียนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้สนุกขึ้น 

 

คุณหญิงกัลยาเปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังทำระบบ AR ให้เรียนประวัติศาสตร์ผ่านธนบัตร โดยใช้แอปพลิเคชันส่องในธนบัตร เพราะในธนบัตรทุกใบของไทยมีประวัติศาสตร์ไทยซ่อนอยู่ แต่คนไทยไม่ค่อยรู้ ตรงนี้คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนให้สนุกขึ้นผ่านสิ่งใกล้ตัว 

 

การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ใช่มีแค่ในมิติความทันสมัยในเชิงอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่เรื่องสำคัญคือเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยใช้น้ำตามยถากรรม ไม่มีการบริหารจัดการ ตัวเลขที่น่าสนใจและตกใจคือ ฝนตกลงมา 100 หยด ระบบชลประทานของประเทศเก็บน้ำได้ 5.5 หยด ภาคอีสานตกลงมา 100 หยด เก็บได้เพียง 3 หยด ที่เหลือเราปล่อยทรัพยากรทิ้ง และบางส่วนไปทำลายบ้านเรือนประชาชนหมด

 

แต่โครงการในพระราชดำริไม่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำ แม้ปีนี้จะแล้งที่สุดในรอบ 40 ปี ดังนั้นเราอยากให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเป็นแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำโดยศาสตร์พระราชา และพัฒนาเป็นหลักสูตรให้เรียนเพื่อผลิต ‘ชลกร’ 

 

 

ทัศนคติที่ดีสำคัญกว่าเรียนหนังสือเก่ง กลุ่มต้นทุนสังคมต่ำรัฐพร้อมดูแล

เราตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรถ้าเรียนไม่เก่ง ต้นทุนสังคมก็ต่ำ แต่โลกก็หมุนไวไปไกลเหลือเกิน 

 

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า เรียนเก่งหรือไม่เก่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ความสำเร็จในชีวิต คนจบปริญญาตรีมากมายไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะตกงาน เรียนจบมาแล้วทำงานไม่เป็น

 

แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ‘ทัศนคติที่ดี’ เมื่อทัศนคติดี เราจะเปิดใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวเองได้ 

 

ส่วนโลกที่หมุนไวและเทคโนโลยีที่ก้าวไกลในปัจจุบัน มองให้เป็นโอกาสว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนสมัยก่อนมาก แต่ต้องยอมรับความจริงว่าก็มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของชีวิตให้พัฒนาตนเองได้

 

คุณหญิงกัลยาอาศัยประสบการณ์อันยากลำบากในวัยเด็กผสมกับการเรียนด้านวิทยาศาสตร์จาก Imperial College London ประเทศอังกฤษ และการช่วยงานโครงการในพระราชดำริ

 

ทำให้เห็นภาพใหญ่ในงานด้านการพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ต้นทุนทางสังคมต่ำ และบูรณาการงานให้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนไปโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนครูให้อำนวยความสะดวกแก่เด็กในการแสวงหาความรู้ในสิ่งที่สนใจ

 

คุณหญิงกัลยาย้ำว่า การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นพื้นฐานให้คนในประเทศผลิตเทคโนโลยีได้เองในอนาคต โดยไม่ต้องเป็นผู้ซื้อใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวแบบในปัจจุบัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising