Moderna เปิดเผยว่า วัคซีนโควิดของบริษัทยังคงมีประสิทธิภาพสูงถึง 93% หลังฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 6 เดือน ขณะที่บริษัทคาดว่าจะดำเนินการขออนุมัติการใช้วัคซีนอย่างเต็มรูปแบบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) แห่งสหรัฐอเมริกาในเดือนนี้
“วัคซีนโควิดของ Moderna มีประสิทธิภาพ 93% โดยประสิทธิภาพจะยังคงอยู่ได้นานตลอด 6 เดือนหลังจากให้วัคซีนเข็มที่ 2” Moderna ระบุในแถลงการณ์
ข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนดังกล่าวได้มาจากการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายของการศึกษาวัคซีนระยะที่ 3 กับผู้เข้าร่วมการทดลองหลายพันคนที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาจะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาและส่งผลให้มีผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นอยู่ในเวลานี้
สเตฟาน บันเซล ซีอีโอของ Moderna กล่าวในแถลงการณ์ว่า “เรามีความยินดีที่วัคซีนป้องกันโควิดของเรามีประสิทธิภาพที่คงทนถึง 93% ตลอด 6 เดือน แต่ขณะเดียวกัน เราตระหนักดีว่าสายพันธุ์เดลตาเป็นภัยคุกคามใหม่ที่สำคัญ เราจึงยังคงต้องระมัดระวัง” โดย Moderna เชื่อว่าสายพันธุ์เดลตาจะนำไปสู่การติดเชื้อที่ลุกลามมากขึ้น และอาจจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ก่อนฤดูหนาว
ดร.สตีเฟน โฮก ประธานของ Moderna เปิดเผยในการประชุมนักลงทุนเมื่อวันพฤหัสบดี (5 สิงหาคม) ว่า Moderna กำลังรอข้อมูลปริมาณยาก่อนที่จะยื่นขออนุมัติใช้วัคซีนกระตุ้น (Booster Shot) เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยบริษัทระบุว่า กำลังสำรวจว่าวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ควรให้ในปริมาณ 50 ไมโครกรัม หรือ 100 ไมโครกรัม หลังจากที่วัคซีน 2 โดสแรกของ Moderna นั้นให้ในปริมาณ 100 ไมโครกรัมต่อโดส
“เราคิดว่าข้อมูลทางคลินิกของเราตอนนี้สนับสนุนการฉีดกระตุ้นในปริมาณ 50 ไมโครกรัม” โฮกกล่าว “แต่เราจะรอข้อมูล 100 ไมโครกรัมในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อยืนยันให้แน่ชัดก่อนที่จะยื่นขออนุมัติ”
ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี โฮกได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นว่า แอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing Antibody) ปรับตัวลดลงหลังจากให้วัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว 6 เดือน ซึ่งรวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา แต่หลังจากฉีดกระตุ้นในปริมาณ 50 ไมโครกรัมไปแล้ว 14 วัน พบว่าระดับแอนติบอดีดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประธานของ Moderna กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจอย่างมาก พร้อมกับเสริมด้วยว่า ข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่าการฉีดกระตุ้นมีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล โดยเฉพาะเดลตา
อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่าระดับแอนติบอดีเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจริงนอกการศึกษาทดลองหรือไม่ อย่างไร
เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้ผลิตวัคซีน mRNA ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาอีกรายอย่าง Pfizer-BioNTech ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวัคซีนของบริษัทเช่นกัน โดยแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในระยะเวลา 6 เดือนที่ 91% และตัวเลขดังกล่าวอาจลดลงหลังจากนั้น ซึ่งข้อมูลของ Pfizer ถูกรวบรวมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในสหรัฐฯ เช่นกัน
บทความวิชาการฉบับร่าง (Preprint) ของ Pfizer แสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจากการทดลองกับอาสาสมัคร 44,000 คนทั่วโลก พุ่งขึ้นสูงสุดที่มากกว่า 96% ในช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และดูเหมือนว่าจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 83.7% ใน 4-6 เดือนต่อมา
Pfizer กล่าวในการประชุมนักลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะยื่นเรื่องขอใช้วัคซีนกระตุ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนสิงหาคม
อย่างไรก็ดี FDA และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกา กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า ชาวอเมริกันยังไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 และระบุว่า การตัดสินใจว่าเมื่อไรจึงจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเท่านั้น
ดร.ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวกับ CNN เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า “ณ ขณะนี้ ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาไม่ได้บ่งชี้ว่าจำเป็นต้องมีการฉีดกระตุ้น”
ภาพ: Johanes Christo / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: