กลุ่มธุรกิจ Modern Trade ในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มขยายตัว 3.4% และ 3% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิดคลี่คลายลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าปลีก Modern Trade มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่ายังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านกำลังซื้อจากภาวะหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่โดยภาพรวมธุรกิจ Modern Trade ยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 และในปี 2568 ยังได้อานิสงส์เพิ่มเติมจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการคาดการณ์การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้อาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยยังต้องปรับตัวกับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งการขยายช่องทางออนไลน์และนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับเทรนด์ ESG
โดยการแข่งขันที่รุนแรงจากทั้งกลุ่มร้านค้าประเภทเดียวและร้านค้าออนไลน์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสำคัญกับการขายสินค้าผ่าน Omni-Channel ทั้งหน้าร้านควบคู่กับออนไลน์ ขณะเดียวกัน ยังนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการร้านค้าและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ เทรนด์ ESG ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดยธุรกิจยังต้องผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริม Circular Economy ตลอดจนการให้ความสำคัญกับสังคมและธรรมาภิบาล และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ขณะเดียวกัน ยังต้องเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะให้ความสนใจในสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น แต่ราคาที่สูงและตัวเลือกที่น้อยยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ธุรกิจจึงต้องปรับกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารเพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
กลุ่มธุรกิจ Modern Trade ประกอบไปด้วยผู้เล่นหลากหลายประเภท โดยในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากร้านค้าออนไลน์ รวมไปถึงต้นทุนสินค้าและการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย (Modern Trade) ประกอบไปด้วยผู้เล่นหลากหลายประเภท ทั้งกลุ่ม Modern Grocery อย่าง ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม Modern Grocery เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจ Grocery โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 72% ของร้านค้าปลีกกลุ่ม Grocery ทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นจากช่วงก่อนการระบาดของโควิด ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 64%
นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยยังประกอบไปด้วยร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงร้านขายสินค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านขายสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ครอบคลุมร้านค้าที่จำหน่ายตั้งแต่วัสดุก่อสร้างไปจนถึงของตกแต่งบ้าน ร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่เน้นการขายผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยารักษาโรค และร้านขายสินค้าแฟชั่นที่ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม Fast Fashion, Traditional Fashion และ Sportswear
อย่างไรก็ดี การระบาดของโควิดส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากขึ้นและลดความเสี่ยงจากการออกนอกบ้าน ทำให้มูลค่าตลาด e-Commerce เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วงปี 2563-2566 อยู่ที่ราว 35.1% ต่อปี ส่งผลให้มูลค่าตลาด e-Commerce มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากในปี 2562 ที่อยู่เพียงราว 7% มาอยู่ที่ 24% ในปี 2566 และคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ราว 25% ต่อมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมดในปี 2568 ส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ ปรับตัวโดยเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าให้กับลูกค้าทั้งที่หน้าร้านและช่องทางออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น เทรนด์ Social Commerce จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่าง e-Marketplace และ Social Media ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีกำลังซื้อมากขึ้น
นอกจากบทบาทของตลาด e-Commerce ที่มีความสำคัญมากขึ้นแล้ว ธุรกิจ Modern Trade ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มรายได้น้อย-ปานกลาง รวมไปถึงต้นทุนสินค้าและต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่คาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันภายในปี 2568 รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นกำลังซื้อสำคัญในระยะต่อไป นอกจากนี้ ธุรกิจ Modern Trade ยังถูกดิสรัปต์จาก Online Marketplace ภายนอกประเทศ เช่น Temu และ SHEIN
แทรกรูปที่1
https://drive.google.com/file/d/1QeSdESnS4rKJy6j0ymUdhgKmw2QtHJTJ/view?usp=drive_link
ธุรกิจ Modern Trade ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของการบริโภคและภาคท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัว แม้ว่าภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางจากภาวะหนี้ภาคครัวเรือน โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 และต่อเนื่องมาในปี 2568 ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาจากนโยบายกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าธุรกิจ Modern Trade เติบโตมาอยู่ที่ราว 2.58 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 3%YoY จากราว 3.4% ในปี 2567
โดยนโยบายภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ที่เริ่มโครงการในปลายเดือนกันยายน 2567 มาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนการคาดการณ์ของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่คาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันภายในปี 2568 จะส่งผลให้ธุรกิจ Modern Trade ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม Modern Grocery ที่จำหน่ายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับความช่วยเหลือก่อน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ากลุ่ม Modern Grocery จะมียอดขายเติบโตราว 4% ในปี 2567 และเติบโตอีกราว 3% ในปี 2568
สำหรับธุรกิจกลุ่ม Department Store ในปี 2568 คาดว่ายอดขายจะเติบโตที่ราว 3.6% จากในปี 2567 ที่คาดว่าจะโต 3.5% โดยมีปัจจัยบวกจากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดได้ในปี 2568 ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายในห้างสรรพสินค้าให้ฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2568
อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อที่ยังคงเปราะบางและฟื้นตัวได้อย่างจำกัด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น อีกทั้งยังมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคสู่ช่องทางออนไลน์ และแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากแผนเปิดตัวของโครงการ Commercial Real Estate ขนาดใหญ่หลายโครงการในระยะกลาง ซึ่งจะยิ่งทำให้ธุรกิจ Department Store มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
ในส่วนของร้านขายสินค้าเฉพาะทางอย่างสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม คาดว่ายอดขายมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าในกลุ่มสินค้าสุขภาพ เช่น ยา, วิตามิน และอาหารเสริม ขณะเดียวกัน เทรนด์ Travel Retail เป็นอีกช่องทางที่เติบโตค่อนข้างดี เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหันมาจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามของไทยมีคุณภาพ เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มสมุนไพรไทยและเครื่องหอม
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่ายอดขายของร้านค้าปลีกกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามจะเติบโตราว 3.4% ในปี 2567 และเติบโตราว 3% ในปี 2568 อย่างไรก็ดี การแข่งขันในสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการเติบโตของการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Marketplace และ Social Media ที่เอื้อให้มีผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาในตลาดมากขึ้น
มูลค่ายอดขายของร้านขายสินค้าเฉพาะทางในกลุ่มสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มเติบโตราว 2.1% ในปี 2567 และ 3% ในปี 2568 โดยร้านค้าปลีกกลุ่มนี้ยังเผชิญกับความท้าทายจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่หดตัวลง จากภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหากำลังซื้อและการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค ส่งผลให้แนวโน้มการขยายสาขาจะยังเป็นไปอย่าง Selective มากขึ้น อย่างไรก็ดี กลุ่มสินค้าซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านได้รับปัจจัยหนุนจากตลาด Renovate ที่อยู่อาศัย โดยผู้ค้าปลีกยังเน้นการนำเสนอสินค้าและนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมการให้บริการที่ครอบคลุม ทั้งการติดตั้งและการบริการหลังการขาย ในกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน อาจเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากร้านค้าออนไลน์ที่มีราคาถูกกว่ามากๆ ทำให้ต้องเน้นจุดขายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ น่าเชื่อถือ และมีบริการหลังการขายที่ร้านค้าออนไลน์ให้ไม่ได้
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ กลุ่มสินค้าแฟชั่นคาดว่าจะมียอดขายเติบโตราว 3.6% ในปี 2567 และ 3.4% ในปี 2568 โดยธุรกิจกลุ่มนี้จะเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันจากช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้ยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่ากลุ่ม Fast Fashion ยังเติบโตได้ดีกว่ากลุ่ม Traditional Fashion เพราะสินค้ากลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยมได้อย่างรวดเร็วและสินค้ามีความหลากหลาย ขณะที่กลุ่ม Traditional Fashion ยอดขายจะยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ส่วนกลุ่ม Sportswear และ Luxury Fashion ยอดขายกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนการระบาดของโควิดแล้วตั้งแต่ปี 2566 อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าไม่จำเป็นและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจกดดันให้ยอดขายสินค้าแฟชั่นเติบโตได้ไม่มากนัก
แทรกรูป 2-3 , 4
https://drive.google.com/file/d/1yQWGZ–wI7dDzYdWeNjXeyXypM193YMv/view?usp=drive_link
https://drive.google.com/file/d/1Kq5JdVQVFBErUmy8yVqNTGKAfgc7hTXy/view?usp=drive_link
ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับร้านค้าออนไลน์ โดยอาจนำเสนอสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ มีบริการหลังการขาย รวมถึงเพิ่มช่องทางออนไลน์เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และปรับกลยุทธ์รับเทรนด์ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะ Modern Grocery ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง โดยมีการขยายสาขาต่อเนื่องในกลุ่ม Convenience Store ตามการขยายตัวของเมืองเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่มากขึ้น ขณะที่กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต การขยายสาขามีแนวโน้มเป็นไปอย่าง Selective ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ
นอกจากนี้ ผู้เล่นรายใหญ่กลุ่ม Modern Grocery มีแนวโน้มเพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้สามารถบริการลูกค้าได้หลากหลายช่องทางและเพิ่มความยืดหยุ่นในการเลือกซื้อสินค้า รวมไปถึงการให้บริการจัดส่งสินค้าเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้า และยังเป็นการเพิ่ม Customer Loyalty ไปในตัว นอกจากนี้ กลุ่ม Modern Grocery ยังนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวแล้ว ยังมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ รวมทั้งตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความสะดวกสบายและประสบการณ์ในการซื้อ (Customer Experience) ที่ดีกว่าได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายแม้จะเป็นสินค้าที่จำเป็นก็ตาม ผู้ประกอบการจึงอาจพิจารณานำกลยุทธ์การตลาดแบบ Thrifty Economy มาปรับใช้ เนื่องจากการที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง หรือต้องการซื้อของราคาถูก ทำให้การปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นไปได้ยาก รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงเน้นนำเสนอสินค้า House Brand ที่มีคุณภาพลดลงแต่ราคาถูกกว่า หรือนำเสนอสินค้าในราคาเท่าเดิมแต่มีปริมาณที่ลดลง
กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากเทรนด์การรักษาสุขภาพและเวชศาสตร์เชิงป้องกัน โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ยังแข่งขันขยายสาขา รวมถึงการขยายช่องทางออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องจับตามองการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งจะเน้นใช้ e-Commerce เป็นช่องทางหลักเพื่อประหยัดต้นทุนหน้าร้าน อีกทั้งยังใช้ประโยชน์จาก Social Media ในการทำการตลาด ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคและขายสินค้าได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีสาขาจำนวนมากอาจต้องบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน หรือนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายย่อย
สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ยังมีความท้าทายอยู่อีกมากและต้องจับตามอง ได้แก่ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น และยังได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่เปราะบาง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งยังเผชิญกับการแข่งขันจากตลาด e-Commerce ส่งผลให้ทราฟฟิกของห้างสรรพสินค้ามีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ความคาดหวังของผู้บริโภคก็มีมากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการกลุ่มห้างสรรพสินค้าปรับเอาช่องทาง Omni-Channel มาเป็นทางเลือกในการขายสินค้า เนื่องจากการซื้อของออนไลน์จะยังไม่สามารถแทนที่การซื้อของที่ร้านจริงได้เต็มรูปแบบ เช่น สินค้าที่มีราคาสูง ผู้บริโภคมักจะต้องการสัมผัสของจริงก่อนตัดสินใจซื้อ หรือประสบการณ์ในการซื้อของที่หน้าร้านก็ไม่สามารถแทนที่ด้วยการซื้อของผ่านหน้าจอ อย่างไรก็ดี แม้ผู้ประกอบการจะเพิ่มช่องทางออนไลน์แล้ว แต่อาจยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ช่องทางดังกล่าวมียอดขายไม่เป็นไปตามคาด เนื่องจากผู้บริโภคอาจเลือกซื้อสินค้าออนไลน์จากแบรนด์ผู้ผลิตโดยตรง โดยไม่ผ่านช่องทางออนไลน์ของห้างสรรพสินค้า
สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย นอกจากผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะตลาดอสังหาที่ซบเซาแล้ว ยังเผชิญกับภาวะต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งกดดันให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย การแข่งขันด้านราคาจึงอาจเป็นกลยุทธ์ที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ผู้ประกอบการหลายรายจึงปรับจุดขายของร้านค้าตนให้แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในตลาด อย่างเช่นการเพิ่มประเภทสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อตอบสนองฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น โดยอาจร่วมมือกับผู้จำหน่ายสินค้าท้องถิ่น นักออกแบบ เพื่อเพิ่มบริการให้ครอบคลุม และเพิ่ม Loyalty จากลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มประสบการณ์เมื่อมาซื้อของที่หน้าร้าน อย่างการให้บริการออกแบบ การให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคล และการให้บริการหลังการขายอื่นๆ
ดังนั้น กลุ่มร้านค้าที่ให้บริการครบวงจรมีแนวโน้มที่จะมีศักยภาพในการเติบโตมากกว่ากลุ่มที่จำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยยังต้องเผชิญการแข่งขันจากร้านค้าที่มาจากต่างประเทศ อย่าง IKEA และ Nitori ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นจุดขาย อีกทั้งยังมีสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าที่วางจำหน่ายทั่วไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องจับตามองสำหรับธุรกิจค้าปลีกของไทยมาจากภาวะการแข่งขันในตลาด e-Commerce ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีก Modern Trade ที่มีหน้าร้านด้วย จากการเข้ามาแข่งขันของ Marketplace สัญชาติจีนอย่าง Temu ที่สามารถจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงให้กับผู้บริโภค ทำให้ขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก ซึ่งจะเป็นคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะกับร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านและกลุ่มสินค้าแฟชั่น ซึ่งสินค้ามีราคาไม่สูงและมีความหลากหลาย ส่งผลให้การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ แนวโน้ม ESG ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค อีกทั้งภาครัฐยังผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ โดยจะพบว่าธุรกิจค้าปลีกปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Scope 3) มากที่สุด ซึ่งแม้ผู้ประกอบการค้าปลีกจะไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ได้ แต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลากหลายช่องทาง อย่างเช่นการลดใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ส่งเสริม Circular Economy และใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้ง Solar Rooftop นอกจากนี้ ยังเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเพิ่มสัดส่วนสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ขณะเดียวกัน อีกกลยุทธ์สำคัญในการปรับตัวให้สอดรับกับกระแส ESG ยังมาจากการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค
จากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ราคาสินค้าที่สูงและตัวเลือกที่น้อยยังเป็นอุปสรรค ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% จากราคาสินค้าปกติสำหรับสินค้าที่มีความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ประเด็นราคาที่สูงกว่าราคาสินค้าทั่วไปยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินค้ากลุ่มนี้ ธุรกิจค้าปลีกจึงควรปรับตัวโดยเน้นคุณภาพสินค้าควบคู่กับจุดขายด้านความยั่งยืน รวมถึงความร่วมมือกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว