×

กลาโหมแจง เครื่องบินรบเมียนมาเข้าน่านฟ้าไทยเป็นช่วงเวลาสั้น ประสาน กต. ทำหนังสือประท้วงเป็นทางการแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2022
  • LOADING...
เครื่องบินรบเมียนมา

วันนี้ (8 กรกฎาคม) พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาแทน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ตั้งถามโดย ศราวุธ เพชรพนมพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย กรณีเครื่องบินรบของรัฐบาลเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าของประเทศไทย ว่าไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีพรมแดนติดกับเมียนมายาวกว่า 2,400 กิโลเมตร และเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งมากที่สุด โดยประเทศไทยปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพและความมั่นคงของเมียนมาให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและในฐานะครอบครัวอาเซียน

 

และสำหรับกรณีเครื่องบินรบเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าของประเทศไทยนั้น ทางกองทัพอากาศได้มีการเฝ้าระวังทางอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยระบบเรดาร์ของกองทัพอากาศ ซึ่งมีรัศมีตรวจจับครอบคลุมพื้นที่ระยะห่างจากแนวชายแดนเพื่อตรวจจับเครื่องบินที่ทำการบินใกล้บริเวณชายแดน พร้อมทั้งการเตรียมพร้อมหน่วยบินเพื่อสามารถขึ้นปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ได้ทันที ซึ่งกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางเรดาร์ของกองทัพอากาศได้ตรวจพบอากาศยานของเมียนมาในเวลา 11.16 น.

 

ซึ่งเมื่อศูนย์ยุทธการทางอากาศได้ทำการพิสูจน์ฝ่ายแล้วได้เฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา และเวลา 11.48 น. เครื่องบินลำดังกล่าวได้ปฏิบัติการภายในประเทศเมียนมา เวลา 11.56 น. เครื่องบินรบเมียนมาได้ทำการบินล้ำมาฝั่งไทย บริเวณตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และได้หายจากจอเรดาร์ไป

 

โดยช่วงเวลาที่เครื่องบินรบเมียนมาบินเข้าน่านฟ้าไทยถือเป็นช่วงเวลาที่สั้น ทางกองทัพอากาศเมื่อจับเรดาร์ได้ได้มีการสั่งเตรียมความพร้อมโดยทันที โดยทำการประท้วงผ่านผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทยประจำเมียนมา และทำการประท้วงผ่านคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ TBC และในเวลา 14.00 น. ทางกองทัพอากาศได้ตรวจพบอากาศยานซึ่งคาดว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์แบบ Mi-17 ทางกองทัพอากาศจึงได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 จำนวน 2 ลำ ขึ้นบินในเวลา 14.02 น. เพื่อเตรียมพร้อมสกัดกั้น

 

ในขณะที่เครื่องบินขับไล่ของไทยอยู่ระหว่างการขึ้นบินพบว่า เฮลิคอปเตอร์แบบ Mi-17 ของเมียนมาได้ทำการขึ้นบินบนน่านฟ้าภายในประเทศของเมียนมาเอง จึงได้สั่งการให้เครื่องบินขับไล่ F-16 ของไทยทำการลาดตระเวนเพื่อรักษาเขต เพื่อเป็นการป้องปรามและป้องกันเหตุผิดพลาดกรณีที่เมียนมาล้ำเข้ามาในเขตประเทศไทยอีก

 

ในเรื่องของการป้องกันเขตน่านฟ้าได้มีเครื่องมือยุทโธปกรณ์ในการดำเนินการ โดยกองทัพอากาศมีเรดาร์ที่สามารถตรวจจับครอบคลุมพื้นที่ตามแนวชายแดนและตามแนวระยะปฏิบัติตามแผน เมื่อตรวจพบอากาศยานดังกล่าวแล้วได้มีการติดตามและเตรียมพร้อมที่จะจัดเครื่องบินขึ้นดำเนินการ มีการพิสูจน์ฝ่ายพิจารณาว่าเครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินที่จะคุกคามหรือไม่ โดยเครื่องบินรบของเมียนมามีทิศทางที่มุ่งหน้ากลับประเทศภายในฐานบิน ทางกองทัพอากาศจึงได้ยกระดับการป้องกันทางอากาศ เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าตรวจทางอากาศมากยิ่งขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพอากาศได้ปฏิบัติตามหลักการการใช้กำลังซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ภายใต้กระบวนการคิดและตัดสินใจที่เป็นแบบแผนทางทหารตามเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งด้านทหารและด้านการทูต ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้มีการประท้วงทันที และมีการใช้กลไกประสานงานตามแนวชายแดนที่มีอยู่ทั้งระดับพื้นที่และระดับสูง นอกจากนั้นยังได้ประสานงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อทำหนังสือแจ้งไปยังเมียนมา ซึ่งถือเป็นการประท้วงอย่างเป็นทางการ เรียกร้องให้เยียวยาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

“ประเทศไทยมีนโยบายชัดเจนยืนยันว่าไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้ดินแดนประเทศไทยสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่จะไปปฏิบัติในประเทศอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ตรงนี้นโยบายชัดเจนไม่ให้ดำเนินการโดยเด็ดขาด เรายึดถือการแก้ไขปัญหาในเมียนมาตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน” พล.อ. ชัยชาญกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X