×
SCB Omnibus Fund 2024

‘พาณิชย์’ เผยส่งออกเดือน มี.ค. โต 19.5% มูลค่าพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี

26.04.2022
  • LOADING...
พาณิชย์

วันนี้ (26 เมษายน) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 2565 ขยายตัวได้ 19.5% คิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.2 แสนล้านบาท ถือว่ามูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในรอบ 30 ปี

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนมีนาคม 2565 และไตรมาสแรกของปี 2565 พบว่าตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 2565 ขยายตัวได้ 19.5% มีมูลค่ารวม 28,859.6 ล้านดอลลาร์ หรือ 922,313 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติการส่งออกปี 2534 

 

ทั้งนี้ หากจำแนกดูตามหมวดสินค้า พบว่าการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรขยายตัว 3.3% มีมูลค่า 2,168 ล้านดอลลาร์ โดยมีสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว, ไก่แปรรูป และมันสำปะหลัง 

 

ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้ 27.7% มีมูลค่ารวม 2,163 ล้านดอลลาร์ มีสินค้าสำคัญคือ น้ำมันพืช, น้ำตาลทราย, อาหารสัตว์เลี้ยง, เครื่องปรุงรส, อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูป

 

ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 20.6% มีมูลค่า 23,634 ล้านดอลลาร์ มีรายการสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, โทรสาร, โทรศัพท์, อัญมณีและเครื่องประดับ, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน, แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องมือแพทย์

 

สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

1. สวิตเซอร์แลนด์ +2,864.7%
2. เอเชียใต้ +36.4%
3. อาเซียน +34.8%
4. ตะวันออกกลาง +29.5%
5. สหรัฐอเมริกา +21.5%
6. สหราชอาณาจักร +14.5%
7. เกาหลีใต้ +14.5%
8. ไต้หวัน +9.4%
9. แคนาดา +9.2%
10. สหภาพยุโรป +6.9% 

 

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกไตรมาสแรกของปี 2565 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ขยายตัวได้ 14.9% มีมูลค่า 73,601 ล้านดอลลาร์ หรือ 2,401,444 ล้านบาท

 

จุรินทร์ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นในภาพรวมประกอบด้วย

 

  1. การส่งเสริมผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ คือ อาหาร, ดิจิทัลคอนเทนต์, สุขภาพความงาม และสินค้าที่มีจุดขายเป็นอัตลักษณ์ของไทย 

 

  1. การจัดทำมาตรการเชิงรุกด้านการบริหารจัดการผลไม้ มีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมเป็นบวกโดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งมีการเจรจากับด่านต่างๆ ในการส่งออกทางบก และวันนี้มีข่าวดี ด่านส่งออกผลไม้ไทยไปจีนที่ประกอบด้วย 4 ด่านหลัก คือ ด่านโม่ฮาน, ด่านโหย่วอี้กวาน, ด่านผิงเสียง และด่านตงซิง วันนี้ได้มีการเปิดด่านตงซิงแล้วหลังจากปิดไประยะหนึ่ง จะเป็นปัจจัยช่วยให้การส่งผลไม้ไทยไปจีนทางบกคล่องตัวขึ้น

 

นอกจากนั้น การส่งออกทางเรือ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้เริ่มคลี่คลาย และมอบหมายให้ทูตพาณิชย์กับทูตเกษตรและกระทรวงการต่างประเทศประสานกับทางการจีน มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือตอนใต้ของจีนอย่างน้อย 3 ท่าคล่องตัวขึ้น ทำให้ตัวเลขการส่งออกทางเรือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ยังช่วยเจรจากับการท่าอากาศยาน สายการบิน และผู้ส่งออก เรื่องค่าขนส่งและการจองสายการบิน ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงที่ผลไม้เริ่มออกผลต้นปีที่ผ่านมา จากนี้จะเดินหน้าอย่างเข้มข้นและมีแผนที่ชัดเจนต่อไป

 

  1. การผลักดันการค้าชายแดนซึ่งได้เร่งรัดการเปิดด่านมาโดยตลอด ล่าสุดจะยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่นเป็นจุดผ่านแดนถาวรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คาดว่าจะมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมาเกิดขึ้นต่อไป

 

  1. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Purchasing Managers Index หรือ PMI) ยังอยู่ในระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยเฉพาะดัชนี PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ, ยุโรป, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และอาเซียน ยังอยู่ในระดับ 50 จึงทำให้โอกาสที่จะซื้อสินค้าจากประเทศไทยมีมากขึ้นตามไปด้วย

 

  1. อัตราค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรปเริ่มลดลง ในขณะที่บางเส้นทางไม่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวช่วยอีกตัวหนึ่ง

 

  1. ค่าเงินบาทอ่อนค่า มีส่วนช่วยทำให้การส่งออกการแข่งขันในตลาดโลกแข่งขันได้มากขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising