กระทรวงพาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน พร้อมปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ระหว่าง 1-2% (ค่ากลาง 1.5%) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
วันนี้ (5 กรกฎาคม) วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดค่าครองชีพสำคัญ ประจำเดือนมิถุนายน 2566 เท่ากับ 107.83 ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.23% (YoY) เท่านั้น นับเป็นการชะลอตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน
โดยการชะลอตัวในเดือนนี้มีปัจจัยมาจาก 1. การชะลอตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาปรับลดลง และการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 2. ฐานราคาเดือนมิถุนายน 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 10 อันดับประเทศเงินเฟ้อสูงและต่ำที่สุดของโลก
- ‘กอบศักดิ์’ เตือนรัฐบาลใหม่เตรียมรับมือ 4 โจทย์หิน…
- จับตา 5 ความเสี่ยงเศรษฐกิจ ระเบิดเวลาที่อาจยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed และธนาคารกลางอื่นเร็วๆ นี้
วิชานันกล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2566) อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลขแล้ว (สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม)
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้สูงขึ้น 0.6% (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.05 อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้าจากการสิ้นสุดมาตรการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 150 บาทต่อครัวเรือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 1.32% (YoY) ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเพิ่มขึ้น 1.55% (YoY) ในเดือนพฤษภาคม
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2566
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์มองว่า มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มทรงตัว และเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ และอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งราคาอาหารบางชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่คาดว่าจะลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง
ขณะที่ราคาสินค้าบางชนิด โดยเฉพาะผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอิทธิพลของภัยแล้ง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งของโลก แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาค และมาตรการรัฐต่างๆ รวมทั้งภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่คาด ยังเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดได้
ด้วยปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ระหว่าง 1.7-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) ในเดือนเมษายน 2566 เป็นระหว่าง 1.0-2.0% (ค่ากลาง 1.5%) โดยหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง