กระทรวงพาณิชย์เผย เงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าฉุดตัวเลขส่งออกเดือนมกราคมติดลบ 4.5% เตรียมฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู พร้อมขยายตลาดใหม่ในเอเชียกลาง 5 ประเทศ สรท. มอง 5 ปัจจัยหนุนส่งออกไทยปีนี้ยังเป็นบวก
สินิตย์ ไกรเลิศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีมูลค่ารวมที่ 20,249 ล้านดอลลาร์ หรือ 7.01 แสนล้านบาท หดตัว 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
ทั้งนี้ หากแยกตามประเภทสินค้า 3 หมวดสำคัญ พบว่า หมวดสินค้าเกษตรติดลบ 2.2% คิดเป็นมูลค่า 1,814 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.27 หมื่นล้านบาท โดยมีสินค้าที่เติบโตสูง ได้แก่ ข้าว ไก่สด ไก่แช่เย็น ผลไม้สด ทุเรียนสด มะม่วงสด มังคุดสด
ขณะที่สินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร พบว่า ติดลบ 3.3% คิดเป็นมูลค่า 1,585 ล้านดอลลาร์ หรือ 5.48 หมื่นล้านบาท มีสินค้าที่เติบโตสูง ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
ด้านสินค้าหมวดอุตสาหกรรมติดลบ 5.4% คิดเป็นมูลค่า 16,053 ล้านดอลลาร์ หรือ 5.55 แสนล้านบาท มีสินค้าที่เติบโตสูง ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง
ขณะที่ตลาดที่มีการเติบโตสูง 10 อันแรกประกอบด้วย
- ซาอุดีอาระเบีย +68.8%
- อิรัก +57.7%
- อิตาลี +51.5%
- บรูไน +49.5%
- แอฟริกาใต้ +47.9%
- สิงคโปร์ +27.3%
- เม็กซิโก +16.4%
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ +14.4%
- บังกลาเทศ +6.9%
- อินเดีย +5.3%
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทำให้การส่งออกปี 2565 ขยายตัวได้สูง ประกอบด้วย
- ประเทศคู่ค้ามีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ เช่น อินโดนีเซียนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ไทยได้ประโยชน์จากเวียดนามส่งออกข้าวลดลง
- มีคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงเทศกาล เช่น ไก่สดและแช่แข็งส่งออกไปจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน โกโก้ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์
- การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานทางเลือกของประเทศคู่ค้า เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์
ส่วนปัจจัยด้านลบที่กดดันการส่งออกไทย ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ชะลอการซื้อสินค้าใหม่และฟุ่มเฟือย สินค้าที่ได้รับผลกระทบคือคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ
- ภาคการผลิตโลกหดตัว ต่างประเทศจึงลดการสั่งซื้อวัตถุดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล
สินิตย์ระบุว่า เพื่อผลักดันการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะเดินหน้าจัดกิจกรรมกว่า 450 กิจกรรม โดยมุ่งขยายตลาดเดิม เจาะ 4 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน โดยจะจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผลักดันค้าขายออนไลน์
โดยมีแผนเจาะตลาดศักยภาพใหม่ในเอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ซึ่งมีระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 3-7 ทำให้ตลาดเหล่านี้อาจกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ช่วยลดการกระจุกตัวของตลาดส่งออกไทยได้มากขึ้นในปี 2566
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังอยู่ระหว่างรื้อฟื้นการเจรจาการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมายการลดภาษีระหว่างกันเหลือ 0% ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งดำเนินการอนุมัติกระบวนการและขั้นตอนการเจรจาให้เร็วที่สุด หลังจากที่การเจรจาหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้มากขึ้น และมีแต้มต่อมากขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่น
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ลดการบริโภคจากต้นทุนค่าครองชีพที่สูง แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้บรรยากาศการค้าโลกที่ยังตึงเครียดจากการกีดกันทางการค้า รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น กระทบต่อการส่งออกของไทย
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ตัวเลขส่งออกในเดือนมกราคมที่ติดลบไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เนื่องจากการส่งออกไทยเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาตามสภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี หากมองไปในระยะข้างหน้าจะพบว่าขณะนี้เริ่มมีปัจจัยบวก 5 ด้านที่จะช่วยหนุนการส่งออกไทยมากขึ้น ได้แก่
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ และจีน เริ่มคงที่และปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตของจีนที่ขยายตัวได้ค่อนข้างดีจนมีโอกาสที่ GDP จีนในปีนี้อาจโตได้สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อส่งออกไทย
- ปัญหาซัพพลายเชนมีแนวโน้มคลี่คลาย ในปีที่ผ่านมาความกังวลต่อภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้หลายประเทศเร่งนำเข้าเพื่อกักตุนสินค้าวัตถุดิบจนนำไปสู่ภาวะที่มีสินค้าคงคลังสูง โดยคาดว่าการระบายสินค้าคงคลังดังกล่าวจะใช้เวลาถึงไตรมาส 2 หลังจากนั้นความต้องการสินค้าจากผู้ผลิตจะกลับมาอีกครั้ง
- สินค้าเกษตรยังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนชิปที่คลี่คลายลงจะช่วยผลักดันการส่งออกรถยนต์ของไทยได้
- ค่าระวางเรือและต้นทุนขนส่งในปัจจุบันเริ่มกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว ขณะที่ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็จบลงแล้วเช่นกัน
- ค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าสู่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ จากต้นปีที่ยังอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์อยู่ จะเป็นแรงส่งที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ภาคส่งออกไทย