×

พาณิชย์ยันไทยไร้เงินฝืด! แม้เงินเฟ้อ ม.ค. ติดลบ 4 เดือนติด ต่ำสุดในรอบ 35 เดือน

05.02.2024
  • LOADING...
ภาวะเงินฝืด

พาณิชย์ยืนยันไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้ตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือนมกราคมลดลง 1.11% ติดลบ 4 เดือนติด ต่ำสุดในรอบ 35 เดือน และต่ำกว่ากรอบของแบงก์ชาติ 9 เดือนติดต่อกัน

 

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ของไทย เดือนมกราคม 2567 ลดลง 1.11%YoY ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน

 

พูนพงษ์ยังเปิดเผยปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมติดลบ ได้แก่

 

  • การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ
  • การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดอย่างต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
  • ปัจจัยฐานราคาเดือนมกราคม 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง

 

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไทยในไตรมาส 1/67

 

กระทรวงพาณิชย์ยังระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และทั้งไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 มีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง โดยระบุว่า “โอกาสที่ไตรมาสแรกจะติดลบมีค่อนข้างสูง โดยคาดการณ์ว่าจะติดลบราว 0.7% ส่วนไตรมาสอื่นๆ อาจจะเห็นบวกบ้างลบบ้าง แต่ที่แน่ๆ ถ้าดูจากดัชนีเดือนธันวาคมปี 2567 จะพลิกบวกแน่ๆ” เนื่องจากฐานเดือนธันวาคมปี 2566 ค่อนข้างต่ำ

 

เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

  1. มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย
  2. มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567
  3. ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีปัจจัยที่อาจผลักดันอัตราเงินเฟ้อได้ ได้แก่

 

  1. สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น
  2. เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น
  3. ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการเพิ่มขึ้น และการปรับราคาเพื่อให้มีความสมดุลและเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  4. การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว หลังจากภาครัฐมีนโยบายอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาประเทศไทยของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจประเทศต่างๆ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น 

 

กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง -0.3% ถึง 1.7% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7% โดยกระทรวงพาณิชย์ยังมองว่า เป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

 

ยืนยันไทยยัง ‘ไร้เงินฝืด’ 

 

พูนพงษ์ยังยืนยันว่า ไทยยังไม่เข้าภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบเกิน 3 เดือนติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยพิจารณาภาวะเงินฝืด เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีราคาลดลง โดยในเดือนมกราคม สินค้าในตะกร้า CPI ทั้งหมด 430 รายการ ยังเพิ่มขึ้น 160 รายการ คงที่ 173 รายการ และลดลง 97 รายการ นอกจากนี้ ในเดือนที่ผ่านมายังมีกลไกอย่างมาตรการลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะมาตรการลดราคาพลังงานเข้ามาแทรกแซงด้วย

 

แบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยเสี่ยงกระทบเงินเฟ้อ

 

พูนพงษ์ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวประเด็นที่ว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อหรือไม่ โดยระบุว่า ถ้าการขึ้นดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของธุรกิจ และอ้อมไปส่งผลต่อเรื่องราคาสินค้าให้ปรับสูงขึ้น ก็อาจมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ แต่ไม่ทันทีทันใด เป็นรอบระยะเวลา

 

“เรื่องว่าเหมาะลดดอกเบี้ยหรือไม่ลดต้องถามทางแบงก์ชาติ เพราะผมเชื่อว่าท่านดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ต่างคนต่างมุมมอง ต่างคนต่างมีเหตุผล เพราะว่าถ้า (ดอกเบี้ย) ขึ้นไปนิดหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของต้นทุนธุรกิจ ถ้าลงก็จะช่วยเรื่องต้นทุนของ SME แม้ว่าอาจจะมีผลต่อเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติ” พูนพงษ์ตอบ

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X