สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 มูลค่าการส่งออกกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ากว่า 1.95 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16% ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุลกว่า 807 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่เมื่อพิจารณาในรูปของค่าเงินบาทเทียบกับปีที่ผ่านมา ปรากฏกว่ามูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทกลับหดตัว 0.6% อยู่ที่ราว 6.4 แสนล้านบาท และมูลค่าการนำเข้ากลับในรูปเงินบาทขยายตัว 4.7% อยู่ที่ 6.26 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินบาท ซึ่งล่าสุดวันนี้ (22 มี.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.218 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก (ม.ค. – ก.พ.) อันดับ 1 คือรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่าเกือบ 1.5 แสนล้านบาท อันดับ 2 คือเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่าราว 1 แสนล้านบาท และอันดับ 3 ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรก (ม.ค. – ก.พ.) อันดับ 1 คือน้ำมันดิบ มูลค่า 1.23 แสนล้านบาท อันดับ 2 คือเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่าราว 1.12 แสนล้านบาท และอันดับ 3 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่าราว 9.6 หมื่นล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์ประเมินภาพรวมตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวดีทุกตลาด เช่น ตลาดประเทศญี่ปุ่น ขยายตัวได้ถึง 41.1% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ และยุโรปก็ยังคงขยายตัว สำหรับเป้าหมายการส่งออกทั้งปี ภาครัฐยังคงเป้าหมายการขยายตัวที่ 8% ที่มูลค่าการส่งออก 2.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ย 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์มูลค่าการส่งออกปี 2561 จะขยายตัวที่ 5% ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ โดยมองว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล และยางพารา ภาคการเกษตรมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้าน้อย จึงไม่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าเท่าใดนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายอาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หากไม่ทำการปิดความเสี่ยงด้านค่าเงินเอาไว้
อ้างอิง: