×

ทวงคืนโมอาย รูปปั้นหินแห่งจิตวิญญาณ หรือเพียงวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

01.11.2019
  • LOADING...
โมอาย

HIGHLIGHTS

8 MINS. READ
  • หลายเดือนก่อน ชนพื้นเมืองจากเกาะอีสเตอร์มาทำพิธีกรรมขอทวงคืนประติมากรรมขนาดยักษ์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ ‘โมอาย (Moai)’ ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่บริติช มิวเซียม ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจในแง่มุมของโบราณคดี และการท้าทายต่อสิทธิอันชอบธรรมของมิวเซียม (พิพิธภัณฑ์) ในการเก็บโบราณวัตถุของชนพื้นเมืองจากดินแดนอันห่างไกลเอาไว้ 
  • กระแสการทวงคืนนี้เกิดขึ้นจากการตระหนักรู้ในเรื่องของสิทธิชนพื้นเมือง (Indigenous Rights) ที่เริ่มจริงจังเมื่อราวปี 2007 โดยยูเอ็น (เรียกประกาศนี้ว่า UNDRIP) ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องของสิทธิดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในดินแดนที่คนขาวเคยเข้าไปแสวงหาประโยชน์หรือครอบครองในฐานะอาณานิคม หรือใช้อำนาจด้วยทางใดทางหนึ่ง
  • ไม่ต่างจากในบ้านเราที่พระพุทธรูปเมื่อเข้าไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็เปลี่ยนความหมายเป็น ‘วัตถุจัดแสดง’ หรือ ‘ศิลปวัตถุ’ เท่านั้น

กระแสการทวงคืนโบราณวัตถุตามมิวเซียมต่างๆ ในต่างประเทศยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการตระหนักรู้ถึงสิทธิของชนพื้นเมืองหรือประเทศภายใต้อาณานิคมที่มากขึ้น 

เมื่อหลายเดือนก่อน ที่บริติช มิวเซียม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านพักผมที่ลอนดอน ผมได้ข่าวว่า มีชนพื้นเมืองจากเกาะอีสเตอร์มาทำพิธีกรรมขอทวงคืนประติมากรรมขนาดยักษ์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ ‘โมอาย (Moai)’ ซึ่งตัวที่จัดแสดงที่บริติช มิวเซียมนี้มีชื่อว่า ‘โฮอา ฮากานานาอิอา (Hoa Hakananai’a)’ ตอนนั้นไม่ได้มีโอกาสไปดู แต่ผมว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจดี ทั้งในแง่มุมของโบราณคดีและการท้าทายต่อสิทธิอันชอบธรรมของมิวเซียม (พิพิธภัณฑ์) ในการเก็บโบราณวัตถุของชนพื้นเมืองจากดินแดนอันห่างไกลเอาไว้ 

 

โมอาย

โมอาย โฮอา ฮากานานาอิอา ซึ่งตั้งจัดแสดงอยู่ในห้อง Welcome Gallery 

ของบริติช มิวเซียม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

โมอายคืออะไร 

นับจากโมอายเป็นที่รู้จักของชาวยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มเกิดจินตนาการว่า โมอายทำขึ้นโดยมนุษย์ต่างดาว บ้างก็ใช้สื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว ไม่ต่างจากพีระมิด ทั้งหมดนี้จินตนาการล้วนๆ 

 

‘โมอาย (Moai)’ หรือโมอายอิ เป็นประติมากรรมรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ของชาวราปานุย แกะสลักขึ้นจากหินบะซอลต์ (หินภูเขาไฟ) ประเมินกันว่ามีรูปโมอายทั่วเกาะสัก 900 รูป สลักขึ้นโดยบรรพบุรุษชาวราปานุยที่ยังอาศัยอยู่บนเกาะอีสเตอร์ ไม่ใช่คนจากที่อื่น ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว มีเรื่องเล่าว่า ผู้สลักเป็นช่างชั้นสูง ซึ่งในแต่ละกลุ่มตระกูลจะมีช่างของตนเอง

 

เมื่อราว ค.ศ. 1000-1600 ได้เกิดความเชื่อในกลุ่มชาวราปานุยว่า เมื่อบรรพบุรุษตายไปแล้วจะกลายเป็น ‘พระเจ้า’ หรือ ‘เทพบรรพบุรุษ’ แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าพวกเขาบูชาโมอายเพื่อวัตถุประสงค์ใด อาจเพื่อความอุดมสมบูรณ์ การเกิด การตาย หรือการภาวนาให้คนตายยกระดับกลายเป็นเทพ 

 

โมอาย

ด้านหน้าและด้านหลังของโฮอา ฮากานานาอิอา จัดแสดงในบริติช มิวเซียมปัจจุบัน

 

การบูชาโมอายเป็นเรื่องของกลุ่มตระกูล ซึ่งกลุ่มตระกูลของชาวราปานุยมีทั้งหมด 10 ตระกูล (หรือเผ่า) กลุ่มตระกูลที่ถือเป็นชนชั้นสูงมีชื่อว่า ‘มิรุ’ ซึ่งถือเป็นเจ้าแห่งขุนเขา และเป็นผู้นำทุกกลุ่มตระกูล จึงได้ครอบครองที่ดินที่ดีบนเกาะ แต่ทั้งหมดก็ถือกันว่าเป็นลูกเป็นหลานของ ‘โฮตู มาตูอา’ ทำให้ตีความได้ด้วยว่า โมอายก็คือต้นตระกูล หรือบรรพบุรุษที่เป็นเทพ 

 

โมอาย

โมอาย 

 

เมื่อแกะสลักเสร็จ โมอายจะถูกเคลื่อนย้ายไปยัง ‘อาฮู (ahu)’ หรือแท่นสำหรับตั้งโมอาย ซึ่งถือเป็นพื้นที่ของศาสนสถานด้วย ซึ่งในหมู่นักโบราณคดีก็ถกเถียงกันมาตลอดว่า ชาวราปานุยเคลื่อนย้ายมันอย่างไร เพราะบางรูปมีขนาดใหญ่มาก โมอายที่สูงที่สุดมีชื่อว่า ‘ปาโร’ มีความสูง 10 เมตร และหนักถึง 82 ตัน

 

อาฮูส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งหรืออ่าว ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละสายตระกูล อาฮูบางแห่งมีรูปโมอาย 1 รูป หรืออาจมีมากถึง 15 รูป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พื้นที่ทั่วทั้งเกาะถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย 

 

มีความเป็นไปได้ที่ความเชื่อในการบูชาโมอายนี้หายไปจาก 2 สาเหตุ 

 

โมอาย

 

อย่างแรกคือ เมื่อตะวันตกเข้ามา ทำให้เกิดการสนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนต้นไม้ถูกตัด สภาพแวดล้อมบนเกาะเปลี่ยน จึงเกิดความแห้งแล้ง ทำให้การบูชาต่อโมอายเสื่อมศรัทธาไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 1600 ซึ่งสอดคล้องกับชนิดของละอองเกสรดอกไม้ที่เปลี่ยนไปในช่วงนี้เช่นกัน

 

อย่างที่สองคือ เกิดความเชื่อใหม่ขึ้นมาคือ การบูชาเทพเจ้านก (Birdman) หรือในภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ‘ตันกาตะ มานุ’ ทำให้ความเชื่อเรื่องโมอายจางหายไป 

 

การเดินทางของโฮอา ฮากานานาอิอา มายังบริติช มิวเซียม 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1868 พลเรือจัตวา โพเวลล์ ผู้บังคับการเรือเฮชเอ็มเอส  โทปาซ ได้บันทึกว่า ได้นำประติมากรรมรูปหนึ่งมาจากเกาะราปานุย (ต่อมาเรียกเกาะอีสเตอร์) ในบันทึกโพเวลล์ได้กล่าวว่า ประติมากรรมชิ้นนี้มีสัญลักษณ์แปลกๆ อยู่ด้านหลัง 

 

หลังจากรอนแรมในมหาสมุทร เรือก็มาเทียบท่าที่เมืองพอร์ตเมาท์ (บางทีออกเสียงเป็นพอร์ตมัท) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1869 ในช่วงปลายฤดูร้อน พร้อมกับนำประติมากรรมชิ้นนั้นขึ้นบนฝั่ง โดยมีผืนผ้าใบเขียนไว้ว่า โฮอา-ฮากา-นานา-อิอา จาก ตาอู-รา-เรงา เต ราโน ราปา-นุย  ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้มาเยี่ยมชมและสื่อเป็นอย่างมาก 

 

 

โมอาย

โฮอา ฮากานานาอิอา ขณะกำลังขนย้ายมาบนเรือและนำลงบนท่าเรือเมื่อ ค.ศ. 1869 (Photo: imaginaisladepascua.com)

 

โมอาย

สังเกตได้ว่าที่ด้านหลังของโฮอา ฮากานานาอิอา สลักสัญลักษณ์ต่างๆ 

โดยมีเชือกผูกรัดเอวรูปนกอยู่ 3 ตัว (นกเป็นสัญลักษณ์ของนกส่งวิญญาณ) 

และหัวของมนุษย์อยู่ส่วนยอดของทรงผม (Photo: www.raspberrypi.org)

 

ในวันเดียวกันนั้น หน่วยงานด้านกองทัพเรือของอังกฤษได้เขียนจดหมายถึง จอห์น วินเทอร์ โจนส์ เจ้าหน้าที่ของบริติช มิวเซียม ว่า “ข้าพเจ้าได้ถวายประติมากรรมนี้ให้กับสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ซึ่งได้รับคำตอบกลับมาว่า ควรจะส่งมอบให้กับบริติช มิวเซียม” (Tilburg 2004:7) 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่กองทัพได้จัดส่งประติมากรรมดังกล่าวให้กับทางพิพิธภัณฑ์ โดยแจ้งว่า ไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แต่มีอีกตัวหนึ่งมาพร้อมกันด้วย (ซึ่งปัจจุบันประติมากรรมชิ้นหลังนี้ถูกนำไปจัดแสดงไว้ยังแมนเชสเตอร์ มิวเซียม มีชื่อว่า ‘โมอาย ฮาวา’ เพิ่งนำไปจัดแสดงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2015)

 

นับตั้งแต่ประติมากรรมดังกล่าวถูกนำมาจัดแสดงยังบริติช มิวเซียม มันได้กลายเป็นวัตถุจัดแสดงที่โดดเด่น จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปของชาวลอนดอน และตามมาด้วยคำถามมากมายว่า ผู้สร้างประติมากรรมพวกนี้คือใคร และมีความหมายอย่างไร 

 

โฮอา ฮากานานาอิอาจัดแสดงที่บริติช มิวเซียมเรื่อยมา จนกระทั่ง ค.ศ. 1940 จึงได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ เพื่อหลบภัยจากสงคราม และเพิ่งจะเคลื่อนย้ายกลับจัดแสดงที่บริติช มิวเซียมอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 2000 โดยเลือกจัดแสดงในจุดที่โดดเด่นที่นักท่องเที่ยวนับพันเดินผ่าน 

 

ในหนังสือเรื่อง โฮอา ฮากานานาอิอา เป็นการเฉพาะนั้น ได้บรรยายว่า ทุกวันนี้โฮอา ฮากานานาอิอา ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนทูตที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักกับศิลปวัฒนธรรมของราปานุย ด้วยเป็นเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก (Tilburg 2004:10)

 

อยากให้ผู้อ่านสังเกตว่า คำพูดทำนองแบบนี้มักใช้เป็นข้ออ้างเสมอของมิวเซียมในยุโรปและอเมริกาที่เราอาจจะพูดได้หลายแบบ เช่น นำไป ขโมยไป หรือเอาไปโดยความไม่เต็มใจของชนพื้นเมือง เพื่อยื้อเอาไว้ให้จัดแสดงที่มิวเซียมของตนเองต่อไป 

 

โมอาย

ชาวราปานุย ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1914 (Photo: wikipedia)

 

ทวงคืนโมอาย

ด้วยกระแสการทวงคืนโบราณวัตถุที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ตัวแทนของชาวราปานุยและรัฐมนตรีของชิลีได้เดินทางมาเจรจากับทางบริติช มิวเซียม เพื่อขอโมอาย โฮอา ฮากานานาอิอา กลับคืนไปยังเกาะอีสเตอร์ หลังจากที่ได้ถูกเคลื่อนย้ายมานานถึง 150 ปี 

 

โดยให้เหตุผลว่า นี่คือจิตวิญญาณของชาวราปานุย และ “โมอายคือครอบครัวของพวกเรา, ไม่ใช่เพียงแค่ก้อนหิน. สำหรับพวกเรา ประติมากรรมพวกนี้คือ พี่น้อง; แต่สำหรับพวกเขา (นักท่องเที่ยว) โมอายเป็นแค่ของที่ระลึก หรือสิ่งของที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว”, พูดโดย อนาเกนา มานูโตมาโตมา ข้าราชการบนเกาะอีสเตอร์ (The Guardian 16/11/2018)

 

ก่อนที่การเจรจาจะเกิดขึ้น กลุ่มของผู้แทนได้มาทำพิธีกรรมบูชา นำของมาถวาย เต้นรำ และร้องเพลงที่รูปสลักโฮอา ฮากานานาอิอา โดยหวังว่าจะให้การเจรจาเป็นไปด้วยมิตรภาพและเป็นไปในทางบวก 

 

ข้อเสนอของชาวราปานุยก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ทางบริติช มิวเซียมจะจัดแสดงของที่ทำจำลองขึ้นมาใหม่แทนที่ของจริง โดยจะให้ เบเนดิกโต ตูกิ ช่างชาวราปานุยที่มีชื่อเสียง เป็นคนแกะสลัก โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังเสนอให้ทางบริติช มิวเซียมไปดูงานและเจรจายังเกาะอีสเตอร์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันอีกด้วย 

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนแต่อย่างใดว่าทางบริติช มิวเซียมจะคืนให้หรือไม่ เช่นเดียวกับวัตถุอีกหลายๆ ชิ้น เพราะหากบริติช มิวเซียมเริ่มคืนไป ก็อาจก่อให้เกิดกระแสการทวงคืนโมอายตามมิวเซียม มหาวิทยาลัยในอเมริกา และวัตถุสะสมส่วนตัวของเศรษฐีที่ครอบครองไว้ทั่วโลกอีกถึง 79 ตัว 

กระแสการทวงคืนพวกนี้เกิดขึ้นจากการตระหนักรู้ในเรื่องของสิทธิชนพื้นเมือง (Indigenous Rights) ที่เริ่มจริงจังเมื่อราว ค.ศ. 2007 โดยยูเอ็น (เรียกประกาศนี้ว่า UNDRIP) ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องของสิทธิดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในดินแดนที่คนขาวเคยเข้าไปแสวงหาประโยชน์ หรือครอบครองในฐานะอาณานิคม หรือใช้อำนาจด้วยทางใดทางหนึ่ง

 

กระแสการตระหนักรู้ในสิทธินี้เองที่นับเป็นเรื่องท้าทายต่อ ‘สิทธิ’ อันชอบธรรมของมิวเซียมต่างๆ ในการครอบครองโบราณวัตถุที่ได้มาด้วยหลายวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาด้วยกำลัง ความไม่เต็มใจ หรือเต็มใจในสมัยที่ชนพื้นเมืองยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ หรือกระทั่งขโมยมาในสมัยอาณานิคม หรือในสมัยสงครามเย็นก็ดี 

 

คงเป็นเรื่องยากในการหาข้อสรุป ในความเห็นของผมคือ ‘ควรคืน’ เพราะวัตถุจัดแสดงในมิวเซียมนั้น ถึงจะมีความสำคัญและมีผู้คนมาเยี่ยมชมมากมาย แต่หากวัตถุนั้นขาดบริบทคือสถานที่ที่วัตถุนั้นเคยอยู่ ขาดคนบูชา ก็เท่ากับขาดซึ่งจิตวิญญาณ ดังเช่นที่ชาวราปานุยได้กล่าวเอาไว้ 

 

เรื่องนี้ไม่ต่างจากในบ้านเรา ที่พระพุทธรูปเมื่อเข้าไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แล้วก็เปลี่ยนความหมายเป็น ‘วัตถุจัดแสดง’ หรือ ‘ศิลปวัตถุ’ เท่านั้น เพราะขาดคนบูชา (อาจมีคนเอาดอกไม้ไปวางบ้างแต่ก็น้อยมาก) ยังไม่นับรวมถึงปัญหาของอาณานิคมภายในที่ชนชั้นนำสยามนำวัตถุไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย (แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างสำนึกในสมัยจารีตกับสมัยใหม่) 

ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้อย่างหนึ่งคือ ผมคิดว่า ผู้ชมนั้นนับว่ามีส่วนสำคัญทีเดียว ที่วันหนึ่งจะต้องยอมรับต่อการดูวัตถุจัดแสดงที่ทำเลียนแบบ ไม่ยึดติดกับการดูของจริงเท่านั้น โดยต้องมองคุณค่าและความหมายของวัตถุเป็นสำคัญมากกว่าความสวยงามและความจริงแท้แบบ Masterpiece ที่โลกของนักสะสมนิยมของเก่าได้สร้างคุณค่าไว้แต่สมัยอาณานิคม 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X