THE STANDARD สัมภาษณ์ คุณปลื้ม-หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในไทยมาเกือบ 20 ปี นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง-เศรษฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ
คุณปลื้มเล่าว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วมีจุดเปลี่ยนทางความคิด จากประสบการณ์ที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดมานาน มองเห็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต กำลังจะเกิดขึ้นวนซ้ำอีกครั้ง นั่นคือความบาดเจ็บสูญเสียชีวิตของปัจเจกบุคคล คนธรรมดา ในเกมของนักการเมืองที่ชักเย่อแย่งชิงอำนาจกันไปมาของขั้วต่างๆ ทางการเมืองไทย ซึ่งแบ่งคร่าวๆ เป็นฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย โดยเปรียบเทียบการชิงอำนาจของ 2 ฝ่ายทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย
คุณปลื้มมองขั้วการเมืองในไทยสามารถแบ่งเป็นฝ่ายอย่างไรได้บ้าง
ฝ่ายขวาในไทยสามารถถูกนิยามได้ว่าเป็นฝ่ายซึ่งนิยมทหาร นิยมการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ที่ไม่ได้มีความรับผิดชอบโดยตรงกับประชาชนในการตรวจสอบผู้นำจากการเลือกตั้ง รวมทั้งเป็นฝ่ายที่นิยมรัฐราชการ
ส่วนฝ่าย Progressive ในไทย หรือฝ่ายซ้ายกลางในไทย ก็สามารถถูกนิยามว่าเป็นฝ่ายซึ่งเรียกร้องในสิ่งที่เรียกว่า อำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องมีกลไกตรวจสอบหรือถ่วงดุลจากกลไกซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ดังนั้น ฝ่ายซ้ายกลางในที่นี้ ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายก้าวหน้า เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากกลไกซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน อย่างเช่น องค์กรอิสระในยุคปัจจุบัน นี่คือฝ่ายซ้ายกลางยุคใหม่ Progressive หรือฝ่ายประชาธิปไตยในไทย
เกมชักเย่อชิงอำนาจ
แต่ในที่สุดแล้ว การแย่งชิงอำนาจเป็นการชักเย่อกันไปมา ไม่ได้แตกต่างกันกับสิ่งที่เห็นในประเทศอื่น มันมีศึกในการแย่งชิงมวลชนผ่านการแย่งชิงสื่อ และในขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามที่จะสร้างความหวาดระแวงต่อฝ่ายตรงข้ามว่า เมื่อมีอำนาจจะลุแก่อำนาจ แต่การชักเย่อกันไปมาระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายในลักษณะนี้ ฝ่ายที่เป็นกลไกเข้าถึงอำนาจผ่านการเลือกตั้ง และฝ่ายที่ไม่ได้ใช้กลไกการเลือกตั้งเสมอไปในการเข้าถึงอำนาจ เป็น Normalcy ในสังคมไทย สภาวะแห่งความเป็นจริงในการแย่งชิงอำนาจในระบอบการเมืองไทย
นักการเมืองคือ Broker of Power ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการแย่งชิงอำนาจ ถ้าใครชีวิตมีเงินแล้วอยากจะเป็นนักอุดมการณ์ ก็เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อมีความสุขกับการได้เห็นอุดมการณ์ของตัวเองที่ได้รับการสานต่อ แต่ไม่ใช่เอาตัวเองไปพังทลายกับภารกิจนั้น
การติดตามเรื่องการแบ่งขั้วเป็น Story Line ทางการเมือง มันทำให้ได้อรรถรส แต่ผมเตือนสติผู้ชมรายการอยู่ตลอดเวลาว่า คุณอย่าลงสนามไปด้วย แล้วก็อย่าไปเสียสละเพื่อการเคลื่อนไหวของขั้วอำนาจต่างๆ เหล่านี้
พูดง่ายๆ ผมกำลังแยกชีวิตปัจเจกบุคคลออกมาจากสงครามการเมือง ในประเทศนี้คุณสามารถแสวงหาโอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพของคุณได้ คุณหางานทำได้ และสร้างโอกาสให้กับตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปสนว่าเกมนี้มันชักเย่อระหว่างขวากับซ้าย แย่งชิงอำนาจกันแล้วผลจะเป็นอย่างไรต่อ
การแย่งชิงอำนาจนี้มันจะมีอีกตลอดไป เช่นเดียวกันกับการแย่งชิงอำนาจในประเทศอื่นๆ ระหว่างขั้วขวาและซ้าย ของเมืองไทยก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป
การแบ่งขั้วความขัดแย้งทางการเมือง
ผมคิดว่ามีอีกวิธีคิดในประเทศไทย คือต้องมองสถานการณ์การแบ่งขั้วทางการเมืองในประเทศอื่นด้วย แล้วจะได้เห็นว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองในไทยก็ไม่ได้แตกต่างพิเศษถึงขนาดว่าในประเทศอื่นไม่มี เพราะทุกประเทศมีความขัดแย้งทางการเมือง แบ่งเป็นฝั่งเป็นฝ่าย แล้วถึงเวลาก็จะมีบทบาทหน้าที่ให้กองทัพปฏิบัติภารกิจในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
แต่ในที่สุดแล้ว เราต้องอยู่กับการแบ่งขั้วโดยไม่จำเป็นต้องมองว่าความขัดแย้งเป็นปัญหาอยู่ตลอดเวลา บางครั้งฝ่ายซ้ายก็ดึงอำนาจไปได้มากกว่า บางครั้งฝ่ายขวาดึงไปได้มากกว่า แต่ในที่สุดก็เป็นการแย่งชิงอำนาจกันไปมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลกมนุษย์
เวลาเล่าเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในรายการ ผมต้องการให้ผู้ชมเห็นคู่ขัดแย้ง แต่ไม่ได้ต้องการให้คนไปต่อสู้ลงถนนเพื่อเสียเลือด เสียเนื้อ หรือเสียชีวิต
ความเหลื่อมล้ำ เรื่องอ่อนไหวในไทย เทียบเท่าเรื่องสีผิวที่เป็นเรื่องอ่อนไหวในสหรัฐอเมริกา
เมืองไทยมีประเด็นความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นอ่อนไหว มีวาทกรรมที่ใช้กัน รวยกระจุก จนกระจาย มันเป็นประเด็น Sensitive เพราะคนรู้สึกว่าไม่สามารถไต่เต้าได้ และจะมีฝ่ายที่หยิบเรื่องนี้มาจุดชนวน
ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในไทยเทียบเท่าเรื่องสีผิวในสหรัฐฯ เป็นเรื่องซึ่งคนมีทัศนคติว่าคนไม่มีความเท่าเทียมกัน ทั้งๆ ที่ประเด็นที่มีอยู่อาจเป็นสิ่งที่อย่างไรก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจดีว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายๆ เรื่อง ผมรู้สึกได้ว่าในช่วงเวลาที่ผมจัดรายการมาเป็นเวลาสิบกว่าปี ในสำนักข่าว ในทีวีหลายช่อง ในที่สุดก็มีส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การบ่มเพาะให้คนรู้สึกว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ต้องออกมาต่อสู้กันเพื่อเอาชนะกัน ซึ่งนำไปสู่การลุกฮือขึ้นมา แล้วแทบจะทั้งหมดนำไปสู่การสูญเสียของฝ่ายที่ลุกฮือขึ้นมา
เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วผมก็เลยคิดว่าการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมหรือมวลชนในแต่ละรอบ ไม่ได้นำมาสู่การบรรลุเป้าหมายที่เขาต้องการ เพราะแทบทุกครั้งจะนำมาสู่การสูญเสียในฝั่งประชาชนเอง
ในขณะเดียวกันก็มีวาทกรรมผลิตซ้ำตลอดเวลาโดยสื่อมวลชนและผู้นำมวลชนในแต่ละรุ่นว่า ต้องช่วยกันสู้ ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วผมตั้งคำถามว่า ดูจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบ มาจนถึงทุกวันนี้ วาทกรรมนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ หรือไม่ เพราะในที่สุดก็นำมาสู่การสูญเสียทุกรอบ
ทุกสังคมมีความเหลื่อมล้ำ ในที่สุดไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน การเติบโตขึ้นมาในโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ ทุกคนมีโอกาสที่จะสร้างตนเองให้มีความมั่งคั่งได้ในระดับหนึ่งที่สามารถจะทำได้ แล้วส่งต่อไปเจเนอเรชันต่อไป
ผมกำลังจะบอกว่าในทุกสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ ปัจเจกบุคคลที่เติบโตขึ้นมาจะได้ยินวาทกรรมจากนักการเมืองทั่วโลกว่า ต้องมีอำนาจรัฐเพื่อไปลดความเหลื่อมล้ำ นั่นเป็นความใฝ่ฝันที่จะได้ยินในทั่วโลก
วาทกรรมที่จะทลายทุนผูกขาด ต้องการลดบทบาททหาร ก็มีในสหรัฐฯ บารัก โอบามา ก็หาเสียงเช่นกัน แต่พอเป็นประธานาธิบดีก็สั่งทิ้งระเบิดที่ซีเรีย บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีที่สนับสนุนสงครามในหลายๆ ประเทศมาก แล้วเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ทลายทุนผูกขาด สุดท้ายบริษัททุนผูกขาดอุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐฯ ก็มีอยู่แค่ 4 บริษัทเหมือนเดิม
ความเหลื่อมล้ำเป็น Fixture ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แล้วมันเป็นอาการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ นอกเหนือไปจากนั้น การกระจุกตัวของที่ดินในคนหมู่น้อยก็เป็นอาการของระบบเศรษฐกิจนี้ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก
ทัศนะเรื่องความเหลื่อมล้ำมีมานานและพยายามแก้ไขมานาน ซึ่งไม่บรรลุเป้าหมาย สุดท้ายกลับมาที่ตัวบุคคลจะยกระดับสถานะตัวเองอย่างไรในการแข่งขันในสังคม
เราจะสร้างเยาวชนให้เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ หรือจะสร้างคนให้ไต่เต้าเติบโตในระบบ ให้ตนเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ดูแลครอบครัวได้ แล้วส่งสิ่งที่มีอยู่ให้คนรุ่นต่อไป
เรื่องที่อ่อนไหวในประเทศอื่น แต่ไม่อ่อนไหวในไทย เช่นเรื่องอะไร
ยกตัวอย่างอีกประเทศคือ ฝรั่งเศส มีเคสหนึ่งที่เด็กคนหนึ่งอายุ 17 ปี มีคดีเยอะแยะมากมาย แล้วเขาฝ่าฝืนคำสั่งตำรวจที่สั่งให้หยุดรถ แต่เขาบึ่งรถไปเร็ว ตำรวจซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะยิงให้เด็กเสียชีวิต จะยิงเพื่อหยุดรถแต่ยิงพลาด เด็กจึงเสียชีวิต ต่อมาพลเมืองลุกฮือในฝรั่งเศส นำมาสู่การเผาบ้านเผาเมือง
เพราะสื่อกระแสหลักในยุโรปปลุกปั่นให้พลเมืองในฝรั่งเศสมีความเกลียดชังการทำหน้าที่ของตำรวจมาโดยตลอด และบ่มเพาะหลักความคิดว่า ตำรวจฝรั่งเศสนั้นกดขี่ ตำรวจฝรั่งเศสเหยียดผิว ไม่มีความเสมอภาค คนลี้ภัยไม่ได้รับความเสมอภาค ไม่มีโอกาส
ทั้งที่จริงๆ แล้วในฝรั่งเศสโคตรเสมอภาคเลย คือที่สุดแห่งความเสมอภาค นอกจากนั้น ตำรวจก็ไม่ได้เหยียดผิว เพราะตำรวจนี่แหละผิวสี เหมือนในสหรัฐฯ ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด แต่ปัญหาคือสื่อและ NGO ในฝรั่งเศสปลุกให้คนต้านตำรวจ
ก่อนเกิดวาทกรรมเรื่องการกดขี่ ก็ต้องมีเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใช่หรือไม่
ในทุกๆ ประเทศมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายเสมอ จากปมปัญหาที่เป็นความผิดพลาดในอดีต แล้วมีสิ่งที่พยายามบ่มเพาะการสอนในมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลาร้อยปี ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในทุกๆ ประเทศมีสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แล้วสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็จะถูกหยิบมาใช้เพื่อจุดชนวนให้คนลุกฮือ
ในสหรัฐฯ ก็จะเป็นเรื่องสีผิว คนดำเคยเป็นทาสในอดีต แล้วพรรคเดโมแครตก็จุดชนวนให้คนลุกฮือขึ้นมาเพื่อเลือกเดโมแครต เป็นวาระทางการเมือง เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย มีจริง ซึ่งในอินเดียก็มี รัสเซียก็มี นักการเมืองหาเสียงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ เรื่องที่ดิน ทรัพย์สิน ก็ถูกนำมาใช้หาเสียง แต่ 4 ปีผ่านไปก็เหมือนกันหมดทั้งอินเดีย รัสเซีย และไทย เหมือนกันหมด
วาทกรรมทุนผูกขาด ยกตัวอย่างโทรคมนาคม 2 ราย ต่อให้มี 3 ราย ชีวิตคนจะเปลี่ยนไหม ก็ไม่เปลี่ยน อย่างเมืองไทยบริษัทขายอาหารหรือร้านสะดวกซื้อ เขามีส่วนแบ่งการตลาดเยอะ เรามี 2 บริษัทใหญ่ ขณะที่สหรัฐฯ ก็มี 4 บริษัทใหญ่ ประเด็นคือคำว่าความเหลื่อมล้ำกับทุนผูกขาดมันจะมีไปชั่วกัลปาวสาน เพราะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมันเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณบอกว่าจะสู้กับสิ่งนี้ คุณก็จะได้สู้ไปตลอดชีวิตแน่ ถ้าบอกว่าจะทลายทุนผูกขาด แม้คุณจะไปอยู่สหรัฐฯ คุณก็ได้สู้กับทุนผูกขาดเช่นกัน
ปลดแอกจากโลกแห่งอุดมการณ์
ถ้าออกจากโลกแห่งอุดมการณ์ แล้วเข้าใจข้อเท็จจริงในโลก จะสามารถหาสิ่งดีๆ ในชีวิตที่ทำให้มีความสุข ผมต้องการให้คนดูรายการผมมีความสุข ไม่ใช่หมกมุ่นและวันๆ จะเป็นนักเคลื่อนไหว แล้วบางคนไปเป็นนักเคลื่อนไหวก็ติดคุกติดตะราง ไม่มีใครช่วยยกเว้นพ่อแม่ ในประเทศอื่นก็เป็นอย่างนี้
ถ้ามองว่าสังคมมีการกดขี่ตลอดเวลา คำถามคือมันมีตลอดเวลาจริงหรือเปล่า คือความเสมอภาคและโอกาสในการประกอบอาชีพผมเชื่อว่าก็มีอยู่จริง ความเท่าเทียมกันทางกฎหมายก็มีอยู่จริง
ผมคิดว่ามันไม่เป็นประโยชน์ที่จะมองว่ามีการกดขี่กันอยู่ แล้วต้องปลดแอกด้วยนโยบายชุดไหน
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นค่านิยมของลัทธิฝ่ายซ้ายคือ ลดงบประมาณของฝ่ายความมั่นคง เป้าหมายที่แท้จริงของฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสคือเขาไม่ใช่แค่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคแล้ว แต่ต้องการลดอำนาจของรัฐ เป้าหมายท้ายที่สุดของมาร์กซิสต์ ซึ่งไม่ใช่คอมมิวนิสต์เหมือนเดิมแล้ว คือลดอำนาจผู้ซึ่งมีอำนาจ เช่น ตำรวจมีอำนาจ มีงบประมาณเยอะ ก็ต้องการไปลดอำนาจตำรวจ ถ้าเป็นไปได้คือไม่ให้ถือครองอาวุธปืนและลดงบประมาณ
ฝ่ายซ้ายเคลื่อนไหวเพื่อตัดงบประมาณ เช่นเดียวกับในไทยที่มีฝ่ายต้องการให้ตัดงบประมาณทหารให้ไม่เหลือเลย ทัศนะเดียวกันคือต้องการให้ฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจน้อยลง นี่คือฝ่ายซ้ายใหม่ ซึ่งเคลื่อนไหวในกรอบของความเป็นประชาธิปไตย แต่ว่าต้องการลดอำนาจของฝ่ายความมั่นคง
จริงๆ แล้วอย่างในฝรั่งเศส พลเมืองที่อพยพไปอยู่ฝรั่งเศสมีโอกาสใช้ชีวิต หางานทำได้ มีสวัสดิการช่วยเหลือ ฝรั่งเศสลี้ภัยได้สบาย คนเจเนอเรชันที่ 2 ของผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศสเติบโตขึ้นมาก็ไม่รู้ว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่เจอความลำบากกับประเทศเดิมอย่างไร
เพราะฉะนั้น พอดูข่าว ดูสื่อ ก็รู้สึกว่าโดนเหยียดโน่น โดนเลือกปฏิบัตินี่ ก็พร้อมชุมนุม พร้อมลุกฮือ จึงเห็นการชุมนุม การลุกฮือที่เกิดขึ้นมา
เรื่องสีผิว ยกตัวอย่างการเหยียดผิวในไทย เยอะกว่าสหรัฐฯ อีก แต่ไม่ใช่ประเด็น Sensitive ในไทย ส่วนสหรัฐฯ ไม่มีการเหยียดผิวกันแล้วด้วยซ้ำไป แต่ยังเป็นประเด็นที่นำมาจุดชนวนได้
ในสหรัฐฯ มีคนเหยียดผิว เลือกปฏิบัติจากสีผิวไหม ก็มีจริง แต่โดยระบบนั้นไม่มีที่เลือกปฏิบัติ เช่นเดียวกับในเมืองไทย มีคนเหยียดผู้อื่นเรื่องเพศวิถีไหม ก็คงมี แต่ถามว่าเหยียดและกดขี่เชิงระบบไหม ก็ไม่มี
ประเด็นคือ เมื่อมีวาทกรรมในสหรัฐฯ เรื่องการกดขี่เรื่องสีผิว ในฝรั่งเศสเรื่องการกดขี่ผู้อพยพ ในไทยกดขี่กลุ่มโน้นกลุ่มนี้
ทำให้คนรู้สึกว่าต้องไปสู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ทั้งที่ทุกคนสามารถแสวงหาโอกาสในการประกอบอาชีพและเติบโตขึ้นมา และสร้างความมั่งคั่งในสังคมนั้นๆ ได้ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกที่มันดีทั้งนั้น แต่ต้องหาโอกาสจากสิ่งที่สังคมมอบให้
ปัญหาของคำว่า ‘กดขี่’
สมมติผมเป็นคนผิวสีในสหรัฐฯ แล้วดูสื่อกระแสหลักท่องวาทกรรมที่มีการเหยียด ก็ไปชุมนุมละเมิดตำรวจ ตามวาทกรรมของสื่อคือขาวกดดำ หลอกลวงให้คนลุกฮือ นำมาสู่ความแตกแยกในสังคม รวมไปถึงความเคลื่อนไหวในไทยบางส่วนด้วย
ขณะที่วาทกรรม ‘กดขี่’ ทำให้คนเติบโตและมีความรู้สึกว่าเราต้องสู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ซึ่งผมกำลังจะบอกว่า คุณไม่ต้องไปสู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ คุณสามารถแสวงหาโอกาสในการประกอบอาชีพและเติบโตขึ้นมา สร้างความมั่งคั่งในสังคมนั้นๆ ได้ในทุกที่ ทั้งที่ไทย สหรัฐฯ และยุโรปก็มีทั้งนั้น
แต่ถ้าท่องวาทกรรมว่ามีการกดขี่ มีการเหยียด แล้วไปเป็นนักเคลื่อนไหว ก็ต้องการลุกฮือ ไปชุมนุม ไปละเมิดอำนาจรัฐ
แบ่งแยกแล้วปกครองมีในทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย
การแบ่งแยกแล้วปกครอง เป็นสิ่งที่ผู้ต้องการอำนาจเขามักจะทำทั้งนั้นไม่ว่าฝ่ายไหน
ส่วนที่เคยพูดถึงฝ่ายซ้ายใหม่ แบ่งแยกคนเป็นกลุ่มแล้วปกครอง ผมไม่ได้หมายความว่าฝ่ายขวาไม่ทำ มีทหารที่ไหนไม่แบ่งแยกแล้วปกครอง แต่ผมมองว่าทุกคนรู้อยู่แล้วเรื่องฝ่ายขวา
ผมจึงพูดถึงฝ่ายซ้ายใหม่แบ่งแยกแล้วปกครอง เราสามารถดูจากนโยบายของพรรคเดโมแครตในสหรัฐฯ และพรรคเลเบอร์ในอังกฤษ
ส่วนแรงโน้มถ่วง แรงดึงดูดในการเมืองไทย มันนำไปสู่ความเป็นไปได้ว่า ฝ่ายก้าวหน้าในไทยมีแนวโน้มค่อยๆ ชนะในทางการเมือง ฉะนั้น มุมวิพากษ์วิจารณ์ของผมจึงเป็นมุมวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายที่ค่อยๆ กลายเป็นอำนาจนำทางสังคม สังคมเทไปในทางนี้มากขึ้น ฝ่ายก้าวหน้าชนะสงครามมวลชนไปแล้วตอนนี้ เพราะฉะนั้นฝ่ายขวาจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรให้ละมุนละม่อมที่สุด ซึ่งก็ไม่ง่าย สถานการณ์ในสังคมมันเปลี่ยน ผมจึงพูดในมุมที่เมื่อก่อนผมไม่เคยพูด
ผมใช้คำว่าฝ่ายก้าวหน้าในไทย ไม่ใช้คำว่าซ้าย เพราะความหมายมันแรงในไทย เหมือนกล่าวหา แต่สำหรับประเทศอื่นไม่แรง
ส่วนมุมวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายขวา แทบไม่ต้องมานั่งเสียเวลาพูดเพราะมีการผลิตซ้ำกันทุกวัน ทุกคนรู้หมดแล้ว
2 ขั้วจาก 2 พรรคในสหรัฐฯ
สหรัฐฯ มี 2 พรรค คือ พรรครีพับลิกัน และ พรรคเดโมแครต ปัญหาในสหรัฐฯ ก็คือพรรคเดโมแครตเป็นหลัก เขาหาเสียงด้วยการแบ่งกลุ่ม เช่น เมื่อไบเดนตั้ง รมช.สาธารณสุข ที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ เขาก็ประกาศให้โลกรู้ว่ามีรัฐมนตรีทรานส์คนแรก หรือเมื่อไบเดนแต่งตั้ง รมว.คมนาคม ที่เป็นเกย์ ไบเดนก็ประกาศว่านี่เป็นรัฐมนตรีคนแรกที่เป็นเกย์
ปรากฏว่าทรัมป์เคยตั้งผู้ดำรงตำแหน่งที่ใหญ่กว่ารัฐมนตรี คือผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งเป็นเกย์ แต่พรรครีพับลิกันหรือทรัมป์ในรอบนั้น เขาไม่ได้มานั่งป่าวประกาศว่านี่เป็นรัฐมนตรีที่เป็นเกย์คนแรก เพื่อเรียกคะแนนเสียงคนเป็นเกย์ แล้วจริงๆ คนที่ทรัมป์ตั้งก็ไม่ใช่คนที่เป็นเกย์คนแรก
แล้วคนที่เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนเป็นเรื่องที่มีมาตั้งนานแล้ว
ในยุโรปและสหรัฐฯ มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เมืองไทยก็มีฝ่ายซ้าย แต่สู้คนละประเด็น เมืองนอกพรรคการเมืองพยายามเก็บแต้มความนิยมกับเรื่องนี้ ด้วยการชูว่าพรรคเดโมแครตรักคนที่เป็นเกย์ รักคนที่เป็นไบ รักคนที่เป็นทรานส์ มากกว่านักการเมืองอีกฝ่าย นี่คือสิ่งที่ผมมองว่าเป็นซ้ายแบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งไม่ได้รวมถึงประเทศไทย
ฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส สหรัฐฯ และอังกฤษ กับฝ่ายซ้ายในไทย เลือกวาระที่เคลื่อนไหวกันอยู่ยังไม่สอดคล้องกัน ฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส สหรัฐฯ และอังกฤษมีความสอดคล้องกันมากกว่า แต่ฝ่ายซ้ายในไทยสู้กันเรื่องอื่น
คำว่าฝ่ายซ้ายอธิบายถึง Dialectical Thinking สิ่งที่สอนในมหาวิทยาลัย เขาสอนให้คิดในมุมความขัดแย้งตลอดเวลา อธิบายว่าเวลามีปัญหาเกิดขึ้นเพราะผู้มีอำนาจทำให้เป็นเช่นนั้น โดยผู้ไม่มีอำนาจคือเหยื่อที่ถูกกระทำ และเมื่อฝ่ายซ้ายคิดว่ามีผู้กดขี่และผู้ถูกกด ถ้าคิดกับทุกปัญหาของสังคมเช่นนี้ ชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์เพราะต้องการปลดแอกตลอดเวลา
ซึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นในโลก และเข้ามาในไทยด้วย คือการให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจกบุคคลมากกว่าสิ่งอื่น หลักความคิดที่ว่าด้วยสิทธิของตัวบุคคล ปัจเจกบุคคล มาเหนือสิทธิอื่นทุกเรื่อง ถ้าเริ่มคิดอย่างนั้นเมื่อไร นั่นเป็นสิ่งที่นำมาสู่สังคมซึ่งจะขาดศีลธรรม หมายความว่าถ้าวันๆ เราเอาแต่สู้เรื่องสิทธิ เช่น บอกว่ามีสิทธิทำแท้ง คำถามคือ แล้วสิทธิของเด็กในครรภ์อายุ 2-3 เดือนล่ะ รัฐบาลที่ผ่านมาของไทยปล่อยให้กฎหมายทำแท้งได้ถึง 4 เดือนผ่านสภา ปล่อยมาได้อย่างไร
เมื่อให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจกชนมากเหนือศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่มีการสั่งสอนกันมาตามหลักศาสนาต่างๆ ในที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การทำในสิ่งที่เป็นสิ่งบกพร่องทางศีลธรรม แล้วโลกก็จะไปแนวนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐฯ หรือไทยในที่สุด การปล่อยให้การตัดสินใจทางกฎหมายไปสู่การรักษาสิทธิทั้งโลก ในที่สุดเมื่อเน้นเรื่องสิทธิทุกเรื่องไปเรื่อยๆ มันก็จะมากันหมด สิทธิของสิ่งแวดล้อม สิทธิของสัตว์ ฯลฯ
คำถามของผมคือ Dialectical Thinking ความเป็นฝ่ายซ้าย พอเห็นปัญหาในชีวิต แล้วมองว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นเพราะตัวเองไม่ได้แก้ไข หรือเกิดขึ้นเพราะผู้อื่นมาทำให้อยู่ในสถานะนั้น ถ้าคิดแบบฝ่ายซ้าย ถ้าคิดแต่เพียงว่าจะไปแก้ปัญหาที่โครงสร้าง ชีวิตปัจเจกจะไม่มีวันแก้ไขปัญหาได้
NGO และพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในต่างประเทศ
การเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต้องการแก้ปัญหาโครงสร้างก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งทำมาหากินได้ เพราะมีทุนสนับสนุนในต่างประเทศมากมายทั้งโลก ซึ่ง NGO ในสหรัฐฯ และยุโรป เป็น NGO ร่ำรวย
แต่ NGO บางประเทศมีนักการเมืองที่เอาเงินมาหนุน NGO เพื่อหาเสียงให้ตนเอง ทั้งหมดเป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นแล้ว มีหมดแล้ว
NGO ในไทยจึงต้องไปหาเงินเมืองนอก เพราะเมืองนอกมีทุนใหญ่จากเศรษฐีที่สนับสนุนพรรคการเมือง เพื่อให้ NGO หนุนพรรคการเมืองที่ตัวเองสนับสนุน
NGO เมืองนอกหนุนพรรคฝ่ายซ้าย เพราะนายทุนพรรคฝ่ายซ้ายสนับสนุน NGO เพื่อจุดชนวนเอาชนะพรรคการเมืองอีกฝ่าย
ส่วนพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมในทุกประเทศถูกมองโดยสื่อกระแสหลักว่าเป็นฝ่ายอธรรม ฝ่ายขวาแพ้ไปแล้ว ผมคาดว่าครึ่งโลกตอนนี้มีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม สื่อสารมวลชน และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นฝั่งเสรีนิยม ฝ่ายซ้ายใหม่ที่ครอบงำมวลชนได้เยอะกว่า ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล
ประเด็นคือว่า พันธมิตรสำคัญในการสร้างอิทธิพลทางการเมืองการปกครองในโลกคือพันธมิตรของ NGO ฝ่ายซ้าย รวมไปถึงพรรคการเมืองฝั่งเสรีนิยม และรวมไปถึงสื่อกระแสหลัก การหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิดในการเอาชนะใจมวลชน สร้างมวลชนเพื่อปกครองโลก มันเป็นสิ่งที่มีอย่างต่อเนื่อง
มอง NGO มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า
ไม่ได้มองว่า NGO มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผมเข้าใจคนทำงานองค์กรภาคประชาสังคม เขามีบางอย่างที่อยากเห็นในสังคม แต่เราต้องมองให้เห็นโครงสร้างระหว่างเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งมีเงินเหลือในการสนับสนุนภาคประชาสังคมในการเคลื่อนไหวบางเรื่อง และในการอุดหนุนพรรคการเมืองระดับใหญ่ในโลกของฝ่ายซ้ายในยุโรปและสหรัฐฯ
องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในไทยและต่างประเทศต้องหาเงินทุนในการเคลื่อนไหว เพราะเขามีอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหว เพียงแต่วาระที่เขาเคลื่อนไหวเป็นวาระที่สอดคล้องกับความต้องการของปีกทางการเมืองปีกหนึ่ง
NGO คือส่วนหนึ่งของกลไกอำนาจในโลกที่เคลื่อนไหวแต่ละเรื่องได้หมด รวมถึงสื่อกระแสหลักก็ด้วย
เวลาพูดถึงชนชั้นนำของโลกที่เขาพูดกันอยู่ในปัจจุบัน คือสื่อมวลชนกระแสหลัก พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย และ NGO ซึ่งทุนใหญ่สนับสนุน และเปลี่ยนวาระนโยบายของแต่ละประเทศได้
คุณปลื้มมองตัวเองเป็นฝ่ายไหน
ไม่ได้มองตัวเองเป็นฝ่ายอะไร เพราะเป็นเพียงแค่คนที่สรุปสถานการณ์ของสังคมการเมืองให้ฟัง ไม่ได้มองว่าตัวเองต้องเป็นฝ่ายไหน ส่วนคนอื่นมองผมอย่างไรก็แล้วแต่เขา
ผมเล่าเรื่องผ่านมุมมองที่มีองค์ประกอบซึ่งเป็นตัวละครทางการเมืองต่างๆ ให้มีอรรถรส ให้คนรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าติดตาม และมักจะให้คำเตือนเสมอว่า ติดตามเฉยๆ นะ อย่าไปอินจนเอาชีวิตไปแลกกับมัน เพราะว่าคุณค่าของชีวิตต้องสร้างด้วยตัวเอง ไม่ใช่คิดว่าจะเสียสละเพื่อประเทศชาติ แล้วสุดท้ายมานั่งคิดว่าประเทศชาติให้อะไรกับเรา
ทุกคนต้องเลี้ยงดูตนเอง ถ้าทำตัวเองพังจนเลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยให้คนอื่นมาเลี้ยงดู แบบนี้คนอื่นจะกำหนดวาระให้คุณเคลื่อนไหว
คำว่า พลิกขั้ว ในการเมืองไทยมีจริงไหม ในเมื่อความเป็นขั้วอาจจะไม่มีจริง
ความเป็นขั้วมันมี เพียงแต่ไม่ใช่ขั้วที่สุดโต่ง ถ้าสุดโต่งต้องสมบูรณ์แบบในทุกค่านิยม แต่ในไทยก็ไม่ใช่ซ้ายสุดโต่งหรือขวาสุดโต่ง
แต่ถ้าจะพูดถึงการพลิกขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนละประเด็น หมายความว่าการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลเป็นคนละเรื่องกับขั้วอำนาจ
ของไทยเป็นระบบรัฐสภาที่มีหลายพรรคการเมือง คนละระบบกับสหรัฐฯ ที่มี 2 พรรค อย่างไรก็ตาม ระบบรัฐสภาไทย ถ้าไม่มีสถานการณ์ที่ สว. มีอำนาจโหวตนายกฯ เหมือนตอนนี้ การจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ยาก บังเอิญเป็นสถานการณ์ในยามนี้ แต่ละระบบมีจุดอ่อน-จุดแข็งแตกต่างกัน
ในมุมคุณปลื้ม มองแต่ละฝ่ายอย่างไร
ในการอธิบายศึกทางการเมืองไทย นิยามฝั่งหนึ่งว่าเป็นฝ่ายซ้ายไทยที่เป็นอยู่ก็ได้ เป็นฝ่ายซ้ายกลาง หรือ Social Democracy ประชาธิปไตยเชิงสังคมนิยม หนุนแนวความคิดแบบรัฐสวัสดิการ หรือฝ่าย Progressive แปลตรงๆ คือฝ่ายก้าวหน้า แต่ในต่างประเทศคำนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่าก้าวหน้า
เวลาผมบอกว่าฝ่ายซ้าย ผมไม่ได้หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นคนละเรื่อง เพราะเรื่องนั้นผ่านมาแล้ว จบไปแล้ว
ส่วนอีกฝ่ายในไทยมักจะใช้คำว่า Conservative หรือ อนุรักษนิยม ซึ่งเป็นนิยามที่มีนัยในแง่บวก แต่ฝ่ายซ้ายเรียกฝ่ายนี้ว่าเผด็จการ ซึ่งมีนัยในแง่ลบ เพราะฉะนั้น เมื่อก่อนตอนเล่าข่าว ถ้าผมอยากจะต่อว่าฝ่ายขวา ผมก็จะเรียกว่าฝ่ายเผด็จการ แต่ต่อมาผมรู้สึกว่าการเรียกแบบนี้เหมือนไปหาเรื่องเขา อาจจะทำให้มีความรู้สึกโกรธเคือง แต่ถ้าเรียกว่า Conservative หรือ อนุรักษนิยม ผมก็ไม่แน่ใจว่าผมเรียกได้ เพราะก็มีบางเรื่องที่เขาไม่ได้อนุรักษ์
ยกตัวอย่างเรื่องทำแท้ง รัฐบาลซึ่งมาจากการรัฐประหารปล่อยให้กฎหมายทำแท้งผ่านได้อย่างไร อายุครรภ์ 4 เดือน คืออนุรักษ์บางเรื่องและไม่อนุรักษ์บางเรื่อง เรื่องสมรสเท่าเทียมด้วย ผมไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยหรือไม่ แต่การที่จะบอกว่าฝั่งใดเป็นฝั่งอนุรักษนิยม แต่ปรากฏว่าไปสนับสนุน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ฝ่ายซ้ายเสนอ มันก็ไม่ใช่พรรค Conservative แล้วไง อันนี้ผมไม่ได้ต่อว่า
เพราะฉะนั้น นิยามฝ่ายขวาในไทย ง่ายที่สุดเรียกว่าฝ่ายขวา เพราะถ้าไปใช้คำว่าเผด็จการ ก็เหมือนคำตำหนิ ถ้าใช้คำว่าฝ่ายอนุรักษนิยม เขาก็ไม่ได้อนุรักษ์หลายสิ่งหลายอย่างที่สมควรอนุรักษ์ตามหลักอนุรักษนิยมของต่างประเทศ หรือตามหลักอนุรักษนิยมของศาสนา ซึ่งพรรค Conservative ต้องรู้
เหมือนเป็นพรรคฝ่ายขวา ซึ่งยังไม่ค่อยมั่นใจในอุดมการณ์ ในหลักศีลธรรมของตนเอง คือมีความพยายามที่จะเก็บแต้มทางสังคม ในการแสดงตนว่าเป็นฝ่ายตื่นรู้ด้วย ผมจึงเรียกได้เพียงพรรคฝ่ายขวา ไม่สามารถเรียกว่าอนุรักษนิยมที่แท้จริง
เมืองไทยอาจจะไม่มีทั้งซ้ายและขวาที่แท้จริง เพราะท้ายที่สุดทุกคนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและครอบครัว และนั่นควรจะเป็นเป้าหมายของแต่ละคนในการใช้ชีวิต ตั้งใจเรียนหนังสือ เติบโตขึ้นมาสร้างฐานะตนเอง ดูแลครอบครัว แล้วแบ่งปันเพื่อนร่วมสังคม
แต่ถ้าอยากเป็นนักเคลื่อนไหวก็ได้ ซึ่งต้องรู้อีกว่านักเคลื่อนไหวในไทยมีราคาที่ต้องจ่ายอย่างไร ถ้าจะเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต้องการหางานทำ หาทุนในการสร้างองค์กร นั่นเป็นเส้นทางประกอบอาชีพซึ่งเปรียบเสมือนเป็นนักธุรกิจ เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ยกเว้นอยากเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือสังคม ก็ต้องรู้วิธีการในการดูแลตนเองและครอบครัว
ผมอยากให้เด็กๆ เยาวชนที่ดูรายการผมหาความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจทั้งหมด รวมทั้งทุกอุดมการณ์ทั้งซ้ายและขวา แล้วต้องอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ อย่าลงไปในสนามจนตนเองพังพินาศ เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะกลายเป็นแค่เหยื่อของนักอุดมการณ์ การเป็นนักอุดมการณ์ก็เป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่ง มันตอบกิเลสตัณหาด้านอุดมการณ์ ซึ่งไม่ได้ดีไปกว่าการเป็นนักธุรกิจ บางครั้งเป็นนักธุรกิจที่มีรายได้สามารถจ้างคนให้มีงานทำแบบนี้บางครั้งยังดีซะกว่า ผมแค่หาบาลานซ์ในโลก
ผมในฐานะผู้จัดรายการสื่อ จะต้องใช้คำที่ไม่ทำให้ฝ่ายใดรู้สึกโกรธเคือง เพราะถ้าต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่างที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผมไม่ได้เข้าไปสู้ในศึกนี้ ผมเล่าตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้บอกว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายธรรมะหรือฝ่ายอธรรม ผมเล่าตามสมการที่เป็นอยู่ มวลชนอาจจะงงงวย แต่มันเป็นชักเย่อเกมเดิม ส่วนจะจบที่ฝ่ายไหนชนะชั่วคราว ฝ่ายไหนดึงอำนาจกลับได้ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของประเทศที่จะเกิดขึ้นเอง แต่ผมจัดรายการในฐานะผู้นั่งอยู่ข้างสนาม เห็นว่าผู้เล่นประกอบด้วยใคร ผมอยากใช้คำที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ตอนนี้คุยในมุมคนที่ติดตามการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิดในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนความรู้ตอนเรียนด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ ก็มีความรู้อย่างที่คนอื่นมี ไม่ได้พิเศษอะไร แต่มุมที่นำเสนอหลายเรื่องปัจจุบันนี้เกิดจากการติดตามสถานการณ์การเมืองตั้งแต่เริ่มประกอบอาชีพสื่อ อาจจะนับมาตั้งแต่การก่อตั้งพรรคไทยรักไทย นำมาสู่ชัยชนะของ ทักษิณ ชินวัตร 2 รอบ จึงมีความเห็นต่อหลายเรื่อง รวมถึงการแบ่งขั้วทางการเมือง เริ่มมีมุมมอง Long-Term View คือไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายรอบตั้งแต่อดีต ผสมผสานตรงนั้น