×

MIT จับมือ NASA พัฒนาปีกเครื่องบินสุดล้ำ ปรับรูปทรงได้ ทำให้บินอย่างมีประสิทธิภาพ

02.04.2019
  • LOADING...

อุตสาหกรรมอากาศยานอาจมาถึงจุดพลิกผันทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ เมื่อคณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) จับมือกับทีมวิศวกรขององค์การนาซา พัฒนาปีกเครื่องบินที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบินให้ดียิ่งขึ้น

 

Business Insider รายงานอ้างเว็บไซต์ข่าวของ MIT ว่า บนปีกเครื่องบินแบบเก่ามีชิ้นส่วนเพียงไม่กี่อย่าง เช่น Flap และ Aileron ที่สามารถขยับขึ้นลงเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการบินได้ แต่ปีกใหม่ที่ออกแบบโดยสถาบัน MIT และนาซานั้น สามารถเคลื่อนไหวหรือขยับได้ทั้งหมด

 

นวัตกรรมสุดล้ำดังกล่าวประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนขนาดเล็กหลายร้อยชิ้น ที่มีทั้งแข็งและยืดหยุ่น ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบากว่า และมีประสิทธิภาพกว่าปีกเครื่องบินแบบดั้งเดิม เนื่องจากปีกแบบใหม่สามารถปรับเปลี่ยนตามลักษณะเฉพาะของการบินในแต่ละช่วงได้ ตั้งแต่การเทกออฟ บินบนท้องฟ้า และแลนดิ้ง ขณะที่ปีกแบบเก่าไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพในแต่ละช่วงของการบิน

 

นิโคลัส เครเมอร์ วิศวกรวิจัยขององค์การนาซา เปิดเผยกับ MIT News ว่า “เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้โดยการปรับลักษณะของปีกเครื่องบินให้เข้ากับน้ำหนัก ณ มุมปะทะ (Angles of Attack) ที่แตกต่างกัน”

 

ชิ้นส่วนของปีกถูกจัดเรียงในโครงสร้างแบบผลึกน้ำหนักเบา และเคลือบด้วยสารโพลิเมอร์บางๆ ซึ่งโครงสร้างและวัสดุของปีกทำให้มันมีความแข็งแรงแบบโพลิเมอร์ ขณะเดียวกันก็มีน้ำหนักเบาด้วยวัสดุแอโรเจลที่มีความหนาแน่นต่ำ

 

เบนจามิน เจเนตต์ นักศึกษาปริญญาโทของสถาบัน MIT เผยว่า ปีกแบบใหม่ทำงานได้ดีเกินคาดในระหว่างการทดสอบภายในอุโมงค์ลม ที่ศูนย์วิจัยแลงลีย์ของนาซาในรัฐเวอร์จิเนีย

 

ต้องคอยติดตามกันต่อว่า ปีกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่นี้จะนำมาใช้กับฝูงบินพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้ได้หรือไม่ ด้วยความหวังใหม่ในการยกระดับอุตสาหกรรมบินทั่วโลก ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising