นักการเมืองสหราชอาณาจักรกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4 ธันวาคม) ว่าธนบัตรรวมมูลค่า 5 หมื่นล้านปอนด์ หรือคิดเป็นกว่า 2 ล้านล้านบาทได้หายไป พร้อมเรียกร้องให้ธนาคารกลางอังกฤษเร่งสืบหาความจริง
ประเด็นนี้มีที่มาจากรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแห่งชาติ (NAO) ที่ระบุว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณธนบัตรหมุนเวียนในสหราชอาณาจักรพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.4 พันล้านใบ รวมมูลค่า 76.5 ล้านปอนด์ หรือกว่า 3.1 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวนนี้กว่า 5 หมื่นล้านปอนด์ ไม่สามารถตรวจสอบหรือประเมินได้ว่าอยู่ที่ไหนหรืออยู่กับใคร
เมก ฮิลลิเออร์ ประธานคณะกรรมาธิการบัญชีสาธารณะของสภาสามัญ ซึ่งเป็นสภาล่างของสหราชอาณาจักร แถลงว่า “เงินเหล่านี้ถูกซุกซ่อนไว้ที่ไหนสักแห่ง แต่ธนาคารกลางอังกฤษกลับไม่รู้เลยว่าอยู่ที่ไหน ใครซุกซ่อน และซ่อนไปเพื่ออะไร ไม่แม้แต่จะฉงนสงสัย” และ “ธนาคารกลางอังกฤษควรจะกังวลใจให้มากกว่านี้”
โฆษกธนาคารแห่งอังกฤษสวนกลับทันทีว่า “ประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องชี้แจงกับธนาคารว่าทำไมพวกเขาถึงเลือกถือครองธนบัตรไว้ นั่นหมายความว่าเงินมันไม่ได้หายไป” พร้อมย้ำว่า ทางธนาคารซึ่งทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางแห่งสหราชอาณาจักร จะสนองตอบความต้องการธนบัตรของประชาชนอย่างไม่บกพร่อง
สำนักข่าว CNN มองว่า นี่เป็นประเด็นที่อาจทำให้หลายคนต้องเกาหัวอย่างฉงน ทั้งที่ปริมาณการใช้ธนบัตรในสหราชอาณาจักรได้ลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ จากเทคโนโลยีไร้เงินสดและการชำระเงินแบบดิจิทัล แต่ความต้องการธนบัตรกลับพุ่งสูงต่อเนื่อง แล้วเงินที่ผลิตมาสนองตอบอุปทานหายไปไหน?
ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ออกมาไขข้อข้องใจผ่านรายงานเมื่อปี 2018 ว่าปริมาณความต้องการธนบัตรที่สูงขึ้นในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้การฝากเงินกับธนาคารได้ผลกำไรกลับคืนไม่มากนัก
หัวหน้าแผนกเงินฝาก ธนาคารแห่งอังกฤษเอง ยอมรับกับทางคณะกรรมาธิการฯ ว่า “เราพบว่าประชาชนออมเงินสดกันมากขึ้น นอกเหนือจากการฝากธนาคารเพื่อทำธุรกรรม” ประกอบกับความกังวลถึงสถานภาพและความเข้มแข็งของสถาบันทางการเงินนับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008
แม้ในช่วงพีกของการระบาดของโควิด-19 ปริมาณความต้องการธนบัตรและเหรียญกษาปณ์จะลดลงอย่างมาก แต่ตอนนี้ความต้องการได้ฟื้นตัวกลับมาแล้ว และอันที่จริงตอนนี้ประชาชนกักตุนเงินสดไว้ที่บ้านมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
ปริมาณธนบัตรที่สูงขึ้นสวนทางกับการจ่ายเงินสดที่กลับลดลง จากเทคโนโลยีธุรกรรมไร้เงินสด โดยเมื่อ 10 ปีก่อน ชาวสหราชอาณาจักรใช้จ่ายด้วยเงินสดคิดเป็นสัดส่วน 6 ใน 10 ครั้ง แต่เมื่อปีที่แล้ว เหลือการใช้เงินสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการไม่ถึง 1 ใน 3
กระนั้น ธนาคารแห่งอังกฤษคาดการณ์ว่า ความต้องการธนบัตรจะพุ่งสูงต่อไป โดยในจำนวนธนบัตรที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจนั้น 20-24% จะใช้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป และอีก 5% เพื่อการเก็บออม
“แต่เงินที่เหลือ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านปอนด์ อยู่ที่ไหนนั้น เรามีข้อมูลไม่มาก” NAO กล่าวในรายงาน
“คำอธิบายที่เป็นไปได้คือการสะสมในบัญชีต่างประเทศเพื่อทำธุรกรรมหรือการออมทรัพย์ และการกักตุนในสหราชอาณาจักรเองคือการที่ประชาชนเก็บเงินไว้กับบ้าน หรือเพื่อใช้ในระบบเศรษฐกิจใต้ดิน”
ระบบเศรษฐกิจใต้ดินหรือเศรษฐกิจเงา ตามคำอธิบายของเว็บไซต์ Finnomena คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของรัฐ และไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งความกังวลต่อการใช้ธนบัตรในธุรกรรมมืด ส่งผลให้ธนาคารกลางแห่งยุโรปในเมืองแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี ประกาศยกเลิกการผลิตธนบัตรมูลค่า 500 ยูโรมาแล้ว
NAO จึงเสนอแนะให้ทางธนาคารกลางทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ขับเคลื่อนอุปทานความต้องการธบัตร และใครที่กำลังถือครองเงิน 5 หมื่นล้านปอนด์ที่หายไปจากระบบ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2020/12/04/business/missing-cash-bank-of-england-50-billion/index.html?fbclid=IwAR3umLt4ep2fnwr4ax_cP6Z4XVznSW5Dg8i08ytgj-2cVqmP6W3SERzqC2I
- https://www.bbc.com/news/business-55173402
- https://www.finnomena.com/fiftytwohurtz/shadow-economy/