การประกวดนางสาวไทยหวนกลับมาอีกครั้งในปี 2565 ด้วยสโลแกนที่ว่า The Revival of the Original (กำเนิดใหม่ไปด้วยกัน) อันเป็นธีมหลักที่เป็นโจทย์ใหม่ในครั้งนี้ โดยหัวเรือใหญ่อย่าง TPN Global และ สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ได้ปักหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้เวทีการประกวดนางงามที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สามารถช่วงชิงแสงและหยัดยืนอยู่ได้ในยุคที่เวทีการประกวดนางงามต่างก็เบ่งบานเหมือนดอกเห็ดในป่าคอนกรีตของกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่หรือภูเก็ต
สิ่งที่ทำให้เวทีนางสาวไทยโดดเด่นและมีความหมายในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยคือการทำหน้าที่เป็น ‘ผู้กำหนดวาระทางสังคม’ นับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มเมื่อครั้งที่ยังเป็นเวที ‘นางสาวสยาม’ ซึ่งเริ่มเปิดฉากการประกวดในปี พ.ศ. 2477 โดยยุคนั้นการจัดประกวดได้กำหนดวาระทางสังคมที่ให้ผู้คนตระหนักและตื่นตัวในประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางการเมืองชุดใหม่ที่มาพร้อมกับการเฉลิมฉลองและเผยแพร่ ‘รัฐธรรมนูญไทย’ ทั้งยังทำหน้าที่ประหนึ่งเครื่องมือที่เผยให้เห็นอัตลักษณ์ของรัฐชาติไทยสมัยใหม่ที่มีพลวัตสำคัญอย่างการเปลี่ยนจากชื่อ ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ ในปี พ.ศ. 2488 พร้อมด้วยการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็น ‘นางสาวไทย’ ในเวลาถัดมา
กันยา เทียนสว่าง (2477) เรียม เพศยนาวิน (2482)
นางสาวสยามคนแรก นางสาวไทยคนแรก
ไม่เพียงแต่วาระทางสังคมเท่านั้นที่ผู้ดำรงตำแหน่งนางสาวไทยได้ปฏิบัติสืบมา แต่วาระทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมก็เป็นหนึ่งในภารกิจที่ผู้ได้รับตำแหน่งนี้ต้องปฏิบัติ นั่นก็คือการเป็นตัวแทนสาวไทยในการประกวดนางงามจักรวาล ซึ่งเป็นธุรกิจการประกวดความงามโดย MISS UNIVERSE Inc. ในนามสายสะพาย THAILAND จนประสบความสำเร็จผ่านผู้ครองมงกุฎทั้งสองท่าน นั่นก็คือ อาภัสรา หงสกุล ในปี ค.ศ. 1965 (นางสาวไทย พ.ศ. 2507) และ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ในปี ค.ศ. 1988 (นางสาวไทย พ.ศ. 2531) และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจวบจนกระทั่งลิขสิทธ์ของการประกวดนางงามจักรวาลได้แยกออกจากเวทีนางสาวไทยในปี พ.ศ. 2540
อาภัสรา หงสกุล ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก
MISS UNIVERSE 1965 MISS UNIVERSE 1988
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของการประกวดนางสาวไทยในยุคเปลี่ยนผ่านนั้นมีภาพจำให้เราได้เห็นโดยตลอด ทว่าอาจจะไม่ได้หวือหวาหรือเป็นประเด็นให้พูดถึงในสังคมวงกว้างมากนัก ไม่ว่าจะเป็นยุคออกอาการผ่าน itv ที่ผู้ครองมงกุฎกลายมาเป็นดาวเด่นในวงการนางงามและบันเทิงไทย ทั้ง ดร.บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี หรือ หมอเจี๊ยบ-แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ หรือในยุคของ MCOT HD ที่ผู้ชนะคือ ควีนบิ๊นท์-เภสัชกรหญิงสิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ ที่คว้าตำแหน่ง MISS INTERNATIONAL 2019 คนแรกจากประเทศไทย พร้อมดำรงตำแหน่งติดต่อกันถึง 3 ปี อันเนื่องมาจากภาวะการระบาดของโควิด โดยแต่ละคนก็มีบทบาทที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับการใช้ความรุนแรงทางเพศและการข่มขืนสตรีของ บุ๋ม ปนัดดา หรือการนำความรู้ทางการแพทย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางสังคมภายใต้มูลนิธิ Let’s be Heroes Foundation ซึ่งให้ความรู้ด้านการกู้ชีพพื้นฐานและเป็นคลินิกแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ขาดแคลน โดย หมอเจี๊ยบ ลลนา รวมถึงการเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องสิ่งที่ไม่ยุติธรรมในสังคมของ บิ๊นท์ สิรีธร
ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ลลนา ก้องธรนินทร์ สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์
นางสาวไทย พ.ศ. 2543 นางสาวไทย พ.ศ. 2549 นางสาวไทย พ.ศ. 2562
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการมอบหมายบทบาททูตวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวให้กับนางสาวไทย แต่การทำหน้าที่ให้บทบาทนี้โดดเด่นขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการประกวดนางงามในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยบริบทของเวที การมีเรื่องราวที่น่าสนใจ และเป็นที่นิยมในหมู่สาธารณชนให้ได้มากที่สุด โดยปีนี้การประกวดนางสาวไทยได้กระจายออกไปสู่มวลชน เพื่อเผยแพร่ให้เห็นถึงความหลากหลายและมั่งคั่งของวัฒนธรรมไทยทั่วทุกภาค โดยได้จังหวัดอำนาจเจริญ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพกิจกรรมเก็บตัวผู้เข้าประกวด มีการนำเสนอเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมอีสานในมิติต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน ศิลปวัฒนธรรม และงานหัตถกรรมต่างๆ ผ่านการแต่งกายลายผ้าขาวม้าไทยที่ถูกนำเสนอในรูปแบบภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ต
การพลิกฟื้นคืนชีพให้กับการประกวดนางสาวไทยในปีนี้จะสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็คงต้องติดตามกันต่อไป หากมีคนตั้งคำถามว่า ต่อจากนี้ไปภาพจำของนางสาวไทยจะเป็นเช่นไร ก็คงต้องตอบว่าเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน โดยหนึ่งในภารกิจหลักที่สำคัญคือการสร้างสรรค์ความโดดเด่นและความน่าสนใจของวัฒนธรรมไทย ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักผ่านการท่องเที่ยว แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรให้นำเสนอออกมาได้สมศักดิ์ศรีแห่งเกียรติยศ ‘นางสาวไทย’