×

รู้จัก MIS-C ภาวะที่พบในเด็กหลังจากหายป่วยเป็นโควิด

22.09.2021
  • LOADING...
MIS-C

จากข่าวเด็กชาย อายุ 13 ปี จ.กระบี่ มีอาการแน่นหน้าอก และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 โดยมีประวัติเคยติดเชื้อโควิดแบบไม่มีอาการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และแยกกักรักษาจนครบกำหนดแล้ว นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่  ชี้แจงว่า แพทย์ผู้รักษาสันนิษฐานว่าเป็น ‘มิสซี’ (MIS-C) ซึ่งเป็นภาวะที่พบในเด็กหลังจากหายป่วยเป็นโควิด

 

MIS-C ย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือ ‘กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก’ เป็นภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ตา หรือทางเดินอาหาร ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กับโควิด ภาวะนี้อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่เด็กส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษา

 

นิยามภาวะ MIS-C ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) คือ 

  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี 
  • ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง 
  • ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบการอักเสบ
  • มีอาการรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 2 ระบบ ได้แก่ ระบบหัวใจ ไต ทางเดินหายใจ เลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง หรือระบบประสาท
  • ไม่มีการวินิจฉัยอื่นที่เป็นไปได้
  • และติดเชื้อ หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ก่อนมีอาการ

 

โดยอาการที่พบส่วนใหญ่มักมีไข้นานเกิน 3-5 วัน ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว ผื่น เยื่อบุตาอักเสบ ปากหรือลิ้นบวมแดง ปวดศีรษะ ซึม ชัก สับสน หายใจเร็ว อาการอื่นๆ เช่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ มือเท้าบวม ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นภาวะที่มีอาการคล้ายกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ซึ่งคาดว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ แต่โรคคาวาซากิมักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

 

เป็นภาวะแทรกซ้อนหลังจากการติดเชื้อโควิดที่พบน้อยกว่า 1% แต่เมื่อมีเด็กติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น ย่อมมีรายงานจำนวนผู้ที่มีภาวะ MIS-C มากขึ้น รายงานฉบับหนึ่งในนิวยอร์กพบว่า ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี ซึ่งมีอัตราติดเชื้อ 322 รายต่อ 1 แสนคน พบภาวะ MIS-C 2 รายต่อ 1 แสนคน ส่วนในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มแพทย์ที่ติดตามภาวะนี้ พบประมาณ 20-25 ราย

 

การรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาแบบประคับประคองหรือตามระบบที่มีการอักเสบ เช่น การให้น้ำเกลือ ยากระตุ้นความดันโลหิต การช่วยหายใจ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาแบบต่างๆ ส่วนยาต้านการอักเสบที่ใช้คือการให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (IVIG) ยาสเตียรอยด์ รวมถึงยาแอสไพริน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดหัวใจ

 

สำหรับผู้ปกครอง หากเด็กที่เคยติดเชื้อโควิดมีไข้สูง ร่วมกับอาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ ตาแดง ปากหรือลิ้นแดง หรือผื่นตามตัว ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม พร้อมแจ้งประวัติว่าเคยติดเชื้อมาก่อน นอกจากนี้ ในผู้ใหญ่ที่เคยติดเชื้อโควิดอาจเกิดภาวะ MIS-A (A ย่อมาจาก Adults) ซึ่งมีอาการที่ต้องสังเกตเหมือนกัน แต่มีรายงานการพบน้อยมาก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X