×

‘Miracle on Ice’ เพราะหัวใจบอกไปว่าไม่ยอมเว้ย!

06.04.2025
  • LOADING...
miracle-on-ice-motivation

“พี่โด้ๆ” (มันมาอีกแล้ว) เสียงปลายสายถามขึ้น “พี่รู้จัก Miracle on Ice ไหม?”

 

“รู้สิ พี่อยากไปดูทุกปีแหละแต่ไม่เคยได้ไปสักที” ผมยิงมุกกลับหนึ่งช็อตแบบเบาๆ กะว่าแค่พอเข้ากรอบ

 

“ไม่ใช่แล้ว นั่นมัน Disney on Ice” (ใช้ได้ๆ) ผมหมายถึงเรื่องฮอกกี้น้ำแข็งสมัยก่อนที่เคยเอามาทำเป็นหนังน่ะ”

 

ความจริงผมรู้อยู่แล้วว่าหมายถึงเรื่องนี้ – หนึ่งในเรื่องเล่าคลาสสิกของเกมกีฬาที่เกิดขึ้นจริงในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่นิวยอร์ก เมื่อปี 1980 – เรื่องราวของการต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามทำในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เป็นไปได้

 

เรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจของเรื่องราว “Underdog” ทั้งปวง

 

เรื่องราวของ “Miracle on Ice” นั้นเกิดขึ้นในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เลคพลาซิด (Lake Placid) ในเมืองนิวยอร์ก โดยมีฉากหลังเป็นยุคสมัยของ “สงครามเย็น” (Cold Wars) ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตช่วงชิงการเป็นผู้นำของโลกมาอย่างยาวนาน

 

การขับเคี่ยวกันระหว่างวอชิงตันกับมอสโกนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องของสังคม เศรษฐกิจ หรือการทหาร แต่รวมถึงการแข่งขันในสนามกีฬาด้วยแม้ว่าจะเป็นที่รู้กันว่ากีฬาและการเมืองไม่ใช่เรื่องเดียวกันและควรจะแยกจากกันก็ตาม

 

‘Miracle on Ice’ เพราะหัวใจบอกไปว่าไม่ยอมเว้ย!

 

โซเวียตในยุคนั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครในเชิงกีฬา ด้วยการเป็นประเทศหลังม่านเหล็ก นักกีฬาของพวกเขาแข็งแกร่ง ดุดัน ผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างหนักหน่วง (และเป็นความได้เปรียบเพราะมีสถานะเป็นเหมือนนักกีฬาอาชีพจนชาติอื่นพยายามร้องเรียนแต่ไม่เป็นผลในเวลานั้น) 

 

ในบางประเภทกีฬานั้นเก่งกาจยากจะหาใครเทียบ ซึ่งฮอกกี้น้ำแข็งก็เป็นหนึ่งในกีฬาที่ถือว่าโซเวียตเป็นเจ้าของวงการเลยก็ว่าได้

 

พวกเขากวาดแชมป์ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 4 สมัยรวดมาก่อนหน้านั้นไม่เคยแพ้ใครในการแข่งโอลิมปิกมาตั้งแต่ปี 1968 ด้วย เรียกว่าเป็นเต็งหนึ่งตัวตึงที่ใครก็เชื่อว่าไม่มีวันหรอกที่จะมีใครมาเอาชนะทีมที่อุดมไปด้วยสุดยอดผู้เล่นที่ถือเป็นระดับตำนานทั้งสิ้น

 

ไม่ว่าจะเป็น บอริส มิไคลอฟ (กัปตัน), วลาดิสลาฟ เตรเตียก, วลาดิเชสลาฟ เฟติซอฟ, วาเลรี คาร์ลามอฟ รวมถึงวลาดิเมียร์ ครูตอฟ และเซอร์เก มาคารอฟ

 

โดยที่ในจำนวนนี้มีถึง 4 คนคือเตรเตียก, คาร์ลามอฟ, มาคารอฟ และเฟติซอฟ ที่ในเวลาต่อมาได้รับการบรรจุเข้าหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ถ้าเปรียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นอาจจะเทียบกับทีมชาติบราซิลในชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1970 ที่เต็มไปด้วยสุดยอดนักเตะระดับโลกทุกตำแหน่งตั้งแต่ผู้รักษาประตู กองหลัง ยันกองหน้า

 

แตกต่างจากทีมฮอกกี้น้ำแข็งสหรัฐอเมริกาอย่างสิ้นเชิง

 

และตรงนี้เองที่ทำให้เรื่องนี้มีความหมาย

 

‘Miracle on Ice’ เพราะหัวใจบอกไปว่าไม่ยอมเว้ย!

 

ทีมฮอกกี้น้ำแข็งของสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น อย่าเรียกว่าเป็นทีมระดับท็อปของการแข่งขันเลย พวกเขาไม่ได้อยู่ในสายตาของใครด้วยซ้ำ

 

เหตุผลสำคัญนั้นเป็นเพราะผู้เล่นในทีมไม่ได้เป็นผู้เล่นในระดับสตาร์อาชีพมาจากไหนเพราะตามกฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลจำกัดให้ผู้เล่นที่ลงแข่งขันต้องเป็น “ผู้เล่นสมัครเล่น” (Amateur) เท่านั้น นั่นทำให้ทีมชุดนี้เต็มไปด้วยกลุ่มผู้เล่นดาวรุ่งอายุน้อยที่อ่อนประสบการณ์ ทีมชาติสหรัฐฯกลายเป็นทีมที่อายุเฉลี่ยผู้เล่นน้อยที่สุดในการแข่งขันครั้งนั้น

 

มองอย่างผิวเผินเหมือนเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เล่นที่ไม่น่าจะเอาไหนเลย มีเพียงแค่ บัซซ์ ชไนเดอร์ เป็นผู้เล่นคนเดียวที่เคยอยู่ในชุดทีมชาติลุยโอลิมปิกในปี 1976

 

แต่ลึกๆ แล้วทีมชุดนี้ไม่ใช่ทีมที่ไม่เอาไหน แต่เป็นทีมที่ถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดีจากสายตาของ เฮิร์บ บรูคส์ โค้ชทีมชาติสหรัฐฯในเวลานั้น

 

บรูคส์ เป็นอดีตผู้เล่นระดับท็อปของวงการฮอกกี้น้ำแข็งในสหรัฐอเมริกามาก่อน เคยติดทีมชาติชุดลุยโอลิมปิกฤดูหนาว 1964 ที่เมืองอินส์บรูค ประเทศออสเตรีย และเกรอนอบ ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1968 ก่อนจะหันมาเอาดีทางการเป็นโค้ช มีผลงานที่โดดเด่นในระดับมหาวิทยาลัย พาทีมมินเนโซตา โกลเดน กอฟเฟอร์ คว้าแชมป์ NCAA ได้ถึง 3 สมัย

 

ผลงานครั้งนั้นทำให้เขาได้รับเลือกให้มาคุมทีมชาติสหรัฐฯ เพื่อสู้ศึกโอลิมปิกฤดูหนาว แต่งานของเขาร้อนยิ่งกว่าเผือก

 

เพราะการจะทำทีมเพื่อคว้าแชมป์ให้ได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่ายาก นอกจากคู่แข่งอย่างโซเวียตจะเข้าขั้นกระบี่ไร้เทียมทานแล้ว ตัวผู้เล่นที่สหรัฐฯมีในเวลานั้นฝีไม้ลายมือห่างไกลกันอย่างมากราวกับคนละโลก

 

ดังนั้นบรูคส์จึงต้องพยายามหาหนทางในการจะทำสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เป็นไปได้

 

ทุกสิ่งเริ่มจากการคัดเลือกตัวผู้เล่นที่จัดให้มีการคัดตัวในช่วงฤดูร้อนในปี 1979 ซึ่งคนที่มาทั้งหมดคือนักกีฬาระดับสมัครเล่นจากมหาวิทยาลัยต่างๆ

 

การคัดตัวในครั้งนั้นไม่ได้เป็นการคัดตัวธรรมดาที่ดูทักษะการเล่นหรือความแข็งแรงของร่างกาย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการคัดตัวครั้งนั้นคือเรื่องของการทดสอบสภาพจิตใจ

 

‘Miracle on Ice’ เพราะหัวใจบอกไปว่าไม่ยอมเว้ย!

 

บรูคส์เริ่มจากการสั่งให้ทุกคนตอบคำถามในแบบทดสอบเชิงจิตวิทยาจำนวน 300 ข้อ โดยใครที่ปฏิเสธที่จะทำแบบทดสอบให้ถือว่าตก ทันทีต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่สน

 

เพราะคำถามเชิงจิตวิทยาเหล่านี้จะเป็นการนำทางให้เขาเข้าใจถึงสภาพจิตใจลึกๆ ของผู้เล่นในแต่ละคนว่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์ความกดดันได้อย่างไร

 

จากจำนวนผู้เล่นที่มาสมัครเข้ารับการคัดตัวหลายร้อยก็เหลือเพียงแค่ 68 คนเท่านั้นที่ได้ไปต่อ ก่อนที่จะคัดกรองอีกจนเหลือแค่ 20 คนที่ได้ลุยโอลิมปิกในเวลาต่อมา

 

โดยที่ทุกคนถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักในการฝึกที่โหดและเข้มงวดอย่างยิ่ง บ่อยครั้งที่หากเล่นกันไม่ได้ความแล้วพวกเขาจะโดนบรูคส์สั่งลงโทษอย่างหนักในการซ้อม เช่น ครั้งหนึ่งในช่วงของการทัวร์แข่งอุ่นเครื่องที่นอร์เวย์ก่อนโอลิมปิกจะเริ่มแล้วทีมเล่นกันไม่ได้ความ

 

ในขณะที่ผู้เล่นกลับเข้าห้องพัก บรูคส์เดินกราดเข้ามาก่อนสั่งให้ทุกคนกลับไปลงสนามอีกครั้ง เพื่อการซ้อมในแบบที่เรียกว่า “Herbies” หรือการวิ่งสปรินต์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสั่งให้หยุด ซึ่งเหนื่อยและทรมานอย่างมาก

 

การทำแบบนี้เหมือนเป็นการลงโทษที่ไร้เหตุผล แต่ลึกๆ แล้วคือการพยายามทลายขีดจำกัดของผู้เล่นที่มีอยู่ เพื่อไปให้ได้ไกลขึ้นอีกนิด

 

โดยที่โค้ชอย่างเขาเข้าใจดีว่าแต่ละคนมี “ขีดจำกัดของความอดทน” อยู่ที่ตรงไหน

 

บรูคส์ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกระตุ้นจิตใจ (Motivator) ที่รู้วิธีในการเล่นกับจิตใจของผู้เล่นได้เป็นอย่างดี หนึ่งในทริกที่เขาใช้เสมอคือการเพิ่มความโกรธและเกลียดชังในตัวผู้เล่นที่มีต่อเขาให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้ว่ายิ่งโกรธและเกลียดเขาเท่าไรผู้เล่นก็จะหลอมหัวใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเอาชนะและพิสูจน์ให้ได้ว่าคนที่ผิดคือโค้ชอย่างเขา

 

ความจริงวิธีการแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากการเดิมพันแบบหมดหน้าตัก

 

ได้ก็รวย ซวยก็เจ๊ง

 

แต่สำหรับนักเดิมพันที่กล้าได้กล้าเสียอย่างบรูคส์ นี่เป็นเกมที่เขาถนัดนัก

 

โดยที่ตอนนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าไอ้เรื่องจิตวิทยาที่เขาเอามาใช้น่ะ…ครูพักลักจำมาทั้งนั้น (อ้าวเฮ้ย!)

 

‘Miracle on Ice’ เพราะหัวใจบอกไปว่าไม่ยอมเว้ย!

 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่บรูคส์ถ่ายทอดลงไปให้แก่ทีม โดยเฉพาะเรื่องจิตใจที่ทำให้ทีมแข็งแกร่งและไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ ได้นำไปสู่หนึ่งในเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์กีฬาของชาวสหรัฐอเมริกา

 

ทีมชาติสหรัฐฯ ทำผลงานได้ดีอย่างน่าประหลาดใจในการแข่งขันรอบแรกจนทำให้ได้ผ่านเข้ามาถึงรอบชิงเหรียญ (Medal round) ซึ่งมีสหรัฐฯ, สวีเดน, ฟินแลนด์ และเต็งจ๋าอย่างสหภาพโซเวียตที่ผ่านเข้ามา

 

โดยที่เกมแรกในรอบชิงเหรียญนั้นพวกเขาต้องเจอกับคู่แค้นอย่างโซเวียตทันที

 

ก่อนเกมนั้นใครก็คิดว่าถึงสหรัฐฯจะทำได้ดีในรอบแรก แต่มาถึงรอบนี้เจอกับโซเวียตซึ่งก่อนหน้าโอลิมปิกไม่กี่สัปดาห์ก็เพิ่งจะแข่งอุ่นเครื่องนัดส่งท้ายกันมาและปรากฏว่าทีมของบรูคส์แพ้ขาดลอยถึง 10-3 ผลมันห่างและไม่น่าจะต่างอะไรจากเกมนั้น

 

แต่ปรากฏว่าทีมรวมดาวรุ่งโนเนมกลับต่อกรกับทีมโคตรเทพได้อย่างสนุกสูสีเหลือเชื่อ!

 

ในพีเรียดแรกของการแข่งขันสหรัฐฯต้านทานโซเวียตได้ที่ 2-2 ซึ่งก็น่าประทับใจแล้วเพราะเป็นฝ่ายที่โดนนำก่อนทั้ง 2 ครั้ง แต่ในพีเรียดที่ 2 โซเวียตมาเร่งฟอร์มทำสกอร์อีก 1 ลูกทำให้ทีมเต็งจากดินแดนหลังม่านเหล็กขึ้นนำ 3-2 และมีโอกาสที่จะเก็บชัยชนะประเดิมในรอบชิงเหรียญได้

 

ถึงตอนนั้นทุกคนคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่สหรัฐฯจะหาทางกลับมาได้

 

แต่บรูคส์และลูกทีมของเขาเชื่ออีกแบบ พวกเขาเชื่อในความสามารถของตัวเอง เชื่อในพลังใจ และเชื่อว่าตราบใดที่ไม่ยอมแพ้ชัยชนะก็อยู่ตรงหน้าเสมอ

 

เหมือนที่บรูคส์บอกกับลูกทีมก่อนลงสนาม

 

“วันนี้เราคือทีมฮอกกี้ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก พวกนายทุกคนน่ะเกิดมาเพื่อเป็นนักฮอกกี้ การที่พวกนายทุกคนอยู่ที่นี่มันมีความหมาย” 

 

“ฉันเบื่อเหลือเกินเวลาที่มีคนบอกว่าโซเวียตสุดยอดแบบนั้นแบบนี้ เวลาของพวกมันน่ะจบแล้ว ตอนนี้มันถึงเวลาของพวกนายแล้ว”

 

ในพีเรียดที่ 3 ทีมสหรัฐฯ พลิกสถานการณ์กลับมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ มาร์ค จอห์นสัน ซึ่งเป็นคนทำสกอร์ตีเสมอในพีเรียดแรกจัดการตีเสมอให้ทีมได้สำเร็จเป็น 3-3 โดยที่ในอีกฟากของสนาม จิม เคร็ก ผู้รักษาประตูเซฟไม่หยุดและไม่ยอมให้โซเวียตทำสกอร์ได้อีก

 

‘Miracle on Ice’ เพราะหัวใจบอกไปว่าไม่ยอมเว้ย!

 

ย้อนกลับไปในเกมอุ่นเครื่องนัดสุดท้ายที่พบกับโซเวียต วันนั้นหลังเกมจบบรูคส์ได้ตำหนิใส่เคร็กอย่างรุนแรงถึงขั้นบอกว่าเขาไม่น่าเลือกเคร็กลงเล่นในเกมนั้นเลย 

 

แต่ลึกๆ แล้วบรูคส์รู้ว่าประตูของเขาเหน็ดเหนื่อยจากการซ้อม และตระเวนแข่งยาวนาน เริ่มที่จะสูญเสียประสิทธิภาพในการป้องกันประตูไป เขาจึงเลือกเดิมพันที่จะกระตุ้นเคร็กด้วยคำพูดที่รุนแรงดู 

 

ผลตอบแทนที่ได้คือการที่เคร็กตั้งใจตั้งแต่วันนั้นว่าเขาจะไม่ยอมแพ้อีกแม้แต่เกมเดียว ต่อให้เจอโคตรทีมอย่างโซเวียตอีกทีก็เถอะ

 

เคร็ก กลายร่างเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของทีม เซฟถึง 36 ครั้งในวันนั้นคิดเฉลี่ยแล้วสูงถึง .923 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในฟอร์มการเซฟประตูที่สุดยอดที่สุดตลอดกาลของวงการฮอกกี้น้ำแข็งเลยทีเดียว

 

การเซฟของเคร็กทำให้ทีมยังรักษาความหวังได้ ก่อนที่พวกเขาจะทำในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อให้เกิดขึ้นเมื่อกัปตันทีมอย่าง ไมค์ เอรูเซียน ซึ่งแทบไม่ได้ลองลุ้นทำสกอร์เลยได้รับลูกจากมาร์ค เพฟลิชก่อนที่จะหวดเรียดเต็มแรงด้วยขวา

 

นี่เป็นแค่โอกาสครั้งที่ 2 ของเอรูเซียนในวันนั้น แต่มันกลายเป็นประตูให้สหรัฐฯ พลิกขึ้นนำได้เป็นครั้งแรกในเกม 4-3 และเป็นประตูชัยในเกมนั้น

 

‘Miracle on Ice’ เพราะหัวใจบอกไปว่าไม่ยอมเว้ย!

 

ทีมสมัครเล่นพิชิตโคตรทีมตลอดกาลของโลกได้ ก่อนจะเอาชนะฟินแลนด์ได้ (โดยไม่ต้องเล่นกับสวีเดนอีกนัดเพราะรวมสกอร์จากรอบแรกมาเลย) คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ

 

เกมกับโซเวียตเป็นเกมที่ได้รับการเรียกขานว่า “Miracle on Ice” หรือปาฏิหาริย์บนลานน้ำแข็ง หนึ่งในเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง

 

เพียงแต่จริงๆ แล้วใต้คำว่าปาฏิหาริย์นั้น ไม่มีเรื่องของโชคหรือดวงเกื้อหนุนแต่อย่างใด

 

มันเกิดขึ้นได้เพราะความทุ่มเท วิสัยทัศน์ การเดิมพัน หยาดเหงื่อและหยดน้ำตา และที่สำคัญที่สุดคือหัวใจที่ไม่ยอมแพ้

 

เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกับสิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising