×

‘มีร์-19’ ยารักษาโควิดจากรัสเซีย อาจเป็นอีกความหวังใหม่ของโลก?

08.11.2021
  • LOADING...
MIR-19

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • มีร์-19 สามารถเป็นได้ทั้งยาป้องกัน (Profilactic) และยารักษา (Treatment) โควิดด้วยวิธีการทั้งการพ่นแบบสเปรย์หรือการหยอดเข้าทางจมูก โดยเป็นการให้ยาสูดดม (Inhalation) เข้าทางจมูกในช่วงวันแรกๆ ที่มีอาการติดเชื้อ วันละหนึ่งครั้ง ครั้งละ 20 นาที
  • ตัวยาชนิดนี้ถูกคิดค้นอยู่บนหลักการเทคโนโลยี si-RNA (Small Interfering RNA) ซึ่งก็คือ RNA ที่ไปยับยั้งการทำงานของ m-RNA อันเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้โดยเซลล์ไวรัสในการจำลองตัวเองขึ้นมาใหม่ si-RNA จึงมีบทบาทในการทำให้ m-RNA จำลองตัวเองไม่ได้ เซลล์ไวรัสก็ตายในที่สุด

ท่ามกลางคลื่นการระบาดระลอกใหม่ล่าสุดของโควิดที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมไปถึงรัสเซียเองที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันกลับมาพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ในกรณีของรัสเซียที่ยอดผู้ติดเชื้อต่อวันเคยทรงตัวอยู่ที่ราว 1-2 หมื่นรายต่อวันเป็นเวลาเกือบครึ่งปี กลับมาพุ่งเป็นวันละเกือบ 4 หมื่นรายในช่วงไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา ทำลายสถิติเก่าของปีที่แล้วในเกือบทุกๆ วัน จนทางการต้องนำมาตรการล็อกดาวน์แบบจริงจังที่เคยประกาศใช้ไปเมื่อโควิดรอบแรกเมื่อช่วงต้นปี 2020 กลับมาประกาศใช้อีกครั้งในรอบปีครึ่ง

 

ถึงแม้ว่าในส่วนของรัสเซียเองจะสามารถคิดค้นและผลิตวัคซีนสปุตนิกวี (Sputnik V) ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีเป็นต้นๆ ของโลกเป็นประเทศแรก แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงได้ ทั้งนี้ ในกรณีเช่นนี้ผู้เขียนมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่น่าจะขึ้นอยู่กับวัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่อีกปัจจัยที่สำคัญอยู่ที่ Mentality ของประชาชนในประเทศนั้นๆ มากกว่า เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพเป็นอันดับต้นของโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันก็ยังคงสูงอยู่ทุกวัน ปัญหานี้คงจะสามารถสรุปได้แบบง่ายๆ สั้นๆ ว่า เป็นปัญหาที่รัฐบาลมีวัคซีนให้ฉีดแต่ผู้คนไม่ยอมฉีด ไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับการฉีดวัคซีน (กลับกันกับบ้านเราที่วัคซีนไม่ค่อยมีให้ฉีด แต่ประชาชนเต็มใจที่จะไปฉีด)

 

ท่ามกลางบรรดาข่าวที่ไม่ค่อยดีนักเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ย่ำแย่ลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็นับว่ายังมีเรื่องที่น่ายินดีมาให้ใจชื้นขึ้นบ้าง กล่าวคือทางสถาบันภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งสำนักงานชีววิทยาการแพทย์แห่งสหพันธรัฐ (Immunology Institute of Federal Medical-Biological Agency: FMBA) ของรัสเซีย ได้มีการคิดค้นยารักษาอาการโควิดชนิดสูดดม ‘มีร์-19’ (MIR-19) และได้ยื่นเอกสารขอจดทะเบียนต่อกระทรวงสาธารณสุขรัสเซียเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่ากระบวนการยื่นขอจดทะเบียนจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2021 หรืออย่างช้าที่สุดต้นปี 2022

 

ดังนั้นถ้าหากนับจากช่วงเวลาจดสิทธิบัตรเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็อาจจะไม่เกินจริงนักถ้าจะพูดว่ามีร์-19 เป็นยาป้องกันโควิดชนิดแรกของโลก ที่จะไม่ต่างจากวัคซีนสปุตนิกวีที่เป็นวัคซีนป้องกันโควิดชนิดแรกของโลก

 

ว่าด้วยชื่อ ‘มีร์’ ตามความหมายตรงตัวคำว่า Мир (มีร์) แปลได้สองความหมายคือโลกและสันติภาพ ซึ่งชื่อดังกล่าวได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของสถานีอวกาศเช่นกัน คือสถานีอวกาศมีร์ (Mir Space Station) ซึ่งเป็นชื่อของสถานีในอวกาศระยะยาวแห่งแรกของมวลมนุษยชาติ และถือเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านอวกาศอีกอย่างหนึ่งของรัสเซีย เมื่อพิจารณาจากการตั้งชื่อทั้งวัคซีน ‘สปุตนิกวี’ และยา ‘มีร์-19’ นั้นเราก็มองออกว่ารัสเซียเชื่อมโยงการแข่งขันทางด้านอวกาศเข้ากับการแข่งขันกันด้านการรับมือกับโควิด และต้องการให้โลกรับรู้ว่ารัสเซียจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จก่อนใครในเรื่องของการคิดค้นนวัตกรรมการต่อต้านโรคโควิด เหมือนกับที่รัสเซียประสบความสำเร็จในการท่องอวกาศก่อนใครในยุคสหภาพโซเวียตที่ผ่านมา

 

มีร์-19 ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่อาจพลิกโฉมวิกฤตโควิดได้มาก กล่าวคือ มีร์-19 สามารถเป็นได้ทั้งยาป้องกัน (Profilactic) และยารักษา (Treatment) โควิดด้วยวิธีการทั้งการพ่นแบบสเปรย์หรือการหยอดเข้าทางจมูก โดยเป็นการให้ยาสูดดม (Inhalation) เข้าทางจมูกในช่วงวันแรกๆ ที่มีอาการติดเชื้อ วันละหนึ่งครั้ง ครั้งละ 20 นาที

 

ตัวยาชนิดนี้ถูกคิดค้นอยู่บนหลักการเทคโนโลยี si-RNA (Small Interfering RNA) ซึ่งก็คือ RNA ที่ไปยับยั้งการทำงานของ m-RNA อันเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้โดยเซลล์ไวรัสในการจำลองตัวเองขึ้นมาใหม่ si-RNA จึงมีบทบาทในการทำให้ m-RNA จำลองตัวเองไม่ได้ เซลล์ไวรัสก็ตายในที่สุด

 

การทดสอบเฟสแรกของมีร์-19 เป็นไปโดยความเรียบร้อยดี พร้อมผลการทดสอบที่น่าพอใจ อีกทั้งยังไม่มีการค้นพบผลข้างเคียงใดๆ จากการใช้ยาดังกล่าว จึงได้มีการตีพิมพ์ผลการวิจัยในนิตยสาร Allergy อันเป็นนิตยสารการแพทย์ชั้นนำของยุโรปเมื่อไม่นานมานี้ โดย เวโรนิกา สโควร์ทโซวา ผู้อำนวยการ FMBA ของรัสเซีย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงประสิทธิภาพที่น่าพึงพอใจ ในขณะเดียวกันก็ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อจีโนมและระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันโควิดสายพันธุ์รุนแรงอย่างสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์อินเดีย

 

ถือว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 เป็นการเข้าสู่ยุคแห่งการผลิตยาป้องกันและยาต้านโควิดที่แท้จริง นอกจากที่ทางฝั่งรัสเซียได้มีการคิดค้นยามีร์-19 ทางค่ายตะวันตกเองอย่าง Pfizer ก็ได้มีการผลิต Paxlovid หรือ Molnupiravir จากค่าย Merck ซึ่งจะทำให้ทางออกในการอยู่ร่วมกับโควิดมีทางเลือกมากขึ้น และไม่ได้ขึ้นอยู่กับแต่เพียงวิธีการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายอีกต่อไป เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าคนทุกคนก็อาจจะไม่เหมาะกับวัคซีนชนิดใดๆ เสมอไป ดังที่เรามักจะได้ยินข่าวการเจ็บป่วยที่ผิดปกติหรือเสียชีวิตหลังการได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ กันเป็นประจำ การที่มียารักษาโควิดออกมาจะช่วยชีวิตคนเหล่านี้ได้มากทีเดียว

 

รวมไปถึงข้อโต้แย้งต่างๆ จากภาคประชาชนที่มีต่อนโยบายการฉีดวัคซีนเชิงบังคับ (Vaccine Mandate) ที่รัฐบาลทั่วโลกเริ่มประกาศใช้กับผู้ที่ปฏิเสธการเข้ารับวัคซีน ซึ่งเริ่มมีผลต่อหน้าที่การงานของประชาชนในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธการจ่ายค่าตอบแทน การถูกพักงาน หรือการเชิญออกจากงาน ซึ่งนโยบายดังกล่าวถ้ามองในอีกแง่หนึ่งก็อาจจะมีความขัดกันกับหลักเสรีภาพในร่างกายของปัจเจกที่มีสิทธิ ‘เลือก’ รับหรือไม่รับวัคซีนเข้าสู่ร่างกายตน ที่ผู้คนโดยเฉพาะในโลกตะวันตกให้ความสำคัญมาก ถ้าหากโลกของเราก้าวสู่ยุคยาป้องกันและยาต้านโควิดอย่างสมบูรณ์ ความขัดแย้งจากฝั่งปัจเจกชนกับฝ่ายรัฐก็คงจะบางเบาลงไปได้พอสมควร

 

แต่ถึงที่สุดแล้ว การรักษาวินัยและไม่ประมาทในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัยหรือการล้างมืออยู่บ่อยๆ ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำให้เป็นนิสัยติดตัวอยู่ดีเพื่อเป็นการป้องกันด่านแรก ซึ่งถือว่าเป็นด่านสำคัญและสามารถเริ่มและทำได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X