×

ผู้ก่อตั้ง ‘Minor’ ออกจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

27.05.2021
  • LOADING...
William Heinecke

วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (อีกครั้ง) ถึงข้อเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 

 

“ผมตระหนักดีว่าในเวลานี้รัฐบาลกำลังเผชิญกับแรงกัดดันอย่างหนักที่ต้องทำหน้าที่นำพาประเทศไทยให้สามารถก้าวผ่านจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19” วิลเลียมกล่าวในจดหมายพร้อมกับเสริมว่า “การไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวของไทยจำเป็นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด โดยอาศัยรายได้จากตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจและการดำเนินกิจการ”

 

สำหรับข้อเรียกร้องนั้นประกอบไปด้วย

 

  1. เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งควรทำโดยร่วมที่สุด ตลอดจนควรได้รับวัคซีนภายในปีนี้ และจากข่าวการเลื่อนระยะเวลาการฉีดวัคซีน AstraZeneca ในเข็มที่ 2 ออกไป เนื่องจากมีปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอที่จะฉีดให้ได้ตามไทม์ไลน์ที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้า ส่งผลให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อแผนการกระจายวัคซีนของประเทศนั้น

 

รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชนตามเวลาและแผนการที่กำหนดไว้ วัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่นๆ ควรถูกนำมาพิจารณาเพื่อวางแผนให้รอบคอบและรัดกุม ให้ประเทศพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินต่อไปอยู่

 

  1. อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ซึ่งการลดระยะเวลาการกักตัวลงเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวได้

 

ยิ่งไปกว่านั้นการยกเลิกการกักตัวไม่ควรจำกัดอยู่แค่เพียงบางพื้นที่ เช่น 6 พื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง แต่ควรถูกบังคับใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศ นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามกำหนดเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ และเดินทางมาจากประเทศที่สถานการณ์โควิด-19 อยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ ถือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น ควรได้รับอนุญาตที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างอิสระ

 

นอกจากนี้ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะยังคงยึดมั่นกับ โครงการ Phuket Tourism Sandbox ซึ่งมีกำหนดเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตแบบไม่มีการกักตัวในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จากความพยายามในการเร่งกระจายวัคซีนของภูเก็ตทำให้เชื่อได้ว่าโครงการนี้จะยังสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ โดยความสำเร็จของโครงการนำร่องนี้จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเปิดประเทศอีกครั้ง

 

  1. เร่งสรุปรายชื่อวัคซีนโควิด-19 ที่จะได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้งานได้ในวัคซีนพาสปอร์ต รวมถึงผ่อนปรนมาตรการวีซ่า โดยรัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดระบบเพื่อรองรับการใช้งานของวัคซีนพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ตลอดจนขั้นตอนการเข้า-ออกประเทศควรถูกปรับเปลี่ยนให้มีความสะดวกและคล่องตัว 
  2. จัดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรี หรือการตรวจในราคาถูก สำหรับประชาชน ด้วยข้อมูลคือกุญแจสำคัญในการจัดการกับโควิด-19 ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการปกป้องสุขภาพของประชาชนและชุมชน การรู้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อ การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อไรและที่ไหน เป็นสิ่งสำคัญในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรค
  3. สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน โดยรัฐบาลควรทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนองค์กรในชุมชนต่างๆ เสริมสร้างความรู้สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญ ความเร่งด่วน และความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนต่างๆ ควรได้รับการเปิดเผยอย่างทันท่วงทีและด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 
  4. รัฐบาลควรดำเนินโครงการอุดหนุนค่าจ้างพนักงานสำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่มีพนักงานอยู่ในระบบประกันสังคม ถึงแม้ว่าตามเอกสารแล้วสถานภาพการจ้างงานของพนักงานเหล่านี้อาจจะยังถูกระบุว่าอยู่ในระหว่างการจ้างงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วพนักงานโรงแรมจำนวนมากในเวลานี้กำลังเผชิญกับการลดลงของรายได้อย่างมีนัยสำคัญ และโรงแรมหลายต่อหลายแห่งก็ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนับตั้งแต่มีการระบาดในระลอกที่ 3 นี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากประกันสังคมแบบที่เคยได้รับในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในปีที่แล้ว
  5. รัฐบาลควรพิจารณาขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิที่อาจจะเกิดขึ้นในปีต่อไปอีก 5 ปี จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปีเป็น 10 ปี ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้นก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 และคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะเดิม การขยายให้การนำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิในอนาคตเพิ่มขึ้นเป็น 10 ปี จะมีส่วนช่วยให้การฟื้นตัวเป็นไปได้เร็วขึ้น 

 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลอาจควรพิจารณาเพื่อบังคับใช้ เช่น การลดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงการขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ต่อไปอีก 2 ปี รัฐบาลควรพิจารณาการลดอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือเป็นการให้ส่วนลดกับผู้บริโภคโดยตรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่สะดวกและได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน

 

“ผมต้องขอขอบพระคุณท่านอย่างสูงในการพิจารณาความเห็นของผมอีกครั้งหนึ่ง ผมเชื่อว่าความเห็นจากใจของผมเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ผมมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนประเทศอย่างเต็มที่ในขั้นตอนต่อไปตามแผนการเปิดประเทศและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีส่วนได้ช่วยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป” วิลเลียมกล่าวในช่วงท้าย


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X