วานนี้ (4 มกราคม) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องแผนฟื้นฟู ขสมก. กลับมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้พิจารณาเพิ่มเติม อีกทั้งมอบการบ้านให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนลงทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ซึ่งในขณะนี้ ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้อำนวยการ ขสมก., อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อบูรณาการและพิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก. ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มอบการบ้านไว้
ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2564 จากนั้นหากสภาพัฒน์จัดประชุมและพิจารณาให้แล้วนั้น คาดหวังว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่การปฏิรูปเส้นทาง 162 เส้นทางและการปรับปรุงเส้นทางเดินรถเพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อน รวมถึงจัดการเดินรถในลักษณะ Feeder Liner (ป้อนผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบราง) และ Circle (วิ่งเป็นวงกลม) ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักได้อย่างเป็นระบบ การปรับปรุงนั้นจะต้องเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาต่อไป
“เมื่อเราเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ให้พิจารณาแล้ว ถ้ารอบแรกไม่ผ่านก็ได้เรียนท่านปลัดกระทรวงคมนาคมไว้ว่าให้ถามเลย จะให้ทำแบบไหนบอกมาเลย อย่าบอกว่าโลกนี้มีอะไรอยู่ในโลกบ้าง เราตอบไม่ได้ ต้องบอกเลยว่าอยากให้ทำแบบไหน ซึ่งเมื่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบการบ้าน 1, 2, 3, 4, 5 เราก็จะทำ 1, 2, 3, 4, 5 และจะเรียนท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่าคงไม่มี 6, 7, 8, 9 เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นถือเป็นเวรกรรมของพี่น้องประชาชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเป็นเวรกรรมของคนทั้งประเทศ เพราะเมื่อขาดทุนก็ต้องเอาภาษีมาอุดหนุน ซึ่งทำได้ง่ายมาก ก็แค่ขอกู้เงินเพื่ออุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) แต่ผมและท่านรัฐมนตรีช่วยฯ ทั้งสอง รวมถึงผู้บริหารกระทรวงคมนาคมต้องการทำให้ครอบคลุมและสมบูรณ์” ศักดิ์สยามกล่าว
ศักดิ์สยามกล่าวต่ออีกว่า ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้พ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม และอยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอศาลล้มละลายกลางนั้น ซึ่งตนไม่ต้องการให้ ขสมก. เป็นไปตามรูปแบบนั้น รวมถึงไม่ต้องการผลักให้ไปเป็นหน่วยงานรูปแบบเอกชน เนื่องจากมีวิธีในรูปแบบอื่น เช่นเดียวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เชื่อว่าจะอยู่รอด หลังจากในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. และศึกษาให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน อย่างไรก็ตาม หวังว่าหาก ขสมก. สามารถดำเนินการฟื้นฟูได้สำเร็จจะเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นในสังกัดกระทรวงคมนาคมด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์