วันนี้ (31 ธันวาคม) พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการตรวจเยี่ยมสนามแข่งขัน และแถลงต่อผู้สื่อข่าวยืนยันถึงความพร้อมของการจัดการแข่งขันแบดมินตัน 3 รายการประวัติศาสตร์ในประเทศไทย โดยมีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค, พ.ญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู, นพ.ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, พล.ต.ต. ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผู้บังคับการจังหวัดนนทบุรี ร่วมตรวจสอบพื้นที่ใช้แข่งขันแบดมินตันเวิลด์ทัวร์ และบริเวณโดยรอบอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เปิดให้สื่อมวลชนร่วมทำข่าว
พิพัฒน์กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมพื้นที่และการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันแบดมินตันระดับโลก 3 รายการ ในระหว่างวันที่ 12-31 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันในรูปแบบสถานที่กักกัน รูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine) หรือโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการจัดการแข่งขันได้ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดจาก ศบค. และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
พิพัฒน์กล่าวอีกว่า พื้นที่ที่เข้าไปตรวจเยี่ยมเป็นสถานที่จัดการแข่งขัน คืออิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และสนามฝึกซ้อม Hall 5 สถานที่พักของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของชาวต่างชาติ โรมแรมโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค สถานที่พักของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของชาวไทย โรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยกำหนดเป็น Bubble Area ผู้ที่เข้าอยู่ในสถานที่กักกันตัว หรือ OQ ต้องอยู่ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 4-31 มกราคม 2564 โดยห้ามออกก่อนกำหนดโดยเด็ดขาด
“กรณีต้องออกจะต้องครบ 14 วัน และไม่สามารถเข้าไปใหม่ได้ และห้ามผู้ที่อยู่ภายนอก Bubble เข้าโดยเด็ดขาดเช่นกัน ภายใต้การกำกับควบคุมของทีมด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากกรมควบคุมโรค และกรมแพทย์ทหารอากาศ ที่จะเข้าไปกำกับตลอดการจัดการแข่งขัน โดยการจัดการแข่งขันแบดมินตันดังกล่าวได้อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด รวมถึง พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ของการแข่งขัน 3 รายการ” พิพัฒน์กล่าว
สำหรับการแข่งขันแบดมินตันทั้ง 3 รายการตลอดเดือนมกราคมปี 2564 จะทำการต้อนรับคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จาก 25 ประเทศ จำนวน 433 คน ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมแข่งขันตั้งแต่นักกีฬา โค้ช ผู้ฝึกสอน ผู้ติดตาม รวมถึงเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนต่างๆอีกประมาน 400 คนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคและแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การรับนักกีฬาจากสนามบินถึงโรงแรมที่พักมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันแรกเมื่อถึงที่พัก และตรวจทุกๆ 3 วัน รวมตรวจ 8 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน
สำหรับแนวปฏิบัติในการเข้าพัก การรับประทานอาหารกล่องในห้องพักในช่วง 14 วันแรก การจัดการขยะ การซักเสื้อผ้า การทำความสะอาดที่พัก/ห้องน้ำ แนวปฏิบัติในการเดินทางจากโรงแรมโนโวเทล โดยใช้รถบัส/รถตู้ แยกประเทศ ไปอาคาร Hall 5 และอิมแพ็ค อารีน่า เพื่อฝึกซ้อมและแข่งขัน การทำความสะอาดอุปกรณ์พื้นผิวสัมผัสต่างๆ อุปกรณ์กีฬา สนามแข่งขัน ฯลฯ
ทุกการเคลื่อนไหวของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จะมีแอปพลิเคชันติดตามตัว และมีกล้องวงจรปิด 460 ตัวครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งภายในบริเวณโรงแรม สนามแข่งขัน สนามฝึกซ้อม ห้องฟิตเนส รวมทั้งจุดที่เป็นประตูเข้าออกต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกำกับควบคุม ไม่ให้มีการเข้าออกโดยเด็ดขาด มีระบบการติดต่อสื่อสารและระบบรายงานระหว่างในและนอก Bubble Area ประจำทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง มีศูนย์ Command Center ที่พร้อมรับสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอุปสรรค ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการแข่งขัน
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบัน พิพัฒน์ได้กล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันในครั้งนี้ มีความมั่นใจในมาตรการและแนวการปฏิบัติ ใน Organizational Quarantine ในครั้งนี้ ว่าจะเป็น Bubble Area ที่สะอาดที่สุด สร้างความเชื่อมั่นให้นักกีฬา และทุกประเทศทั่วโลก ในศักยภาพด้านสาธารณสุขของประเทศไทยที่มีความพร้อมรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ในอีกหลายรายการที่จะเกิดขึ้นในปี 2564
“ที่สำคัญคือวงการกีฬาทั่วโลกให้ความสนใจ และจับตามองความสำเร็จของการจัดการแข่งขันแบดมินตันครั้งนี้เป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศบค. และบุคลากรทางการแพทย์ และขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนชาวไทยได้ติดตามและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด และร่วมส่งแรงเชียร์แรงใจในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และเชียร์นักกีฬาไทยผ่านระบบออนไลน์และโซเชียลมีเดีย” พิพัฒน์กล่าว
ด้าน พ.ญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการของด้านสาธารณสุขของทางกรมควบคุมโรค ดำเนินการในส่วนของการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ ตามหลักการของ ศบค. กำหนด และ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตั้งแต่การเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด จะต้องเข้ารับการกักตัว หรือ Bubble Quarantine เป็นเวลา 14 วัน แต่ก็ยังจะมีการฝึกซ้อมและการแข่งขัน ซึ่งแตกต่างกับ ASQ แต่ทั้งหมดนี้เราจะทำภายใต้หลักการคือ ห้ามสัมผัสกันโดยเด็ดขาด ต้องเว้นระยะห่าง หรือ Social Distancing เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ทั้งคนที่มาจากประเทศเดียวกัน และต่างประเทศด้วย
พ.ญ.วลัยรัตน์ กล่าวอีกว่า นักกีฬาและผู้ฝึกสอน รวมเจ้าหน้าที่ทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงแม่บ้านของอิมแพ็ค เมืองทองธานี แม้กระทั่งสื่อมวลชนที่ประสงค์จะเข้ามาทำข่าวในสนาม ต้องเข้ารับการกักตัว (Bubble Quarantine) ด้วยเช่นกัน ทุกคนจะต้องทำตามกติกาเหมือนกันหมด มีการป้องกันตัวเองตั้งแต่ออกจากห้องพัก จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมทุกครั้งตลอดเวลา สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง พกเจลแอลกอฮอล์ เมื่อไปสัมผัสหรือไปจับต้องสิ่งของต่างๆ รวมไปถึงต้องเว้นระยะห่างตลอดเวลา ในช่วงเวลาการฝึกซ้อมต่างๆ หรือเดินทางไปในที่ต่างๆ และต้องวัดอุณหภูมิทุกครั้งก่อนออกไปสนามซ้อม และทำการแข่งขันต่างๆ ทุกวัน และต้องรายงานจนครบ 14 วัน จากนั้นจึงมีมาตารการในการผ่อนคลายบางส่วน
“เมื่อครบ 14 วันแล้ว ไม่มีใครติดเชื้อแม้แต่คนเดียว จะถือว่าบับเบิลนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและปลอดภัย” พ.ญ.วลัยรัตน์กล่าว
พ.ญ.วลัยรัตน์กล่าวต่ออีกว่า สาเหตุที่ไม่อนุญาตให้แฟนๆ แบดมินตันเข้าชมทั้ง 3 รายการ เพราะเราต้องเซฟบับเบิลในครั้งนี้ไปจนกระทั่งการแข่งขันเสร็จสิ้นในวันที่ 31 มกราคม นักกีฬาที่ตกรอบไปแล้วก็จะต้องอยู่ในบับเบิลอีกจนกว่าจะครบ 14 วัน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาในระหว่างบับเบิล จะต้องเข้ารับการรักษาทันที ถ้าใครเป็นผู้สัมผัสจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะต้องเข้ารับการกักตัวทันทีเช่นกัน แต่จะอนุญาตให้ทำการฝึกซ้อมได้ เนื่องจากจะมีพาร์ทิชันแยกไว้อยู่แล้ว ซ้อมทีละชาติในแต่ละสนามซ้อม จะไม่พบกันเลยในช่วง 14 วันแรก
“ตอนนี้ได้แจ้งไปยังนักกีฬาทุกคนก่อนที่จะเข้ารับการกักตัว จะต้องเซฟตัวเองจากที่บ้านด้วยเช่นกัน ก่อนเข้ารับการบับเบิล 14 วันด้วย เพื่อป้องกันในการติดเชื้อ ส่วนในการตรวจเชื้อนั้นจะต้องเข้ารับการตรวจเชื้อ 8 ครั้ง ในเคสที่ต้องอยู่ในวงเป็นจำนวนมาก ส่วนคนที่อยู่ในที่ไม่คลุกคลีกันมากก็จะตรวจเชื้อ 4 ครั้งเท่านั้น” พ.ญ.วลัยรัตน์กล่าว
ส่วนทางคุณหญิงปัทมาได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทย ทุกหน่วยงานราชการ ทุกหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง สำหรับความแน่วแน่มั่นคงในการส่งเสริมสนับสนุนด้วยดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันกีฬาแบดมินตันระดับโลกถึง 3 รายการติดต่อกันในประเทศไทยครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นจริงได้ในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก อันเป็นผลเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ความมุ่งมั่นของเราคือ การนำนักกีฬาแบดมินตันยอดฝีมือจากทั่วโลกกลับมาสู่สนามแข่งขัน ให้ผู้คนทั้งโลกได้ชมเชียร์ผ่านทางการถ่ายทอดสด มอบความสุขแก่ทุกครัวเรือนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หลังจากการแข่งขันแบดมินตันระดับโลกห่างหายไปในช่วงตลอดปีที่ผ่านมา การที่นักกีฬากลับมาแข่งขันอีกครั้ง จะเป็นต้นแบบการแข่งขันแบดมินตันในยุค New Normal ใช้เป็นโมเดลในการจัดการแข่งขันเก็บคะแนนโอลิมปิกอีก 6 รายการที่เหลือ และทำให้สปอนเซอร์กลับเข้ามาให้การสนับสนุน” คุณหญิงปัทมากล่าว
คุณหญิงปัทมากล่าวอีกว่า การจัดการแข่งขันครั้งนี้ จะเป็นความภาคภูมิใจของคนวงการกีฬา ด้วยเป็นการแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทย และความร่วมมืออันดีจากทุกสมาคมกีฬาแบดมินตันทั่วโลก ในการเผชิญกับความยากลำบากและเอาชนะเหนืออุปสรรคทั้งปวง โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงนี้
สำหรับประเทศไทย ได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันศึกแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ในเดือนมกราคม ปี 2021 นี้ ได้แก่ ศึกโยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม 2564, โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันที่ 19-24 มกราคม 2564 และ HSBC BWF World Tour Finals 2020 ชิงเงินรางวัลรวม 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันที่ 27-31 มกราคม 2564 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์