อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจัดทำโครงการคนละครึ่งเฟส 2 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน หลังจากโครงการในเฟสแรกประสบความสำเร็จและมีประชาชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
สำหรับรายละเอียดของโครงการ เบื้องต้นจะขยายเวลาโครงการจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ออกไปถึงช่วงต้นปี 2564 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่มากขึ้น เพราะพิสูจน์แล้วว่าโครงการดังกล่าวช่วยลดค่าครองชีพและประชาชนได้ประโยชน์
ขณะที่ร้านค้ามียอดขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าขนาดย่อย ร้านอาหารขนาดเล็กที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวะที่การท่องเที่ยวยังอ่อนแอ
“เห็นได้ว่าทุกวันนี้ประชาชนใช้จ่ายเงินประมาณ 51% ขณะที่รัฐจ่ายเงินให้ 49% จะเห็นได้ว่าประชาชนยังคงใช้จ่ายมากกว่าภาครัฐ สะท้อนว่าโครงการนี้ใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์กับประชาชน ส่วนจะมีการขยายสิทธิ์เกิน 10 ล้านคน หรือเพิ่มวงเงินที่รัฐช่วยจ่ายจากปัจจุบัน 3,000 บาทต่อคนหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา” อาคมกล่าว
อาคมยืนยันว่า งบประมาณที่จะใช้ในโครงการคนละครึ่งยังมีเพียงพอ โดยสามารถนำเม็ดเงินจากเม็ดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจของ พ.ร.ก. กู้เงิน มาใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีเม็ดเงินเหลือมากกว่า 2 แสนล้านบาท จากทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้จะต้องจัดทำรายละเอียดและเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ที่มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาต่อไป
ส่วนกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งยังคงเน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการลงทุน ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ รมว.คลัง เป็นประธานคณะกรรมการการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวลงสู่ระบบในไตรมาส 1-2 ของปีงบประมาณ 2564 ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำให้ได้ตามเป้าหมาย โดยให้ดึงโครงการลงทุนขนาดเล็กที่จะต้องใช้ในช่วงสิ้นปีงบประมาณมาใช้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังได้ให้พิจารณาเพิ่มเติมงบการประชุมและสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพิ่มมากขึ้นไปยังเมืองต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย
“ตอนนี้เครื่องยนต์ในประเทศ 4 เครื่องหลัก ยังทำงานไม่เต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นยังคงเน้นการกระตุ้นภายในประเทศอยู่ ทั้งมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผ่านช้อปดีมีคืนและโครงการคนละครึ่ง รวมถึงดูแผนงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผน” อาคมกล่าว
ทั้งนี้ มาตรการในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศที่ออกมาทั้งหมดถือเป็นผลดีที่จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) หดตัวน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ GDP ปีนี้จะติดลบ 7.7% ซึ่งสอดคล้องกับหน่วยงานอื่นที่ได้ประมาณการไว้ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 7.1% เท่านั้น จากเดิมคาดติดลบ 7.7% รวมถึงของ สศช. ด้วย
ส่วนกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่ายืนยันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมองว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องทำงานสอดประสานกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท. อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ค่าเงินเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อาคมกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2564 การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ทั้งหมดนั้น กระทรวงการคลังได้เตรียมความพร้อมโดยวางแผนการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลในกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ไว้แล้ว แม้ขณะนี้จะพยายามให้กรมจัดเก็บภาษีทั้งหมดจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลยังคงต้องใช้เม็ดเงินเพื่อดูแลภาคการเกษตรที่หลายชนิดจากยางพาราและข้าวที่ออกไปก่อนหน้านี้ แต่จะมีการกู้ชดเชยหรือไม่ จะต้องรอดูสถานการณ์การจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ก่อน
“เราวางแผนการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลในกรณีที่รายจ่ายอาจจะสูงกว่ารายได้ไว้แล้ว ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมดูว่ายังต้องใช้เงินในส่วนใดบ้าง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ว่าต้องประกันรายได้ส่วนไหนเพิ่มเติม แต่ยืนยันว่าเงินไม่ช็อตแน่นอน” อาคมกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล