×

คลังชี้แจงกรณีข่าวกู้เงินเพิ่ม 2.14 แสนล้านบาท ฉุดหนี้สาธารณะแตะ 51.64%

โดย THE STANDARD TEAM
21.08.2020
  • LOADING...

กระทรวงการคลังชี้แจงกรณีกระแสข่าวว่า ‘คลังถังแตก เงินคงคลังไม่พอใช้ จนคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติกู้เงินเพิ่มเติมอีก 2.14 แสนล้านบาท’ ขอชี้แจงว่าการขออนุมัติกรอบการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 214,093 ล้านบาท เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงต่างประเทศค่อนข้างมากทั้งด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

 

ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตลอดจนการดำเนินมาตรการด้านการคลังต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการเลื่อนระยะเวลาชำระภาษีได้ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนั้นเพื่อเตรียมการรองรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเพื่อให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องขออนุมัติกรอบการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ วงเงิน 214,093 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณากู้เงินตามความจำเป็นเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ระดับเงินคงคลังของรัฐบาลในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยสถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 282,141 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เงินคงคลังจะอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป 

 

ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่มเติมเต็มกรอบวงเงิน 2.14 แสนล้านบาท จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ระดับ 51.64% ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด

 

กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติแล้วจะเริ่มส่งผลต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และสามารถดูแลประชาชนและประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านช่วงวิกฤตครั้งนี้ไปได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising